. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้โพสต์ข้อมูลของเว็บไซต์สำหรับการติดตามไฟป่าที่ออสเตรเลียด้วยดาวเทียม โดยระบุว่า นับตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 จนถึงวันนี้ ประเทศออสเตรเลียต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่าครั้งที่เลวร้ายที่สุดเป็นระยะเวลานานกว่า 5 เดือนแล้ว ทุกรัฐมีรายงานการเกิดไฟไหม้ หนักที่สุดคือ‎รัฐนิวเซาท์เวลส์ รวมผู้เสียชีวิตทั่วประเทศจำนวน 27 ราย* ปรากฏพื้นที่ถูกเผาไหม้ไปแล้วประมาณ 102,000 ตารางกิโลเมตร* ซึ่งเทียบแล้วมีขนาดมากกว่าพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยเราเสียอีก (พื้นที่ภาคใต้เท่ากับ 70,715 ตารางกิโลเมตร) สภาพอากาศที่ร้อนแล้งเนื่องจากภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง ประกอบกับมีกระแสลมแรง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไฟไหม้ครั้งนี้โหมกระหน่ำรุนแรงและกินระยะเวลายาวนาน พื้นที่ที่เกิดไฟป่าส่วนมากอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกและมีบางส่วนกระจายอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศออสเตรเลีย ส่งผลต่อคุณภาพอากาศสำหรับประชาชนที่อาศัยในเมืองโดยรอบ อีกทั้งสร้างความเสียหายเป็นพื้นที่กว้างเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ไฟป่าที่ป่าอะแมซอนเมื่อช่วงกลางปี พ.ศ. 2562 ที่มีพื้นถูกเผาไหม้ประมาณ 8 พันตารางกิโลเมตร จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ข้อมูลจากดาวเทียมนับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้ทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนอย่างเราๆ เข้าใจถึงสถานการณ์โดยรวมของเหตุการณ์ไฟป่าที่กำลังเกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจุดความร้อน (HOT SPOT) ที่ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับตำแหน่งและการกระจายตัวของไฟป่า และภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ให้ความเข้าใจภาพรวมพื้นที่เสียหาย แนวไฟป่า รวมถึงพื้นที่ที่ไฟกำลังจะลุกลามไปตามกระแสลมซึ่งสังเกตได้จากทิศทางของกลุ่มควันไฟที่ถูกลมพัดและเห็นเด่นชัดบนภาพถ่ายจากดาวเทียม ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานได้เผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อนผ่านเว็บไซต์ที่วิเคราะห์จากดาวเทียม ทั้งเซนเซอร์ MODIS ของดาวเทียม Aquaและดาวเทียม Terra และเซนเซอร์ VIIRS ของดาวเทียม Suomi-NPP ซึ่งทั้งสองมีความแตกต่างกันที่รายละเอียดจุดภาพ (สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความไฟป่าควบคุมได้ด้วยตาดินตาฟ้าและตาอวกาศ >>> http://bit.ly/2RgnQbo ) สำหรับบทความนี้เราจะขอแนะนำ 4 เว็บไซต์ที่เราเองก็สามารถเข้าถึงข้อมูลจุดความร้อนและภาพถ่ายจากดาวเทียมอัพเดทรายวันได้เช่นกัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่สนใจในเรื่องนี้ 1. Fire Information for Resource Management System (FIRMS) พัฒนาโดย NASA สำหรับเผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อนทั่วโลก อัพเดทภายใน 3 ชั่วโมงนับจากดาวเทียมทำการถ่ายภาพ ทั้งเซนเซอร์ MODIS และ VIIRS (https://firms.modaps.eosdis.nasa.gov/map/) 2. Global Wildfire Information System (GWIS) แรกเริ่มพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่าง Group on Earth Observations (GEO) และ Copernicus ภายหลังได้รับการสนับสนุนจาก NASA นอกจากจะเผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อนทั่วโลกเช่นกันแล้ว GWIS ยังวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าล่วงหน้า 1-9 วันบนพื้นฐานจากข้อมูลอุตุนิยมวิทยาได้อีกด้วย (https://gwis.jrc.ec.europa.eu/static/gwis_current_situation/public/index...) 