"สส.พปชร"ร่วมมือรบ.ลุยแก้ภัยแล้งทุกมิติ ตอบรับมาตรการเชิงรุกตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจฯ พร้อมเร่งทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน "มาดามเดียร์"ชงมาตรการระยะสั้น-ยาวถึงเวลาแก้น้ำท่วม-แล้งอย่างยั่งยืน ชี้เป็นนักการเมืองต้องดูแล-บรรเทาความเดือดร้อนของปชช. เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่พรรคพลังประชารัฐ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ว่า ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งทั้งด้านอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตร โดยประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว และพร้อมทำงานคู่ขนานรวมถึงให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในทุกมิติ ขณะเดียวกันในส่วนของรัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ก็มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนและดำเนินการแก้ปัญหาในทุกมิติ ตามแผนระยะสั้นและระยะยาว มีการบูรณาการการทำงานของทุกกระทรวงเข้าด้วยกัน และล่าสุดมีการตั้งศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำซึ่งกําหนดให้มีกองอํานวยการน้ําแห่งชาติ เป็นองค์กรภายใต้ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจฯ มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการ และได้สั่งการให้เร่งหาแนวทางบรรเทาและควบคุมสถานการไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยต้องผนึกกําลังทุกหน่วยงาน บูรณาการทํางานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ลดความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและทันเวลา น.ส.วทันยา กล่าวต่อวาา สำหรับมาตรการระยะสั้นนั้น รัฐบาลเน้นไปที่การบรรเทาความเดือดร้อนในพื้นที่ประสบภัย โดยประชาชนต้องมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเร่งด่วน มีการสั่งการให้ขุดบ่อบาดาลทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 บ่อ เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ 8.ม.ค.ที่ผ่านมา ควบคุมการปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการลำเลียงน้ำ รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ซ่อมแซมระบบประปา เป็นต้น ส่วนแผนระยะยาว จะเดินตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) เพื่อวางแผนการใช้น้ำอย่างมั่งคง ยั่งยืน แก้น้ำแล้ง - น้ำท่วมซ้ำซาก โดยมีกรอบใหญ่ ๆ 6 ด้าน คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6.การบริหารจัดการ ซึ่งทั้ง 6 กรอบจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินไปตามแผนเดียวกันทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างยั่งยืน น.ส.วทันยา ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำเค็มว่า ได้มีการปรับแผนลำเลียงน้ำจากฝั่งตะวันตก ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำฯ มากกว่าระบายผ่านแม่น้ำแม่กลองมาช่วยเหลือในพื้นที่ของแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกันของ การประปานครหลวง(กปน.) กรมชลประทาน(ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งนอกจากจะช่วยในการรักษาคุณภาพน้ำในการผลิตน้ำประปาแล้ว ยังช่วยผลักดันน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย “ในฐานะที่เป็นนักการเมืองต้องมีหน้าที่ในการดูแลปัญหาของประชาชน จะนำปัญหาของประชาชนมาสะท้อนให้รัฐบาลในรับทราบ ขณะเดียวกันในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาลจะรายงานสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการให้ประชาชนได้รับทราบเช่นกัน”น.ส.วทันยา กล่าว