กสม. ส่งมอบหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาและคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษา สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้รัฐบาลนำไปพัฒนาสานต่อมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชน นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในงานสัมมนาวิชากาเรื่อง “การเผยแพร่และการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษา (Human Rights Education) ในสังคมไทย” จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลเป็นหลักการสำคัญของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2491 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา หลักการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้รับการบรรจุไว้ในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ รวมทั้งยังได้ขยายหลักการดังกล่าวไปสู่แนวทางปฏิบัติมากขึ้น เช่น ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนศึกษาและการฝึกอบรม ปฏิญญาอินชอนว่าด้วยการศึกษา นายวัส กล่าวว่า เมื่อปี 2547 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติยังได้ประกาศเจตนารมณ์การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนศึกษาผ่านโครงการโลกด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินการส่งเสริมความรู้สิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง 3 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 มุ่งเน้นส่งเสริมความรู้สิทธิมนุษยชนพื้นฐานให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้นในโรงเรียน ระยะที่ 2 ขยายผลการส่งเสริมความรู้สิทธิมนุษยชนไปสู่ระดับอุดมศึกษา บุคลากรของสถาบันการศึกษา และเจ้าหน้าที่ผู้ใช้บังคับกฎหมาย และ ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะปัจจุบัน มุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังในกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ตลอดจนขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งนี้ กสม.ชุดปัจจุบันได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนเพื่อพัฒนางานส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักสูตรการเรียน การสอน และการฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชนและการเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาเพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนแก่ทุกภาคส่วนของสังคม โดยในระหว่างปี 2560-2562 คณะทำงานดังกล่าวได้ดำเนินการอย่างมีส่วนร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานด้านการฝึกอบรม หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา ผู้แทนสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ดังนี้ 1.การจัดทำหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ประกอบด้วย 1.1 หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาพื้นฐาน สำหรับฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐ นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป 1.2 หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาในกระบวนการยุติธรรม สำหรับผู้พิพากษา พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง 1.3หลักสูตรธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อให้เห็นประโยชน์ ตระหนักถึงความสำคัญ และเป็นต้นแบบในการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และ 1.4 หลักสูตรสิทธิมนุษยชนสำหรับนักบริหารระดับสูง (Human Rights Executive Program) เพื่อให้นักบริหารระดับสูงนำความรู้ไปขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ ตลอดจนสร้างแนวปฏิบัติให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนแก่บุคคลในองค์กร และผู้มีส่วนได้เสียในสังคม 2. การจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อมุ่งหวังให้ครูผู้สอนในโรงเรียนทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านสิทธิมนุษยชน โดยยึดโยงกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม รวมทั้งสิ้น 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย รวมถึงการปลูกฝังเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแทรกไปในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 นายวัส กล่าวอีกว่า เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสร้างแนวทางอย่างเป็นระบบในการสร้างเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาในทุกภาคส่วนของสังคม กสม. จึงจัดการสัมมนาวิชาการในวันนี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และส่งมอบหลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายและคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างแนวทางอย่างเป็นระบบในการสร้างเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วน โดยคำนึงถึงการผนึกกำลังอย่างมีส่วนร่วม อีกทั้งยังเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา การฝึกอบรมที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและบริบทของแต่ละภาคส่วน อันจะนำไปสู่การเคารพสิทธิมนุษยชนและตระหนักในสิทธิของผู้อื่น และฝังรากกลายเป็นวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนที่จะทำให้เกิดสันติสุขในสังคมไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งยังเป็นการหนุนเสริมความสำคัญของการศึกษาสิทธิมนุษยชนในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป้าหมายย่อย ที่ 4.7 อันเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ด้าน ตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นวาระการพัฒนาโลกที่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ให้คำมั่นร่วมกันในการไปสู่เป้าหมายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)”