ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “นัยความหมายของเด็กๆที่งดงามและเป็นวิถีนั้น คือความบริสุทธิ์แห่งจิตอันไร้เดียงสาและปราศจากมลทิน แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ตลอดจนศรัทธาความเชื่อไปมากมายเพียงใดก็ตาม/ เด็กก็คือเด็กพวกเขาคือ “ผู้ใหญ่ตัวเล็ก” ที่มีปัญญาอันซื่อตรงเป็นพื้นฐานแห่งจิตใจอันใสสะอาดเสมอ/ ต่อเมื่อสภาวะแห่งโลกอันปรับแปรตามยุคสมัยได้ล่วงเข้าครอบงำชีวิตของพวกเขา ด้วยค่านิยมอันผิดพลาด ภาวะอารมณ์ที่ขาดการสอนสั่งต่อการยั้งคิด รวมทั้งความหยาบกระด้างอันแปลกต่างที่รุกเข้ามาทำลายจิตอันผ่องแผ้วและสงบงามของพวกเขาจากสังคมที่ไร้หางเสือทางการศึกษาด้วยศรัทธาและความหยั่งเห็นอันเที่ยงแท้ทางศีลธรรม/เหตุดั่งนี้...จึงเปิดโอกาสให้เด็กๆแห่งยุคสมัย ต้องตกเป็นเหยื่อแห่งบ่วงบาศอันซับซ้อนของสังคมที่วิกฤติ/เติบโตขึ้นมาสู่ความเป็นชีวิตประดุจต้นไม้ที่ไร้รากและที่สำคัญก็คือ...เด็กๆ ณ วันนี้ต่างไม่มีโอกาสที่จะ “จิตซึมซาบ” (The Absorbent Mind)..ในนามแห่งการดำรงอยู่ของพวกเขาไปเสียสิ้น...” เนื่องในวันเด็กปีนี้...ผมคิดว่าหนังสือ “จิตซึมซาบของเด็ก(The Absorbent Mind)..คือความงามแห่งการเรียนรู้และหยั่งเห็นสำหรับผู้ใหญ่ที่จะสามารถเข้าใจบริบทแห่งรูปรอยและสาระเนื้อหาในความมีความเป็นของเด็กๆในศตวรรษนี้อย่างลึกซึ้งและเข้าใจ...หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นและถูกสรรค์สร้างให้เป็นคุณประโยชน์ต่อชีวิตของเด็กๆโดย”แพทย์สตรีคนแรกของอิตาลี”... “มาเรีย มอนเตสซอรี่”/ และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างตั้งใจและมีคุณค่าโดย “นวลจันทร์ ธัญโชติกานต์” /...และถือเป็นหนังสือเล่มแรกของ “มอนเตสซอรี่” ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย...ว่ากันว่า.. “จิตซึมซาบอันละเอียดอ่อนของเด็กๆนั้น สามารถค้นหาปัจจัยสนับสนุนที่จำเป็นทุกอย่างจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว สิ่งที่จิตใจของเด็กต้องทำต่อไปก็คือ หาจุดยืนของตัวเอง และพัฒนาตัวเองขึ้นจากสิ่งต่างๆที่รับเข้าไป /ดังนั้น เราจะต้องจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมให้ดูมีเสน่ห์ดึงดูดและน่าสนใจมากที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้โดยเฉพาะในช่วงแรกของชีวิต” นี่คือรากฐานแห่งการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงถึง “การศึกษาเพื่อชีวิต” ซึ่งเด็กๆควรจะสัมผัสกับประสบการณ์ตรงส่วนนี้นับตั้งแค่ลืมตาดูโลก ดั่งที่ “มหาตมะ คานธี” ได้เคยประกาศไว้ว่า...การศึกษาต้องดำเนินควบคู่ไปกับชีวิตตลอดอายุขัยของคน ยิ่งกว่านั้น “คานธี” ยังมีความเห็นว่า..ศูนย์กลางของการศึกษาต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิต อันเป็นครั้งแรกที่บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคมและผู้นำทางจิตวิญญาณได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงนี้/...และหากจะมองกันในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์...ก็ไม่เพียงแต่แสดงถึงว่า..มันได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นไปในเนื้อในของการศึกษาตลอดชีวิตว่ามันจำเป็นและสำคัญ นับแต่เริ่มต้นศตวรรษนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว..