ยกให้เป็นประเทศที่โลกจับตามากที่สุด ณ ชั่วโมงนี้ ไปโดยปริยาย สำหรับ “อิหร่าน” ชาติพี่เบิ้มในฟากชีอะฮ์ของภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งปรากฏว่า ณ เวลานี้กำลังร้อนแรงดุเดือดเลือดพล่านอย่างเหลือหลาย ท่ามกลางการจับตาจ้องมองของประชาคมโลกที่จะเป็นไปอย่างไรนับจากนี้ หลังจากที่ก่อนหน้าได้ปฏิเสธเสียงแข็ง แต่พลิกลิ้นแบบ 180 องศา ออกมายอมรับในภายหลังว่า กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (ไออาร์จีซี) หรือกองทัพของอิหร่านเอง ที่เป็นฝ่ายผิดพลาด ไปยิงขีปนาวุธเข้าใส่เครื่องบินโดยสารของสายการบินยูเครนอินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์ส จนบังเกิดเป็นโศกนาฏกรรมทางการบินขึ้น เพราะทั้งผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบิน เสียชีวิตกันแบบเหมาลำ 176 ศพ ว่ากันในส่วนภายในประเทศอิหร่าน ก็ต้องบอกว่า พลิกผันอลหม่านกันไม่บันเบา ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แถมยังเป็นการพลิกผันกันแบบชั่วข้ามคืน คือ เพียงช่วงระยะเวลาไม่นานอีกต่างหากด้วย เริ่มจากปรากฏการณ์ชุมนุมประท้วง ม็อบเขย่าเมือง สะท้านแดนเปอร์เชีย ในช่วงปลายปีที่แล้ว เมื่อปรากฏว่า ประชาชนชาวอิหร่าน ชุมนุมประท้วงรัฐบาลเตหะราน และอะยาตุลเลาะฮ์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ภายหลังจากไม่พอใจต่อการปกครองบริหารประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ที่ภาวะเงินเฟ้อ เล่นงานพ่นพิษต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน โดยราคาสินค้าได้ทะยานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสินค้าบางรายการพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งสินค้าพลังงาน คือ น้ำมัน ที่อิหร่าน มีจำนวนมหาศาล จนเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกชั้นนำของกลุ่มประเทศโอเปก ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ แต่ปรากฏว่า ราคาน้ำมันที่ใช้ภายในประเทศก็ทะยานพุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 ไปจนถึงร้อยละ 200 หรือ 200 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ปรากฏการณ์ม็อบข้างต้น ได้เริ่มก่อหวอดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 15 พ.ย. ณ กรุงเตหะราน เมืองหลวงของประเทศ ก่อนจำนวนผู้ชุมนุมขยายตัวเพิ่มขึ้น จนมีม็อบประท้วงตามท้องถนนในเมืองต่างๆ รวมแล้ว21 เมืองด้วยกัน ตลอดการชุมนุมประท้วงถึงช่วงสิ้นปี 2562 ที่ผ่านมา พร้อมๆ กันนั้นในระหว่างนี้ ก็มีการปะทะกันอยู่เนืองๆ ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน โดยมีรายงานว่า ตัวเลขที่ยืนยันได้ของผู้เสียชีวิตจากปรากฏการณ์ม็อบดังกล่าวมากกว่า 1,500 คน บาดเจ็บอีกว่า 4,800 คน และมีผู้ถูกตำรวจจับกุมตัวไปอีกกว่า 7,000 คน ส่วนทรัพย์สินและอาคารสถานที่ ปรากฏว่า เสียหายอย่างน่าสะพรึงหลายรายการด้วยกัน ได้แก่ ธนาคารของรัฐถูกม็อบบุกเข้าไปทำลายถึง 731 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้ ก็มีธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติ อิหร่าน รวมอยู่ด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งค่ายทหาร ฐานทัพ ปรากฏว่า ค่ายทหารกรมกองต่างๆ ของ “กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม”หรือ “ไออาร์จีซี” ถูกกลุ่มม็อบโจมตีไปถึง 50 แห่ง เรียกว่า “ม็อบไม่กลัวทหาร” กันเลย โดยปรากฏการณ์ม็อบดังกล่าว มีขึ้นท่ามกลางเสียงก่นประณามจากรัฐบาลเตหะราน ทางการอิหร่านว่า บรรดาชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหรัฐอเมริกา” ที่กำลังมีปัญหาขัดแย้งจากกรณีฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมานั้น อยู่เบื้องหลังการจุดไฟม็อบข้างต้น อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ไฟม็อบที่กำลังลุกโชนเผาไหม้ทางการอิหร่านอยู่นั้น ก็มีอันเปลี่ยนต้องเปลี่ยนทิศ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ภายใต้คำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดยุทธการเวหา ปฏิบัติการโจมตีทาง อากาศ ขบวนรถของ พล.