ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ใครหนอลิขิตชีวิตของคนแต่ละคน? บ้างก็ว่าเป็นพระพรหมลิขิต บ้างก็ว่าเป็นเวรกรรมของเราเอง ในชีวิตของคน คนหนึ่ง หากมองย้อนไปในอดีตก็คงจะพบกับคำถามมากมาย อย่างตัวผมนี้เคยถามและหาคำตอบให้กับตัวเองตลอดมาว่า ที่เราเป็นอย่างทุกวันนี้ “เป็นเพราะอะไรหนอ” สมัยเด็กๆ ก็จะเชื่อตามที่ผู้ใหญ่บอก ก็คือ “มันเป็นเรื่องของเวรกรรม” แต่พอโตขึ้นได้เรียนวิทยาศาสตร์ก็ไปพบคำตอบว่า “เป็นเรื่องของพันธุกรรม” แต่พอได้ทำงานก็มองชีวิตคนอื่นๆ เปรียบเทียบกับตัวเองไปด้วย ก็เลยเปลี่ยนไปคิดเป็นว่า “ขึ้นอยู่กับสังคมแวดล้อม” แต่พอชีวิตมาถึงวัยสูงอายุ ก็เริ่มมองลึกมองกว้าง เพื่อหาคำตอบให้แก่คำถามอันเดิม ซึ่งก็ได้คำตอบมาส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่มั่นใจนัก จึงลองเขียนถึงชีวิตเหล่านั้น มานำเสนอให้ผู้อ่านช่วยขบคิด บางทีอาจจะได้คำตอบที่เหมือนกัน ซึ่งผมขอที่จะไม่เฉลยในตอนนี้ ผมเรียก “ความเป็นไปในชีวิต” ของแต่ละคนว่า “ลีลาชีวิต” ลีลาชีวิตที่ผมจะกล่าวถึง ทั้งหมดมาจาก “ชีวิตจริง” ที่ผมได้เห็นมา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือส่วนหนึ่งของชีวิตของผมนั่นเอง แต่เพราะว่าผมได้ใช้ชีวิตจริงของผู้คนที่ผมได้ผ่านพบมาเป็น “ตัวเอก” ข้อเขียนชุดนี้จึงไม่ใช่ “อัตชีวิต” ของผม แต่เป็น “เรื่องราวชีวิต” ของผู้คนคนนั้นมากกว่า ที่ผมพยายามบรรยายออกมาให้ “เหมือนจริง” เพราะผมไม่อาจจะรู้ความจริงในชีวิตของคนนั้นๆ ได้ทั้งหมด ส่วนหนึ่งคือ “ประสบการณ์ชีวิต” ที่ในระยะเวลาหนึ่งผมได้พบกับผู้คนเหล่านั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นการ “ปะติดปะต่อ” ตามความคิดของผม ที่ “รู้สึก” ต่อบุคคลดังกล่าว แต่ทั้งหมดนั้น ผมเขียนด้วย “ความระมัดระวัง” ที่จะไม่ให้กระทบกระเทือนบุคคลนั้นๆ แม้ว่าบางคนก็สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่บางคนก็ยังมีชีวิตอยู่ และบางคนผมก็ไม่ทราบว่าเขาจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือไปอยู่แห่งหนใด เพราะได้พบกับเขาในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งต่อมาก็ “พลัดพรากจากหาย” ออกไปจากชีวิต บางคนผมใช้ชื่อจริง สถานที่จริง และเรื่องราวตามความเป็นจริงทั้งหมด แต่บางคนผมใช้ชื่อสมมุติ รวมถึงสถานที่ที่เป็นที่อื่น พร้อมกับเรื่องราวที่ต้องเสริมแต่งให้เหมาะสม แต่ก็พยายามรักษา “ลีลาชีวิต” เดิมๆ ของผู้คนคนนั้นๆ ไว้เป็นแกนหลัก เพราะสาระสำคัญของข้อเขียนชุดนี้ก็คือ “ทำไมชีวิตเขาจึงเป็นเช่นนั้น” สาระสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านก็คือ “พัฒนาการของบ้านเมือง” อย่างหนึ่งสำหรับคนที่เกิดร่วมยุคสมัยกับผมก็จะได้ “ระลึกถึงอดีต” ที่ส่วนใหญ่ผมคิดว่ามันเป็นความงดงามและหาไม่ได้อีกแล้วในสังคมยุคปัจจุบัน แต่อีกอย่างหนึ่งสำหรับคนในรุ่นต่อๆ มา ที่อาจจะยังไม่ทราบเรื่องราวบางอย่างในอดีต รวมถึงคนที่เติบโตมาในสังคมแบบอื่นที่แตกต่างจากผม ก็จะได้มีการเปรียบเทียบและเชื่อมโยง เป็นการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสริมสร้างการเรียนรู้ที่อาจจะมีประโยชน์สำหรับชีวิตในยุคใหม่ ในยุคสมัยที่ผมเติบโตมา ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง มีอยู่สูงมาก กรุงเทพฯกำลังเติบโต