3. NASA Worldview พัฒนาโดย NASA ภายใต้โครงการ Earth Observing System Data and Information System (EOSDIS) จุดเด่นอยู่ที่สามารถแสดงข้อมูลจุดความร้อนซ้อนทับบนภาพถ่ายจากดาวเทียม Terra, Aqua หรือ Suomi-NPP แบบรายวันหรือภาพอัพเดทล่าสุดได้ ยิ่งจะทำให้เราเข้าใจถึงสถานการณ์ของไฟป่ามากยิ่งขึ้นเมื่อปรากฏข้อมูลจุดความร้อนและกลุ่มควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ และนอกจากนั้น เมื่อกดปุ่ม Add Layers ผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลแสดงบนแผนที่อีกมากกว่า 900 รายการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม คุณภาพอากาศ เป็นต้น (https://worldview.earthdata.nasa.gov/) 4. EO-Browser พัฒนาโดย European Space Agency (ESA) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-1, Sentinel-2, Sentinel-3, Sentinel-5P, Landsat 5, 7-8 รวมถึงข้อมูลภาพจากเซนเซอร์ MODIS แม้ว่าเว็บไซต์นี้จะไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อน แต่ก็มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการผสมสีภาพดาวเทียมที่ง่ายต่อการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อผสมสีด้วยฟังก์ชั่น SWIR กับข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-2 จะทำให้เราแยกแยะแนวไฟป่าและพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ได้อย่างชัดเจน (https://apps.sentinel-hub.com/eo-browser/) ดังตัวอย่างภาพประกอบบทความนี้ เป็นภาพถ่ายจากดาวเทียม Sentinel-2 บันทึกภาพเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 บริเวณพื้นที่รอยต่อระหว่างรัฐวิกทอเรียและรัฐนิวเซาท์เวลส์ แสดงให้เห็นถึงกลุ่มควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ปรากฏเป็นกลุ่มควันสีขาวคล้ายเมฆ แต่ต่างกันตรงที่กลุ่มควันไฟจะมีลักษณะฟุ้งและบางกว่า ที่สำคัญคือมีจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนจากบริเวณแนวไฟหรือขอบของพื้นที่ถูกเผาไหม้ ในขณะที่เมฆนั้นมีลักษณะสีขาวเข้มและมีลักษณะหนากว่าอย่างชัดเจน ส่วนแนวไฟป่าที่กำลังลุกโชนในภาพก็ปรากฏเป็นสีส้มลักษณะเป็นแนวตามขอบของพื้นที่ที่ถูกเผาแล้วที่ปรากฏเป็นสีแดงเข้ม ท่ามกลางป่าไม้ที่ยังไม่ถูกรบกวนซึ่งปรากฏเป็นพื้นที่สีเขียวตามภาพ สำหรับประเทศไทย จิสด้าได้อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ทั้งภาครัฐและประชาชนทั่วไป โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลจุดความร้อนจากทั้ง 2 เซนเซอร์และจัดทำเป็นแผนที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://fire.gistda.or.th/ อัพเดททุกวันซึ่งล่าสุดสถานการณ์จุดความร้อนโดยรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 ส่งผลให้สภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพขึ้นทุกวันตามไปด้วย เมื่อถอดบทเรียนจากไฟป่าที่ออสเตรเลีย แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยเรายังไม่รุนแรงเท่า แต่ก็มีปัจจัยความเสี่ยงที่ใกล้เคียงกัน หากทว่าเราต้องไม่ประมาท ติดตามสถานการณ์จุดเกิดไฟไหม้อย่างใกล้ชิด ทำความเข้าใจกับสภาพปัญหา และเข้าควบคุมก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่บานปลาย นี่คงไม่ใช่หน้าที่แค่เพียงเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ทว่าประเทศไทยคือบ้านของเรา เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลบ้านของเรา อ้างอิง *ข้อมูล ณ วันที่ 11 มกราคม 2563 แหล่งที่มา UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs (OCHA)