ต.คัสเซ็ม โซไลมานี ผบ.หน่วยคุดส์ หรือหน่วยรบพิเศษแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิลามอิหร่าน ขณะเดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก จน ผบ.หน่วยรบพิเศษคนดัง พร้อมนายทหารระดับสูงคนอื่นๆ ของอิหร่าน ถูกปลิดชีพไปหลายนาย เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ม.ค. 63ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็สร้างความเกรี้ยวกราดโกรธาทั้งต่อบรรดาผู้นำของเตหะราน ตลอดจนประชาชนชาวอิหร่าน ส่งผลให้บังเกิดม็อบประท้วงต่อสหรัฐฯ แบบกระเหี้ยนกระหือรือที่ถึงจะบุกข้ามน้ำ ข้ามทะเล มาถล่มทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รวมถึงระดมลงขันตั้งค่าหัวประธานาธิบดีทรัมป์เพื่อไล่ล่ากันอีกต่างหาก เรียกว่า เหตุปัจจัยของสถานการณ์ดังกล่าว ก็ทำท่าว่าจะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกลมเกลียวให้ประชาชนคนในชาติอิหร่านกันอีกคำรบ ทว่า ความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนชาวอิหร่าน ก็ส่งสัญญาณว่า จะแหลกสลายลง พร้อมกับเตรียมส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ตลอดจนคณะผู้ปกครองสูงสุด ชนิดพลิกหักมุมกลับกันอีกคำรบ เมื่อเหตุปัจจัยจากกรณีเครื่องบินโดยสารของสายการบินยูเครนอินเตอร์เนชันแนลแอร์ไลน์ส ที่ตกอย่างปริศนา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งลำ จำนวน 176 คน ในจำนวนเป็นชาวอิหร่านถึง 82 คน ก่อนถูกไขออกมาแบบมิอาจทนกับแรงกดดันจากนานาชาติได้ โดยทางการของเตหะรานเอง เมื่อกองทัพไออาร์จีซีของอิหร่าน ออกมายอมรับว่า ยิงขีปนาวุธเพราะคิดว่าเป็นเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่จะมาโจมตีตอบโต้เอาคืนจากเหตุการณ์ยิงขีปนาวุธถล่มค่ายทหารสหรัฐฯ ในอิรัก โดยม็อบได้ถูกจุดด้วยชนวนที่ว่า รัฐบาลเตหะราน โกหก ปิดบังความจริง จากการยิงขีปนาวุธใส่เครื่องบินโดยสารข้างต้น นอกจากตำหนิประณามต่อรัฐเตหะรานแล้ว ก็ยังมีกระแสเรียกร้องให้ “อะยาตุลเลาะฮ์ อาลี คาเมเนอี” ลงจากเก้าอี้ “ผู้นำสูงสุด” ของอิหร่านอีกต่างหากด้วย ทั้งนี้ เหตุชุมนุมประท้วงจุดชนวนไฟม็อบครั้งใหม่นี้ ก็มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาด้านอาชีวะ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชื่อดัง 2 แห่ง ในกรุงเตหะราน คือ ชารีฟ และอามีร์คาบีร์ เป็นสถานชุมนุมใหญ่ และพร้อมเผชิญหน้ากับทางอิหร่าน ด้วยอาวุธที่พร้อมประจัญบานกับตำรวจควบคุมฝูงชน จากสถาบันการศึกษาเหล่านี้ โดยมีเสียงกระเส็นกระสายมาว่า มหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แบบสลายความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนชาวอิหร่าน แล้วมาเป็นปรปักษ์ต่อทางการเตหะราน กันพลิกฝ่ามือเพียงชั่วข้ามคืน โดยสะท้อนออกมาจากทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ และจากกรณีที่นายร็อบ แม็คแคร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอิหร่าน เดินทางไปกระทบไหล่ม็อบ ถึงสถานชุมนุมประท้วงจนถูกตำรวจอิหร่านจับกุม จนสร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลที่ลอนดอนไม่น้อยเหมือนกัน