“ธรรมนัส” เตรียมเสนอตั้งตลาดรับซื้อน้ำยางสดและโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ใช้กลไกประชารัฐส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ นำร่องที่จ. พะเยาและบุรีรัมย์เพื่อยกระดับราคายางพารา วันที่ 16 ม.ค. ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รับนโยบายจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งหาแนวทางเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศและประสานกระทรวงต่างๆ ดำเนินโครงการใช้ยางพาราในหน่วยงานรัฐเพื่อแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทั้งนี้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้จัดทำตลาดรับซื้อน้ำยางสดที่จ.พะเยา เป็นที่แรกเพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตยางพาราของเกษตรกร จากเดิมชาวสวนยางพาราในภาคเหนือจำหน่ายในรูปแบบยางก้อนถ้วยซึ่งมีราคาถูก อีกทั้งสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมคือ มีกลิ่นเหม็นและมีมลพิษต่อแหล่งน้ำ ดังนั้นหากมีตลาดรับซื้อน้ำยางสดในภาคเหนือจะช่วยให้เกษตรกรขายยางพาราได้ในราคาที่สูงขึ้น เรียกว่า “พะเยาโมเดล” จากนั้นจะขยายโครงการก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่า ทั้งนี้ในภาคเหนือมีเกษตรกรผู้ปลูกยาง 29,929 ราย ใน 15 จังหวัดได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ และเชียงราย รวม 895,396 ไร่ ซึ่งการใช้กลไกประชารัฐมาแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบที่วางไว้ได้แก่ การถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมการผลิตยางพารา กระตุ้นให้มีการประดิษฐ์คิดค้น/ปรับปรุง พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราท้องถิ่น ให้เป็นที่รู้จักแก่ภาคอื่นๆ และพัฒนาช่องทางการตลาด รวมถึงธุรกิจต่อเนื่องเพื่อพัฒนายางพาราทั้งระบบในอนาคต ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสร้างตลาดรับซื้อน้ำยางสดและโรงงานแปรรูปยางพาราที่จ.บุรีรัมย์นำร่อง “ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้มอบหมายเลขาธิการส.ป.ก. แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในพื้นที่ส.ป.ก. ทั่วประเทศด้วย ซึ่งการดำเนินหลายๆ มาตรการไปพร้อมกันตามกลไกประชารัฐจะสามารถแก้ปัญหายางพาราตกต่ำทั้งระบบได้ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นและประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว