กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าบริหารจัดการน้ำและผลักดันค่าความเค็ม จากระดับน้ำทะเลหนุนสูงช่วง 13-15 ม.ค. 62 เพื่อลดผลกระทบต่อการผลิตประปา กล้วยไม้ และพืชผลทางการเกษตร เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน (14 ม.ค.63) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,789 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 43 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 4,093 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน ด้านค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังกรมชลประทานได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อผลักดันค่าความเค็มที่รุกตัวในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเกิดน้ำทะเลหนุนช่วงวันที่ 13-15 ม.ค. 63 ทำให้สถานการณ์ค่าความเค็มยังคงทรงตัวและอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ วันนี้ (14 ม.ค. 62) แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีประปาสำแล เวลา 08.00 น. วัดได้ 0.19 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีปากคลองจินดา เวลา 08.00 น. วัดได้ 0.27 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) ส่วนแม่น้ำปราจีน-บางปะกง ที่สถานีปราจีนบุรี เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.07 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) และ แม่น้ำแม่กลอง ที่สถานีปากคลองดำเนินสะดวก เวลา 07.00 น. วัดได้ 0.25 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวังสำหรับกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร) กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำและการผลักดันค่าความเค็มที่รุกตัวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำ ทั้งนี้ ต้องขอย้ำว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด จำเป็นต้องมีการจัดสรรให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลักอย่างไม่ขาดแคลน พร้อมกันนี้ต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำตามแผนที่วางไว้ และใช้น้ำอย่างประหยัดคุ้มค่าให้มากที่สุด