ซึ่งวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการศึกษาตลอดชีวิตสามารถสร้างความสำเร็จได้จริง แต่กระนั้นก็ยังก็ยังไม่เคยมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนไหนได้นำความคิดนี้ไปประยุกต์ใช้เลย...เหตุนี้..................... “การศึกษาในยุคปัจจุบันของเรา จึงมีขบวนการขั้นตอน ตลอดจนเป้าหมายและจุดมุ่งหมายทางสังคมเข้มข้นมากมาย แต่ก็ยังอาจกล่าวได้ว่า การศึกษาที่ถูกจัดเตรียมไว้นี้ไม่เคยคำนึงถึงคำว่าชีวิตอย่างแท้จริง” กล่าวคือ... ในจำนวนขั้นตอน และวิธีการเรียนรู้อย่างเป็นทางการอันมากมายของประเทศต่างๆในโลก ยังไม่เคยมีใครนำเสนอขบวนการในการช่วยเหลือและปกป้องพัฒนาการของมนุษย์แต่ละคนตั้งแต่แรกเกิด / ส่งผลให้การศึกษาตามความเข้าใจของตนในปัจจุบันจึงเป็นอะไรที่แบ่งแยกระหว่างชีวิตในทางแง่มุมชีวิทยาและสังคม นั่นหมายถึงว่า... “ผู้ที่เข้าไปเรียนในระบบการศึกษาจึงมีแนวโน้มที่จะถูกตัดขาดจากสังคม นักศึกษาในมหาวิทยาลัยถูกสั่งให้เชื่อฟังและต้องเคารพกฎกติกาของสถาบันที่เรียนอยู่ รวมทั้งทำตามโปรแกรมการเรียนที่เหมือนกันไปหมดซึ่งถูกกำหนดไว้โดยผู้มีหน้าที่ /อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังไม่แสดงความสนใจต่อสภาวะทางกายภาพและชีวิตทางสังคมของนักศึกษาแม้แต่น้อย” ตัวอย่างเช่น... หากนักศึกษาได้รับอาหารไม่พอกับความต้องการ หรือมีปัญหาทางสายตาหรือการได้ยิน จนทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ..นักศึกษาคนนั้นย่อมมีผลการเรียนที่ตกต่ำลงโดยไม่มีใครสนใจถึงสาเหตุที่แท้จริง แม้ความบกพร่องทางร่างกายจะเริ่มได้รับความเอาใจใส่มากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็เป็นเพียงประเด็นของสุขภาพอนามัยเท่านั้น..ยังไม่เคยมีใครเอ่ยถึงสภาพจิตของนักศึกษาว่าได้รับผลกระทบจากการเจ็บป่วย หรือระบบวิธีการศึกษาที่ไม่เหมาะสมกับเขาหรือไม่? “กลไกทางการศึกษาช่างเหินห่างจากการดำเนินชีวิตในสังคมจนดูเหมือนปัญหาทั้งหมดจะอยู่นอกขอบเขตทิศทางของมัน โลกแห่งการศึกษาคล้ายกับเกาะ สถานที่ที่ผู้คนที่ถูกตัดขาดจากโลกใบนี้กำลังถูกเตรียมตัวเพื่อการมีชีวิตอยู่โดยการถูกกันออกไปจากโลก” นายแพทย์ชาวสวิส ผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อระบบการศึกษาแนวใหม่ “Dr.Edouard Claparede”/ผู้มีความโดดเด่นในด้านเป็นแพทย์ทางประสาทวิทยา นักจิตวิทยาเด็ก และนักการศึกษา...ได้ทำการตรวจสอบเนื้อหาของหลักสูตรจำนวนมากเพื่อพยายามลดปัญหา ความเหนื่อยล้าทางจิตจากระบบการศึกษาที่ไม่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล แต่ความพยายามนี้ก็ไม่สามารถบรรลุความสำเร็จในการทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาทางวัฒนธรรมและสติปัญญาโดยปราศจากความรู้สึกเหนื่อยล้า/เพราะในระบบการศึกษาส่วนใหญ่จะสนใจเพียงว่า การเรียนเป็นไปตามแผนหรือโปรแกรมที่กำหนดไว้ครบถ้วนหรือไม่ และหากนักศึกษามีปฏิกิริยาต่อความไม่ยุติธรรมในสังคม หรือแสดงการต่อต้านปัญหาความยุติธรรมทางการเมือง...โดยไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกหรือสัญชาตญาณอันเกิดจากประสบการณ์ที่ได้ยินได้เห็นมา/ผู้มีอำนาจก็จะสั่งว่าเยาวชนผู้นั้นจบการศึกษาโดยมีโซ่ตรวนและความรู้สึกจำยอมติดตัวไปด้วย กระทั่งต้องสูญเสียความรู้จักคิดด้วยตนเองไป จนไม่สามารถตัดสินกับปัญหาต่างๆได้...ด้วยภาวะเช่นนี้ “สถาบันการศึกษาจึงมีหน้าที่แค่เพียงจัดการศึกษาและการสอนเท่านั้น ผู้ที่สอบผ่านจะได้ประกาศนียบัตรหรือใบปริญญาเป็นรางวัล ดังนั้นสำหรับในยุคของพวกเรา..สิ่งเหล่านี้คือยอดเขาที่สูงที่สุดที่การศึกษาในระบบต้องพิชิตให้ได้ ในขณะเดียวกันนักวิจัยซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับปัญหาสังคม ได้พบว่าผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยหรือผู้ที่ได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองจากโรงเรียน ไม่ได้ถูกเตรียมตัวมาเพื่อใช้ชีวิตในสังคมหลังจบการศึกษา/ไม่เพียงแต่เท่านั้น ความสามารถในการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมของเด็กๆเหล่านี้ยังน้อยลงไปด้วย” หากมีการย้อนกลับไปมองสภาวะการเติบโตที่ผสานเข้ากับวิถีการศึกษาเรียนรู้ของเด็กๆในวันนี้ ตั้งแต่อายุได้ 6-7 ขวบ/ในวารวัยที่อายุยังน้อย..ก็จะปรากฏว่าสถานที่ที่เราเรียกว่าโรงเรียน.ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญและสนใจเด็กๆในช่วงอายุนี้/โดยมักเรียกว่ามันเป็นช่วงก่อนวัยเรียน ซึ่งมีความหมายถึงว่า...อยู่นอกขอบเขตการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ/แล้วความจริงควรเป็นเช่นใดเล่า?../เด็กเล็กเหล่านี้ควรเข้าเรียนที่โรงเรียนหรือไม่?/..โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเด็กวัยก่อนเกณฑ์เข้าเรียน...ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของรัฐ/โดยมากจะควบคุมดูแลโดยองค์กรที่ไม่เป็นทางการหรือจัดการโดยเอกชน และมักทำในลักษณะการกุศล ไม่มีความสนใจต่อจิตใจของทารกในแง่ของปัญหาสังคม /นอกจากนี้สังคมยังมักป่าวประกาศว่าเด็กเล็กเป็นหน้าที่ของครอบครัวต้องดูแล ไม่ใช่ภาระของรัฐ...ดั่งนี้ “การให้ความรู้แก่เด็กในช่วงขวบปีแรกๆ จึงยังไม่ได้รับการขยายผลไปสู่การปฏิบัติตามข้อแนะนำใดๆ...สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดก็คือ การพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว การทำให้ความรู้แก่พ่อแม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น ในขณะที่บ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน/ผลที่ตามมาก็คือ บุคลิกภาพของเด็กเกิดความแตกแยก ด้านหนึ่งจะเป็นบุคลิกภาพที่แสดงออกภายในบ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแต่ไม่เคยมีส่วนร่วมหรือได้รับความสนใจจากสังคม ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นบุคลิกภาพเมื่ออยู่ในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเป็นอันดับถัดมา ซึ่งต่างก็ตัดขาดจากสังคมเช่นกัน” อย่างไรก็ตาม...แม้จะตกอยู่ในสภาวการณ์เช่นนี้..แต่สังคมก็ไม่เคยแสดงความวิตกเกี่ยวกับเรื่องความเป็นเอกภาพของชีวิตดังกล่าว /ในสังคมจึงมีแต่ชิ้นส่วนที่กระจัดกระจายที่ไม่เคยเหลียวแลซึ่งกันและกัน มีแต่การเรียกร้องความสำเร็จหรือความเป็นไปได้จากโรงเรียน ครอบครัว หรือ มหาวิทยาลัยซึ่งถูกมองว่าเป็นสถานศึกษาอีกรูปแบบหนึ่งและเป็นแหล่งสุดท้ายของชีวิตวัยเรียน /แม้แต่สังคมศาสตร์แนวใหม่อย่างสังคมวิทยา หรือจิตวิทยาสังคม ซึ่งตระหนักถึงความเลวร้ายของความโดดเดี่ยวไม่เกี่ยวข้องกันนี้ ก็ยังถกกันอยู่ภายนอกโรงเรียน/จึงเท่ากับว่าไม่มีระบบใดๆที่เป็นรูปธรรมที่จะสามารถช่วยในการพัฒนาชีวิตได้... ที่สุดแล้วด้วย “จิตซึมซาบ” เพียงเท่านั้นที่จะต้อนรับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต...มันจะให้ความหวังทุกอย่าง /จะรับเอาทั้งความยากจนและความร่ำรวยโดยเท่าเทียมกัน/จะยอมรับในกันและกันไม่ว่าจะศาสนาใด ความอคติ ความไม่มีเหตุผล ตลอดจนอุปนิสัยของคนที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ...ที่รับเอาทุกอย่างเข้าไปภายในชีวิตเพื่อสร้างตัวตนในแต่ละตัวตนขึ้นมา... “นี่แหละคือเด็ก!!!” เช่นเดียวกับว่า “นี่คือโลก” และสังคมที่เปิดกว้างของมัน/หากแม้นว่า...ไม่มีสภาวะเช่นนี้..เผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติก็คงไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงภายใต้พื้นที่บนโลกซึ่งแตกต่างกันมากมาย รวมทั้งยังไม่สามารถที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง หากต้องเริ่มทำทุกสิ่งใหม่เสมอ...และถ้าหากเราศึกษาเด็กให้ดีกว่าที่ทำอยู่ในตอนนี้ เราจะค้นพบความรักในทุกรูปแบบ...ความรักไม่ได้ถูกวิเคราะห์หรือตีความโดยบรรดากวี และศาสดาพยากรณ์ แต่มันถูกวิเคราะห์โดยความเป็นจริงซึ่งเด็กทุกคนได้เผยให้เห็นภายในตัวเอง “ความรักช่วยชะลอความโกรธ ความรักคือความเมตตาปรานีปราศจากความอิจฉา ไม่ดันทุรัง เอาแต่ใจ ไม่หลงลำพองหรือหยิ่งผยองไม่ใช่ความมักใหญ่ใฝ่สูงแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ยั่วยุต่อต้าน ไม่คิดวางแผนชั่วร้าย ไม่ปีติยินดีกับความอยุติธรรม แต่ชื่นชมในความจริง อดทนต่อทุกสิ่ง เชื่อถือและมีความหวังในทุกเรื่อง ตลอดจนยืนหยัดอย่างอดทน” นี่คือหนังสือที่งดงามต่อการประกอบสร้างชีวิตด้วยมุมมองที่แจกแจงและเปิดกว้างด้วยวิถีแห่งสัจจะ/...เพื่อการเติบโตและดำรงชีวิตอยู่ของเด็กๆอย่างสอดคล้องและสมดุลกับภาวะที่เหมาะสมและสมควรจะเป็น/ข้อวิพากษ์ผ่านการชี้แนะทางการเลี้ยงดูของครอบครัว ตลอดจนข้อจำกัดแห่งเจตจำนงของการศึกษาในโลกของวันนี้...คือภาพแสดงที่สร้างความหดหู่สิ้นหวังต่อการก่อเกิดความหมายอันเหมาะควรและแม่นตรงของชีวิต/ ทั้งหมดในสิ่งทั้งหมดนั้นเกิดจากจิตซึมซาบของผู้ใหญ่ในฐานะ “ผู้เขียน”ที่เจตนาส่งต่อไปสู่จิตวิญญาณของผู้เลี้ยงดูเด็กๆ ณ วันนี้จักได้หยั่งเห็นถึงความจริงที่กำลังเป็นไป..รวมทั้งความฝันและความหวังต่อการสร้างความหมายแห่งการเรียนรู้ที่งดงามและแท้จริงให้แก่เด็ก/ด้วยจิตอันซึมซาบ/ด้วยความรักที่อยู่ในมือของจิตวิญญาณแห่งความกรุณาของผู้ใหญ่ในทุกสถานะ/เหล่านี้ย่อมจะเป็นของขวัญแห่งชีวิตอันล้ำค่าของเด็กๆแห่งอนาคตทุกๆคน...ตลอดๆไป จิตซึมซาบจะวางรากฐานของสังคมซึ่งสร้างขึ้นโดยมนุษย์ และเราทุกคนจะมองเห็นสิ่งนี้จากลักษณะท่าทางภายนอกของเด็กตัวน้อยๆที่แสนจะอ่อนโยน ผู้ซึ่งแก้ปัญหาและอุปสรรคโดยบรรดาความจริงซึ่งเด็กทุกคนเผยให้เห็นภายในตัวเอง “รากของต้นไม้ทุกต้นจะค้นหาบางอย่างที่ต้องการจากส่วนประกอบที่ผสมผสานอยู่ในดิน ส่วนแมลงจะเลือกเกาะบนดอกไม้บางชนิดที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา เพื่อต้อนรับการมาเยือนของพวกมันเท่านั้น”