นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ความคืบหน้านโยบายการขยายอัตราความเร็วบนถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ว่า ล่าสุดเตรียมประชุมคณะทำงาน เพื่อพิจารณานโยบายดังกล่าวภายในเดือนนี้ ซึ่งคณะทำงานจะมีการพิจารณาบังคับให้ผู้ที่ขับรถในอัตราความเร็วไม่ถึง 90 กม./ชม. ห้ามใช้ช่องจราจรทางด้านขวาสุดเส้นทางที่มี 4 ช่องจราจรขึ้นไป ที่กำหนดให้ใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม.ทั่วประเทศ โดยจะต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายจราจร และกฎหมายทางหลวง ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 จากนั้นจะออกประกาศกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ.จราจร และมีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้การกำหนดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.นั้น ปัจจุบันจากการสำรวจสามารถดำเนินการได้ ระยะทางรวม 252 กม. ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข (ทล.) 32 ดำเนินการระยะแรก 45.9 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 100 กม., ทล.1 ดำเนินการระยะแรก 17.5 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 37 กม., ทล.2 ดำเนินการระยะแรก 6 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 19 กม., ทล.4 ดำเนินการระยะแรก 9.5 กม. และดำเนินการในระยะถัดไป 18 กม. และอยู่ระหว่างการสำรวจเพิ่มเติม "บทลงโทษกรณีหากผู้ที่ขับรถในช่องจราจรขวาสุด ด้วยความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม.นั้น จะใช้บทลงโทษเดียวกันกับผู้ที่ขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการตัดคะแนนใบขับขี่ด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการออกประกาศฯ ดังกล่าวเน้นย้ำเรื่องของความปลอดภัยเป็นหลักและเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การกำหนดช่วงความเร็วแต่ละช่องจราจรเป็นช่วงสูงสุดต่ำสุดจะช่วยทำให้เกิดความแตกต่างของความเร็วแต่ละช่องทางน้อยลง ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุชนท้ายจากความเร็วที่แตกต่าง และการเปลี่ยนช่องจราจร ซึ่งเป็นสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุที่สูงเป็นลำดับที่ 2 ประมาณ 30% หรือปีละประมาณ 5,000 ครั้ง จากทุกลักษณะ โดยลำดับที่ 1 คือ การเสียหลักตกข้างทางหรือเฉลี่ย 45%