เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเสวนา "ยุทธศาสตร์นำพาการพัฒนายางพาราทั้งระบบ" ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.น่านว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้มีนโยบายในการรับซื้อน้ำยางพารา ผลักดันการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในการแปรรูปยางพารา ส่งเสริมการผลิตยางและผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจแปรรูปยาง/ไม้ยางพารา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแปรรูปยาง/ไม้ยางพารา พัฒนาเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรฯให้มีความเข้มแข็งและมีรายได้ที่มั่นคง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า พัฒนาระบบตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ ปรับปรุงข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งระบบมีความถูกต้อง ชัดเจนและทันสมัย ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคายางพารา และบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องเกษตรกร ให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งหมด 18,948,272 ไร่ โดยภาคเหนือประกอบด้วย 15 จังหวัด อันได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดน่าน จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดลำพูน จังหวัดลำปาง จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดพะเยา โดยมีพื้นที่ปลูกยางพารา 895,396 ไร่ ในส่วนจังหวัดพะเยานั้น มีพื้นที่ปลูกยางพารา ที่เกษตรกรได้มาขึ้นทะเบียนกับทาง กยท. ประมาณ 65,000 ไร่ ผลผลิตยางพาราส่วนใหญ่ คือยางพาราก้อนถ้วย ซึ่งมีปัญหาค่อนข้างมากในเรื่องของราคา และเรื่องทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการยางแห่งประเทศไทย จ.พะเยา จึงพยายามที่จะให้เกษตรกร จ.พะเยา ปรับเปลี่ยนจากการจำหน่ายยางพาราก้อนถ้วย เป็นยางพาราสดให้มากขึ้น