เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 60 กระทรวงต่างประเทศได้ออกมามาชี้แจงกรณีมีรายงานข่าวว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และองค์การแรงงานระหว่างประเทศออกรายงานระบุว่าประเทศไทยยังมีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลาย โดยกระทรวงฯ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกข้อสังเกตโดยสรุป เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ภายหลังการพิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กติกา ICCPR รวมถึงการนำเสนอรายงานด้วยวาจาของคณะผู้แทนไทย ช่วงวันที่ 13 – 14 มี.ค. ที่นครเจนีวา ซึ่งการให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกลไกปกติทุก ๆ 4 ปี ในข้อสังเกตโดยสรุป คณะกรรมการฯ ได้ชื่นชมพัฒนาการและการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในห้วงที่ผ่านมา สำคัญคือไม่ได้กล่าวถึงจำนวนนักโทษทางการเมืองหรือกรณีผู้ต้องขังหายสาบสูญตามที่ปรากฏในรายงานข่าว นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้ตรากฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิสตรีและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดยการสำรวจโดย Grant Thornton ในปี 2560พบว่า ภาคธุรกิจไทยมีสัดส่วนผู้บริหารสตรีสูงเป็นอันดับสามของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่ ประเด็นบุคคลไร้รัฐ ไทยได้รับการชื่นชมจากองค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ในหลายโอกาส เกี่ยวกับความพยายามลดภาวะการไร้รัฐในประเทศไทย โดยได้ชื่นชมการออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7ธ.ค. 2559 ซึ่งจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนซึ่งประสบภาวะไร้รัฐและไร้สัญชาติประมาณ 8หมื่นคนได้รับประโยชน์ ส่วนสถานการณ์แรงงานนั้น เมื่อวันที่ 24 มี.ค. องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ได้ออกรายงานกรณีรัฐบาลไทยถูกร้องเรียนว่าละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 ซึ่งกระทรวงชี้แจงว่ารายงานดังกล่าวมีเนื้อหาที่ไม่เป็นปัจจุบัน โดย ILO Governing Body ได้ตัดสินใจปิดการสอบสวนการร้องเรียนต่อไทยละเมิดพันธกรณีภายใต้อนุสัญญา ฉบับที่ 29 ซึ่งแสดงถึงการยอมรับผลการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการแก้ไขประเด็นแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำของไทย ตลอดจนความตั้งใจจริงในการปฏิบัติตามอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ของอแอลโอ นอกจากนี้ การปรับระดับประเทศไทย จาก Tier 3 (ระดับต่ำที่สุด) ขึ้นเป็น Tier 2 Watch List (ระดับ 2 ที่ต้องจับตามอง) โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ก็สะท้อนถึงความพยายามอย่างจริงจังและต่อเนื่องของไทยในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ตลอดจนการคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายด้วย