ไม่ผิดอะไรกับการได้เป็น “ตาอยู่” ที่หยิบชิ้น “ปลามัน” ไปรับประทานอย่างอร่อยเหาะทน “ตาอิน” กับ “ตานา” ที่ต่างฝ่าย ต่างมัวแต่ ช่วงชิงต่อสู้กันอย่างฝุ่นตลบ นั่นคือ สถานการณ์ใน “ลิเบีย” ประเทศที่ภินท์พังจากภัย “สงครามกลางเมือง” ที่ลากยาวมาตั้งแต่ครั้งปรากฏการณ์ “ปฏิวัติดอกมะลิ” เมื่อปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่ง “ปฏิวัติดอกมะลิ” ปรากฏการณ์ในครั้งนั้นก็สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นทั่วทั้งภูมิภาคมีนา (MENA) คือ ตะวันออกกลางคาบเกี่ยวกับแอฟริกาเหนือ (MENA : Middle East – North Africa) โดยที่ “ลิเบีย” ซึ่งเปิดฉากทำสงครามกลางเมืองเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นั้น ทาง “กลุ่มต่อต้าน พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำจอมเผด็จการของลิเบีย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นประการต่างๆ รวมไปจนถึงการปิดล้อมและลงมือปฏิบัติการทางทหารเองเลย จาก “องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ” หรือ “นาโต” อันกอปรด้วย มหาอำนาจตะวันตก คือ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา จนสามารถโค่น “พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี” จอมเผด็จการที่ปกครองลิเบียมานานถึง 42 ปี ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อช่วงเดือนตุลาคมในปีเดียวกันนั้น ภายหลังการโค่นล้ม พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ลงจากอำนาจผู้นำลิเบียในครั้งนั้น หลายฝ่ายก็คาดหมายว่า ลิเบียจะอยู่ใต้เงื้อมของมหาอำนาจตะวันตก พร้อมๆ กับฝ่ายต่อต้าน พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี จะได้ปกครองลิเบียอย่างสะดวกโยธิน ทว่า ปรากฏว่า ได้เกิดความแตกแยกภายในฝ่ายต่อต้าน ที่ในครั้งกระนั้นยังเป็น “สมัชชาใหญ่แห่งชาติลิเบีย” หรือ “สภาแห่งชาติลิเบีย” หรือ “จีเอ็นซี” ก็แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมาเป็น “รัฐบาลข้อตกลงแห่งชาติ” หรือ “จีเอ็นเอ (GNA : Government of National Accord)” ซึ่งมี “นายฟาเยซ อัล-ซาร์ราจ” วัย 59 ปี เป็นผู้นำ และทำหน้าที่เสมือนนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลของลิเบียอยู่กลายๆ ครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางฟากตะวันตกของลิเบีย และได้รับการรับรอง ตลอดจนการสนับสนุนจากสหประชาชาติ หรือยูเอ็น รวมไปถึงมหาอำนาจตะวันตก และหลายชาติในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ เป็นต้น หรือแม้แต่กระทั่งตุรกี ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ก็ประกาศด้วยท่าทีแข็งกร้าวว่า พร้อมที่จะให้ความสนับสนุนแก่จีเอ็นซีฝ่ายนี้ ก่อนที่ในเวลาต่อมา ตุรกีของประธานาธิบดีเออร์โดกัน ได้ส่งกำลังทหาร พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์มาช่วยเหลือต่อทางจีเอ็นเอ ตามที่ได้ประกาศลั่นวาจาไว้ก่อนหน้า ขณะที่ อีกฝ่าย คือ “กองทัพแห่งชาติลิเบีย” หรือ “แอลเอ็นเอ (LNA : Libyan National Army)” ซึ่งมี “นายพลคาลิฟา ฮาฟตาร์” วัย 76 ปี เป็นผู้นำ ครอบครองพื้นที่ทางตะวันออกของลิเบียอยู่ในอิทธิพล ส่วนชาติที่สนับสนุนแอลเอ็นเอนี้ ก็มีทั้งซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี อียิปต์ หรือแม้กระทั่งรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ก็ให้ความสนับสนุนต่อฝ่ายนี้ ภายหลังจากแตกกลุ่มกันออกมา ทั้งสองฝ่าย ก็จับอาวุธเข้าห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด ต่อเนื่องช่วง 9 เดือน ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ลิเบีย ที่แม้จะโค่นล้ม พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี ประสบความสำเร็จไปแล้ว แต่การสู้รบก็ยังดำเนินไปอยู่ สงครามกลางเมืองของลิเบีย ไม่สามารถจบสิ้นยุติไปได้ ท่ามกลางสนับสนุนโดยกลุ่มนานาชาติที่เป็นกองเชียร์ของแต่ละฝ่าย หลังเสียงปืนแตกมานานถึง 9 เดือน ก็ทำให้ชาติผู้สนับสนุนบางประเทศ เริ่มมองเห็นถึงภาวะทางตันจากการสู้รบที่มีขึ้น เพราะขนาดยิงถล่มกันยาวนานขนาดนั้น แต่สถานการณ์ความได้เปรียบ – เสียเปรียบ ของแต่ละฝ่ายยังไปไม่ถึงไหน ว่าแล้ว ทั้ง “รัสเซีย” เจ้าของฉายา “พญาหมี” และ “ตุรกี” ซึ่งมีอีกนิกเนมว่า “ไก่งวง” ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการขยายรุกคืบอิทธิพลในลิเบียกันใหม่จะดีกว่า โดยพลิกเปลี่ยนบทบาท มาทำหน้าที่เป็น “กาวใจ” หรือ “โซ่ข้อกลาง” ในการเจรจาสงบศึก และอาจจะลากเลยไปถึงสันติภาพในลิเบียให้ถึงฝั่งฝันกันก็เป็นได้ ส่งผลให้ถึง ณ วินาทีนี้ ทั้ง “รัสเซีย” และ “ตุรกี” ไม่ผิดอะไรกับการเป็น “ตาอยู่” ไปโดยฉับพลัน จากการที่มีบทบาทและอิทธิพลเพิ่มขึ้นในลิเบีย โดยเบื้องต้น ก็เป็นตัวกลางในการเจรจา “หยุดยิง” เป็นปฐมกันเสียก่อน ระหว่าง กลุ่มจีนเอ็นเอ กับกลุ่มแอลเอ็นเอ และก็ปรากฏว่า ทั้งรัสเซีย และตุรกี มีมนต์ขลังไม่บันเบา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รัสเซีย” พญาหมี ยุคประธานาธิบดีปูติน ที่ทั้งกดดัน และผลักดัน ในชั้นเชิงทางการทูตเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จนทำให้ทั้งสองฝ่าย “หยุดยิง” มีผลจริงเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ต่อจากนั้นตัวแทนระดับสูงของฝ่ายจีเอ็นเอ และแอลเอ็นเอ ก็จะได้เดินทางไปยังกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เพื่อร่วมกันลงนามในข้อตกลงหยุดยิงอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ โดยมีทางการรัสเซีย เป็นตัวกลาง และเจ้าภาพจัดการลงนาม โดยมีรายงานออกมาว่า รัสเซียหมายมั่นปั้นมือที่ทำให้ทั้งนายฟาเยซ อัล-ซาร์ราจ ผู้นำของจีเอ็นเอ และนายพลคาลิฟา ฮาฟตาร์ ผู้นำของแอลเอ็นเอ ได้พบปะกันโดยตรงอีกต่างหากด้วย ซึ่งถ้าหากทางการมอสโกทำตามที่มุ่งหมายได้ ก็จะยิ่งทำให้รัสเซีย ทวีอิทธิพลบนแดนดินถิ่นลิเบียแห่งนึ่ง ซึ่งได้ชื่อว่า อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมันดิบใต้ปฐพีปริมาณมหาศาลอีกแห่งหนึ่งของโลก อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่หลายชาติถวิลหาครอบครอง