คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ขณะนี้สังคมอเมริกันมีประเด็นร้อนๆหลายๆเรื่องราวด้วยกันอาทิเรื่องการสังหาร “นายพลคาเซ็ม สุมานี” และยังมีกรณีที่ “ประธานสภาผู้แทนแนนซี เพโลซี”จะส่งเรื่องเกี่ยวกับคดีถอดถอน “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์”ออกจากตำแหน่งไปยังวุฒิสภาอีกด้วย สำหรับประเด็นที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกปากสั่งให้ปลิดชีพสังหาร“นายพลคาเซ็ม สุมานี”ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps) นั้น แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้วก็ตาม แต่กลับปรากฏว่าประเด็นนี้นักการเมืองและคนอเมริกันยังคงถกเถียงกันอยู่ไม่รู้จบ อีกทั้งคำอธิบายของทั้งประธานาธิบดีทรัมป์และทำเนียบขาวก็ยังสับสนเปลี่ยนไปมา แถมด้วยนักการเมืองบางรายจากค่ายพรรคเดียวกันกับประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์แสดงอาการไม่เห็นด้วยต่อการกระทำครั้งนี้ ก็ยิ่งสร้างความสับสนงงงวยให้กับคนอเมริกันมากยิ่งๆขึ้น!!! ทั้งนี้หลังจากที่นักการเมืองของทั้งสองค่ายพรรค ไปร่วมกันรับฟังคำอธิบายของ “รัฐมนตรีต่างประเทศไมค์ ปอมพิโอ”และ “รัฐมนตรีกลาโหมมาร์ก เอสเพอร์”เสร็จสิ้นลงแล้ว กลับปรากฏว่าพวกเขาต้องเดินออกจากที่ประชุมด้วยอาการเหม่อลอยส่ายหัวดิกๆ เนื่องจากสับสนขาดซึ่งความชัดเจน โดยมีวุฒิสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลสองท่านจากพรรรครีพับลิกันอันได้แก่ “วุฒิสมาชิกไมค์ ลี”จากรัฐยูทาห์ และ “วุฒิสมาชิกรอน พอล”แห่งรัฐเคนทักกี ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออย่างทันท่วงที วุฒิสมาชิกลี ซึ่งเคยให้การสนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแข็งขันมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “การให้คำอธิบายจากปากบรรดาทีมงานของประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งนี้ ถือว่าแย่ที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทุกๆครั้งที่ผ่านมาในอดีต” ส่วนวุฒิสมาชิกรอน พอล ก็ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคำอธิบายครั้งนี้ทำนองเดียวกันว่า “เป็นเรื่องทุเรศที่สุด” การตำหนิของทั้งสองนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลที่มาจากค่ายพรรครีพับลิกันในครั้งนี้ นับว่าหนักมากทีเดียว แต่จะเอาอะไรกับเกมการเมือง เพราะเพียงกี่วันหลังจากที่ถูกล็อบบี้อย่างหนักจากประธานาธิบดีทรัมป์ท่าทีของวุฒิสมาชิกลีจากที่เคยแข็งกร้าวแสดงความไม่พอใจต่อคำอธิบายเรื่องการปลิดชีวิตนายพลสุมานี ได้กลับลำเปลี่ยนท่าทีหันไปเอ่ยปากชื่นชมประธานาธิบดีทรัมป์ว่า “เป็นผู้นำที่แสนจะเก่งกาจ” และยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ผู้ที่พยายามจะออกมาอธิบายส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นประธานาธิบดีทรัมป์ สำหรับ “สเตฟานี เกรส์แฮม” โฆษกประจำทำเนียบขาวคนใหม่สดๆร้อนๆแค่เพียงหกเดือน มักจะหลบหน้าหลบตานักข่าวตลอดมา จนเป็นเหตุให้เธอถูกโจมตีอย่างหนักว่า เธอไม่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยซ้ำไป แต่เพราะเหตุใดจึงได้รับเงินเดือนถึงปีละ 183,000 เหรียญ หรืออาจจะเป็นเพราะว่า “เธอตั้งหน้าตั้งตาจงรักภักดีต่อประธานาธิบดีทรัมป์เป็นที่ตั้ง” อนึ่งจากผลการหยั่งเสียงเมื่อวันที่ 10 มกราคมนี้ โดยหนังสือพิมพ์ ยูเอสเอ ทูเดย์ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในสหรัฐฯ ร่วมกับสำนักหยั่งเสียง Ipsos ที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงได้ออกเปิดเผยว่า คนอเมริกัน 2 ต่อ 1 เชื่อว่าการสังหารนายพลคาเซ็ม สุมานี ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนอเมริกันและประเทศสหรัฐฯเป็นอย่างมาก!!! นอกเหนือจากนั้นผลของการหยั่งเสียงยังชี้ว่า คนอเมริกัน 52% ต่อ 34% คิดว่าประธานาธิบดีทรัมป์ตัดสินใจแบบบ้าบิ่นหุนหันพลันแล่น อีกทั้งโพลยังเสริมอีกว่า คนอเมริกัน 6 ต่อ 1เชื่อว่าอิหร่านจะล้างแค้นสหรัฐฯในตะวันออกกลางอย่างแน่นอน