วิกฤตแล้งโคราชขยายวงลุกลาม อ.ปักธงชัย แล้งสุดในรอบ 30 ปี รมต.เทวัญ ลงพื้นที่ช่วยเหลือเร่งจัดสรรงบกลาง 3 พันล้านบาท บรรเทาภัยแล้ง เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มกราคม นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อม นายธงชัย ลืออดุลย์ เลขานุการรัฐมนตรี นายจิรายุ นันท์ธราธร ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขต 13 นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส เขต 2 จ.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) นายอภิชา เลิศพชรกมล ส.ส.เขต 9 จ.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่บ้านหนองเสาเดี่ยวใหม่พัฒนา หมู่ 10 ต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย และ บ้านหนองใหญ่ หมู่ 10 ต.ลำนางแก้ว อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยมีนางปิยะฉัตร อินสว่าง รอง ผวจ.นครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์ นายเทวัญ ฯ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รับรายงานสถานการณ์ภัยแล้งพื้นที่ อ.โชคชัย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 10 ตำบล ได้ประกาศภัยพิบัติแล้ง 2 ตำบล คือ ต.พลับพลา และ ต.ท่าอ่าง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ปริมาณน้ำดิบในสระน้ำที่ใช้ผลิตประปาหมู่บ้านแห้งขอดและบางพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)เข้าไม่ถึง ชาวบ้านจึงต้องใช้น้ำจากบ่อบาดาล แต่เป็นบ่อขนาดเล็ก ปริมาณน้ำจึงไม่เพียงพอ ส่วน อ.ปักธงชัย ถือเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ภาพรวมมีจำนวน 16 ตำบล อ.ปักธงชัย ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยมาตั้งแต่ปลายปีมี่ผ่านมา รวม 16 ตำบล 180 หมู่บ้าน ซึ่งมีจำนวน 10 หมู่บ้าน ในพื้นที่ ต.ธงชัยเหนือ ต.ตะขบ ต.โคกไทย ต.เกษมทรัพย์ และ ต.ตะขบ ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด การบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าได้ระดมเจาะบ่อบาดาล แต่ประสบอุปสรรคปริมาณน้ำใต้ดินมีค่อนข้างน้อยและต้องขุดลึกกว่า 100 เมตร จึงเจอน้ำดิบ เมื่อนำขึ้นมาใช้วันหนึ่งก็ต้องหยุดรอให้มีน้ำมาเพิ่มจึงจะสามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้ ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำของกองบิน 1 กองทัพภาคที่ 2 ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 นครราชสีมา ออกแจกจ่ายน้ำทุกวันรวมทั้งรณรงค์งดทำข้าวนาปรังและใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ปรับปรุงวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำใต้ดิน การจัดหาถังน้ำกลางและการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ อย่างไรก็ตามตนได้รับมอบหมายจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมให้การช่วยเหลือหลายด้าน เช่นจัดหารถแรงดันน้ำ ขุดบ่อบาดาลเพิ่มและอนุมัติงบประมาณกลางจำนวน 3,000 ล้านบาท และมอบหมายให้ สทนช. ดำเนินการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนต่อไป ส่วนงบประมาณปกติของรัฐบาล 3.2 ล้านล้าน ที่เพิ่งผ่านสภา จะสามารถนำใช้ได้เดือนมีนาคมนี้และอาจมีสนับสนุนช่วยเหลือ แก้ปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งเพิ่มเติม