ถนนหนทางเชื่อมโยงไปทุกภูมิภาค ในหน้าแล้งของทุกปีชายหนุ่มหญิงสาวจากภาคอีสานจะเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ เป็นแสนๆ คน ผู้ชายก็จะไปเป็นแรงงานในโรงงานห้างร้าน ส่วนผู้หญิงก็ไปทำงานตามบ้านและตามโรงงาน อาชีพราชการเป็นอาชีพที่คนทั้งหลายปรารถนา การศึกษาขยายตัว เด็กๆ ต้องเรียนอย่างหนัก หอบกระเป๋าใส่หนังสือและอุปกรณ์การเรียนหนักอึ้ง การเมืองเป็นเผด็จการ ทหารปกครองบ้านเมือง มีภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ โรคระบาดต่างๆ เช่น มาลาเรีย และวัณโรค ยังมีความรุนแรง โลกร้อนระอุด้วยสงครามเย็น ภาพยนตร์ ดนตรี และแฟชั่นหลั่งไหลมาจากตะวันตก ลัทธิบริโภคนิยมแพร่ขยายน่ากลัว รถราเริ่มมีจำนวนมาก แต่สาธารณูปโภค ได้แก่ ประปา และไฟฟ้า ยังมีเฉพาะในเขตเมืองหรือตัวอำเภอ วิทยุทรานซิสเตอร์ใส่ถ่านไฟฉายเป็นที่นิยมที่สุด ทุกบ้านเรือนต้องขวนขวายหามาไว้สร้างความสุขความบันเทิง โทรทัศน์เป็นสีขาวดำมีดูเฉพาะบ้านที่มีฐานะ ภาพยนตร์กลางแปลงหรือหนังขายยาเป็นมหรสพประจำเทศกาลของชุมชนต่างๆ ผู้คนยังใส่บาตรทุกเช้า ฯลฯ ชีวิตแม้จะลำบาก แต่ก็ดูเหมือนว่าจะมีความสุขมากกว่าทุกวันนี้ บางคนบอกว่า “ชีวิตออกแบบได้” คือสามารถวางแผนและกำหนดหนทางความเป็นไปในชีวิตนั้นได้ แต่สัจธรรมที่พบก็คือ “ชีวิตไม่ใช่ของเราคนเดียว” ปัญหาของมนุษย์ก็คือ เราจะวางแผนและกำหนดทิศทางชีวิตของทุกคนไปพร้อมๆ กันได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ “ยาก” ดังนั้นชีวิตของเราจึงต้องขึ้นอยู่กับชีวิตของผู้อื่น ชีวิตทั้งหมดนั้นจึงเป็น “กรรมร่วม” คือทุกอย่างที่เป็นไปในชีวิตย่อมเป็นผลมาจากการกระทำของทุกคน ทั้งที่เป็นการกระทำของเรา กับที่เราได้กระทำกับผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นกระทำต่อเรา ไม่เพียงแต่กับผู้คน แต่กับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รายรอบเรานั้นด้วย ทั้งดินฟ้าอากาศ อารยธรรมและวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยี และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทั้งจากในประเทศและทั่วโลก ทุกอย่างเหล่านี้จึงมีมีส่วนในการ “ออกแบบชีวิต” ของเรานั้นมากกว่า เรียกว่า “ธรรมชาติ” นั่นแหละที่ออกแบบชีวิตเรา ตัวอย่างชีวิตใน “ลีลาชีวิต” จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “การออกแบบโดยธรรมชาติ” ดังกล่าว แต่ละคนมีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ความน่าสนใจในชีวิตของผู้คนเหล่านั้นก็คือ “พลังของการออกแบบ” อันมีทั้งที่แต่ละคนนั้นได้พยายามออกแบบด้วยตัวของเขาเอง บางคนก็มีคนอื่นออกแบบให้ แต่ทั้งหมดนั้นไม่อาจจะหลบเลี่ยงการออกแบบจากธรรมชาติรอบด้านไปได้ ชีวิตส่วนใหญ่เป็นการต่อสู้ดิ้นรน แต่บางชีวิตก็ “ล่องลอยไปตามยถากรรม” ทุกคนรู้ว่าจุดหมายปลายทางของทุกชีวิตคือ “ความตาย” แต่ก่อนที่จะไปถึงปลายทางนั้น แต่ละคนจะต้อง “ผ่าน” อะไรบ้าง บางครั้งก็สุข บางครั้งก็ทุกข์ หรือมีทุกข์และสุขร่วมกันไป โดยที่ “ความสุขและความทุกข์” ของแต่ละคนนั้นมีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกัน บางทีอาจจะมีชีวิตบางชีวิตใน “ลีลาชีวิต” เหล่านี้มีชีวิตเหมือนกันกับชีวิตเราก็ได้ ถ้าเรามีความสงสัยในชีวิต บางทีชีวิตเหล่านี้อาจจะให้คำตอบกับเราบ้างก็ได้