อีกทั้งคนอเมริกัน 52% ต่อ 8% ยังคิดว่า จะเปิดโอกาสให้อิหร่านดำเนินการสร้างอาวุธนิวเคลียร์อย่างไม่มีข้อแม้!!! อนึ่งขณะนี้นักประวัติศาสตร์อเมริกันมักจะหยิบยกนำเอาประธานาธิบดีทรัมป์ ไปโยงใยกับประธานาธิบดีเทดดี รูสเวลท์ ที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสองสมัยตั้งแต่ปี 1901-1909 โดยเปรียบเทียบว่า “ผู้นำทั้งสองมีอุปนิสัยกล้าบ้าบิ่นคล้ายๆกัน” ซึ่งจะเห็นได้จากการบริหารประเทศของประธานาธิบดีเทดดี รูสเวลท์ ทั้งด้านภายในและต่างประเทศ!!! ด้านการต่างประเทศนั้น ประธานาธิบดีเทดดี้ รูสเวลท์เข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของโคลัมเบีย เพื่อต้องการจะสร้างคลองปานามา โดยหนุนหลังให้ชาวปานามาก่อการปฏิวัติแยกตัวออกจากโคลอมเบีย โดยสหรัฐฯเข้าไปรับรองความเป็นเอกราชการของปานามาทันที ทำให้ครั้งนั้นปานามายอมตกลงเปิดเส้นทางให้สหรัฐฯขุดคลองเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าด้วยกัน โดยคลองปานามามีความยาว 77 กิโลเมตร ซึ่งถูกใช้เป็นเส้นทางเดินเรือหลักสำหรับการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งคลองปานามาได้กลายเป็นกุญแจสำคัญในการขนส่งสินค้าไปทั่วโลกแต่ปานามาถูกสหรัฐฯครอบงำตลอดมาและปานามาเพิ่งหลุดจากการครอบงำของสหรัฐฯเมื่อปี 1999 นี้เอง โดยนักประวัติศาสตร์อเมริกันต่างออกมาวิเคราะห์ทำนองที่ว่า “ถึงแม้ประธานาธิบดีเทดดี้ รูสเวลท์ จะเป็นคนกล้าบ้าบิ่นก็ตาม แต่ก็เป็นคนฉลาดหลักแหลม ตรงข้ามกับประธานาธิบดีทรัมป์” สำหรับเรื่องกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรแนนซี เพโลซี ได้ออกมากล่าวถ้อยแถลงว่า “จะส่งเรื่องไปยังวุฒิสภาให้มีการไต่สวน” โดยเธอกล่าวอีกว่า รอจังหวะนี้มาหลายสัปดาห์แล้ว อย่างไรก็ตามการที่จะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้นั้น แสนจะยากเย็นเปรียบเสมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะ “วุฒิสมาชิกมิชท์ แม็คคอนเนลล์”ผู้นำของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาซึ่งเป็นผู้คุมเกมในขบวนการไต่สวนได้ออกมาแถลงแก้ต่างว่า “แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่พรรคเดโมแครตจะสามารถถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่ง” นอกเหนือจากนั้นวุฒิสมาชิก มิชท์ แม็คคอนเนลล์ ยังจับมือประสานงานกับทำเนียบขาวอย่างแข็งขันช่วยกันปกป้องประธานาธิบดีทรัมป์ มิให้กระเด็นหลุดออกจากตำแหน่ง!!! และอย่าลืมว่ากว่าที่วุฒิสภาจะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้นั้น จะต้องมีจำนวนของวุฒิสมาชิกถึง 67 เสียง ที่ยกมือขานรับเห็นพ้องด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากเหนือกว่าพรรคเดโมแครต 53 ต่อ 47 เสียง อย่างไรก็ตามความหวังของพรรคเดโมแครตก็ยังมิได้หมดไป เนื่องจากพวกเขาได้ฝากความหวังไว้ที่ “จอห์น โบลตัน” อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ถูกสั่งปลดออกจากตำแหน่ง โดยเขาได้ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า “ข้าพเจ้าพร้อมที่จะไปให้ปากคำ หากข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากศาล” โดยจะเห็นได้ว่าก่อนหน้านี้จอห์น โบลตัน ไม่เคยให้ความร่วมมือกับพรรคเดโมแครตแต่อย่างใด และในฐานะที่ “หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดจอห์น โรเบิร์ตส์” จะรับหน้าที่ประธานการไต่สวนคดีถอดถอนในวุฒิสภา และหากว่าเขาทำหน้าที่ในการไต่สวนอย่างเอนเอียงมีนอกมีใน ก็ย่อมจะส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้แก่ขบวนการยุติธรรมศาลสูงสุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย!!! กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นหากมีการไต่สวนในเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการถอดถอนเกิดขึ้นในวุฒิสภาเมื่อไหร่ก็ตาม คงจะกลายเป็นเรื่องดราม่าแบบสุดๆของแวดวงการเมืองสหรัฐฯให้กล่าวขานไปอย่างไม่รู้จบ และชตากรรมการเมืองของสหรัฐฯคงจะขึ้นอยู่กับวุฒิสมาชิกแม็คคอนเนลล์และประธานศาลสูงสุดสหรัฐฯละครับ