หากเอ่ยถึง “กรีนแลนด์” แม้ได้ชื่อว่า เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ที่ผ่านมามหาเกาะมหึมาแห่งนี้ ก็หาได้มีใครสนใจมากนัก กระทั่ง มาได้ยินเสียงเอื้อนเอ่ย “ขอซื้อ” มหาเกาะดังกล่าว จาก “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกา” เมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เป็นเหตุให้เกาะมหึมาบนมหาสมุทรอาร์กติกของขั้วโลกเหนือแห่งนี้ กลายเป็นศูนย์กลางความสนใจของประชาคมโลกขึ้นมา โดยความสนใจของประชาชาวโลกที่มีขึ้นครั้งนั้น บรรดานักวิเคราะห์หลายคน ก็บอกว่า ไม่ผิดอะไรกับการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ทั้งนี้ เพราะนอกจากได้เห็นการโต้ตอบกันไปมาในทาง “การเมืองระหว่างประเทศ” ระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ” กับ “นางเมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเดนมาร์ก” ในฐานะผู้นำประเทศผู้คุ้มครองดูแล “เกาะกรีนแลนด์” จนบังเกิดวาทกรรมฮิตติดหูของผู้คนทั่วโลกว่า “กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย” ก่อนลุกลามบานปลายออกไปจนนำไปสู่การเลื่อนกำหนดการเดินทางเยือนกรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาไปอย่างไม่มีกำหนด แม้ว่ากำหนดการเดินทางเยือนครั้งกระนั้น จะเป็นการเยือนอย่างทางการในฐานะประมุขรัฐ และประธานาธิบดีทรัมป์ จะได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเทอ ที่ 2 ของเดนมาร์กด้วยก็ตาม โดยในระหว่างการติดตามความคืบหน้าข่าวที่ต่างฝ่ายต่างแสดงวาทกรรมโต้ตอบกันไปมา ก็ได้เห็น “สภาพแวดล้อม” ของมหาเกาะแห่งมหาสมุทรอาร์กติกบนขั้วโลกเหนือแห่งนี้ไปในตัวเสร็จสรรพ “สภาพแวดล้อม” ที่ปรากฏว่า เป็นปรากฎการณ์ละลายของหิมะ และภูมิประเทศที่เป็นน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์ เช่น “ภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg)” เป็นต้น โดยเฉพาะการละลายของภูเขาน้ำแข็ง ที่ต้องบอกว่า มิใช่หลอมละลายธรรมดาๆ แบบค่อยๆ ละลายตัว แต่ถึงขั้นก้อนน้ำแข็งของภูเขาขนาดใหญ่ แตกหักทะลายลงสู่มหาสมุทรฯ กันเลยทีเดียว ก็สร้างความสะพรึงให้แก่บรรดานักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกกับภาพที่ปรากฏ เพราะการภินท์พังลงของส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็ง ตลอดจนการลอมละลายของหิมะข้างต้น ก็มาจากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน นั่นเอง ที่พ่นพิษทำให้เกิดการละลายของหิมะ และภูมิประเทศที่เป็นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ ทั้งนี้ จากภาพที่สะเก็ดภูเขาน้ำแข็งทะลายลงมหาสมุทร ก็ทำให้เป็นที่วิตกกังวลต่อบรรดานักสิ่งแวดล้อม ในประเด็นเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทรให้สูงขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับมหาสมุทรอื่นๆ ให้พลอยมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน จนน่าเป็นห่วงต่อบรรดาเมืองชายฝั่ง หรือใกล้ชายฝั่ง ของน่านน้ำท้องทะเลทั้งหลาย ว่าจะส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “เมืองจมน้ำ” ตามมาขึ้นได้ในอนาคต ไม่นับเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดภาพอันสุดสะพรึงกันเยี่ยงนั้น นั่นคือ “ภาวะโลกร้อน” ที่บรรดานักสิ่งแวดล้อมแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ที่หลายคนเอ่ยบอกว่า กำลังเป็นวิกฤติหนึ่งที่พ่นพิษต่อหิมะ น้ำแข็ง บนมหาเกาะมหึมาข้างต้นนั้น นอกจากนี้ เหล่านักสิ่งแวดล้อมแล้วที่กำลังเป็นห่วง ไม่เว้นแม้กระทั่งบรรดานักการเมืองของเกาะกรีนแลนด์ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวของประชากรบนเกาะ ซึ่งมีจำนวนกว่า 56,000 คน ก็ได้ออกมาประสานเสียงแสดงความกังวลต่อสถานการณ์วิกฤติภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามเกาะกรีนแลนด์ จนเป็นเหตุให้ทั้งหิมะและน้ำแข็งบนมหาเกาะแห่งนี้ กำลังหลอมละลายด้วย อย่าง “นางอาจา เชมนิตซ์ ลาร์เซน” ซึ่งดำรงตำแหน่ง ส.ส. หรือสมาชิกรัฐสภของเดนมาร์กที่มาจากเกาะกรีนแลนด์ ก็ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง สะกิดเตือนทางการเดนมาร์ก ในฐานะผู้คุ้มครองดูแลเขตปกครองตนเองเกาะกรีนแลนด์ ให้รอบด้าน ที่นอกเหนืออิทธิพลจากนานาชาติที่พยายามเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ของมหาเกาะมหึมาที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่โลกต้องการ อย่าง แร่ธาตุหายาก เป็นต้นแล้ว ก็ยังเรียกร้องให้ทางการแดนโคนม จับมือกับกรีนแลนด์ ดูแลสิ่งแวดล้อมบนเกาะกรีนแลนด์ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ มิใช่ปล่อยปละละเลยจนเป็นเกาะที่เวิ้งว้างว่างเปล่า แถมยังถูกวิกฤติสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำลายลงไปทุกวันๆ อย่างที่เห็น เช่นเดียวกับ นายอุฟเฟอ ปัลลุดาน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของเดนมาร์ก ก็ยังออกมาเรียกร้องสะกิดเพรียกเตือนต่อภาคส่วนต่างๆ ทั้งในกรีนแลนด์ และเดนมาร์ก รวมถึงนานาประเทศให้ตระหนักถึงพิษภัยของวิกฤติสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่กำลังเล่นงานมหาเกาะมหึมาแห่งนี้ว่า น่าเป็นห่วงเสียยิ่งกว่า การรุกคืบอิทธิพลด้านการลงทุนของจีน หรือรัสเซียที่พยายามเข้ามาขยายอิทธิพลทางการทหารและทุนด้านพลังงาน ตลอดจนสหรัฐฯ ที่เข้ามาตั้งฐานทัพบนเกาะกรีนแลนด์แห่งนี้เสียอีก