สสส.ร่วมเปิดตัวเรือนจำกันทรลักษ์ “เรือนจำสีเขียว” สร้างสุขภาวะแห่งแรก เน้นดูแลกายรักษาใจด้วยธรรมชาติ ช่วยลดการกระทำผิดซ้ำได้ พร้อมหาแนวร่วมพัฒนาเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่ให้ผู้ที่ต้องขังได้รับการบริการทางด้านสุขภาพไม่ต่างจากคนทั่วไป นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเปิดตัว “โครงการเรือนจำสุขภาวะ” ที่เรือนจำอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายกิตติพัฒน์ เดชะพหุลรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ฝ่ายพัฒนาพฤตินิสัย นายทวี ฤทธิเสน ผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอกันทรลักษ์ผู้บัญชาการเรือนจำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้จัดการโครงการเรือนจำสุขภาวะ ผศ. ธีรวัลย์ วรรธโนทัย ประธานยุทธศาสตร์นวัตกรรมเรือนจำสุข เข้าร่วม นางภรณี กล่าวว่า สสส. สนับสนุนให้มีการวิจัยเชิงเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมด้วยการสร้างความรู้และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายและการดำเนินงานในการดูแลสุขภาวะของผู้ต้องขังภายใต้หลักการ “สุขภาวะเพื่อคนทั้งมวล” (Health for All) เพื่อสื่อสารกับสังคมและภาครัฐถึงแนวทางที่จำเป็นและเหมาะสมในการพัฒนาเรือนจำให้เป็นพื้นที่ที่เอื้ออำนวยให้ผู้ที่ต้องขังได้รับการบริการทางด้านสุขภาพไม่ต่างจากที่ประชาชนทั่วไป สำหรับเรือนจำอำเภอกันทรลักษ์ เป็นเรือนจำหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนให้มีการพัฒนาไปสู่การเป็นเรือนจำสุขภาวะ โดยขยายงานออกไปสู่ผู้ต้องขังชายด้วย และนับเป็นเรือนจำแห่งแรกที่มีการนำแนวคิดเรือนจำสีเขียว (Green Prison) มาใช้โดยให้ความสำคัญกับการจัดพื้นที่ทางกายภาพของเรือนจำให้ลดความรู้สึกของการเป็นสถานที่คุมขังลง เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตามแนวคิดในเรื่องระบบนิเวศ มาเป็นพื้นฐานในการฟื้นฟู และให้ความสำคัญกับการดูแลกายรักษาใจของผู้ต้องขังโดยใช้ธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดการกระทำผิดซ้ำได้ “ผู้ต้องขังมีการปลูกพืชผักในพื้นที่ว่าง โดยเลือกพืชที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมของเรือนจำ มีการปลูกข้าวโพดทับทิมสยาม ข้าวโพดหวาน ผักหลากหลายชนิด พืชสมุนไพร มีการทำสวนแนวตั้งด้วยการปลูกผักสลัดในกระถาง ทำให้เรือนจำมีบรรยากาศสดชื่น ทุกคนได้เฝ้ามองการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกด้วยฝีมือตนเอง และยังได้บริโภคผลผลิตที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองอีกด้วย” นางภรณี กล่าว นางภรณี กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการของเรือนจำสุขภาวะ กิจกรรมต่างๆ ที่นำมาใช้เป็นเพียงเครื่องมือหรือวิธีการที่กระตุ้น สนับสนุน ส่งเสริม และสร้างแรงบันดาลใจ ให้สมาชิกของเรือนจำมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน มีความสุขในการทำงาน พยายามปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขสิ่งที่ส่งผลในทางลบต่อสุขภาวะให้ดีขึ้น แม้ว่าโครงการนี้จะมุ่งความสนใจไปที่ผู้ต้องขัง แต่สุขภาวะเป็นเรื่องของสมาชิกทุกคนในเรือนจำ ผู้บริหาร ผู้คุม และเจ้าหน้าที่เรือนจำ ควรได้รับประสบการณ์ในทางบวกจากการปรับเปลี่ยนเรือนจำไปสู่เรือนจำสุขภาวะด้วยเช่นกัน ด้าน รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้จัดการโครงการเรือนจำสุขภาวะ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ต้องขังทำงานที่ได้ใช้พลังสร้างสรรค์ของตนเอง เช่น การแกะรองเท้าแตะ ที่เรียกว่า “การแกะเกิบ” การวาดลวดลายและการใช้สี การถักโครเชต์โดยออกแบบให้มีความสวยงาม การทำงานสร้างสรรค์ช่วยให้ผู้ต้องขังมีอิสรภาพในการแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก และผ่อนคลาย สามารถนำศิลปะของสีมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลงานสร้างสรรค์ได้หลายรูปแบบ เช่น กระเป๋าผ้า หมอน กล่อง ของใช้อื่นๆ มีการฝึกการทำยาหม่อง น้ำมันไพล น้ำมันหอม และสบู่ ซึ่งเป็นของใช้ที่เกือบทุกคน เคยเห็น เคยใช้ แต่ไม่รู้วิธีทำ การได้ฝึกทำ ทำให้ได้รู้ว่า หากได้ขวนขวายหาความรู้จากผู้รู้ สิ่งที่เคยคิดว่ายากก็เป็นของง่าย ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถขายเพื่อเป็นรายได้ด้วย ผู้ต้องขังมีแนวโน้มจะมีพฤติกรรมแบบเนือยนิ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นโรคไม่ติดต่อ (Non- Communicable Diseases-NCD) เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไต โครงการเรือนจำสุขภาวะได้นำกิจกรรม “โยคะในเรือนจำ” เข้าไปในเรือนจำหลายแห่ง เช่น เรือนจำกลางราชบุรี เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำกลางอุบลราชธานี ซึ่งได้รับผลดี จึงได้นำกิจกรรมนี้เข้าไปในเรือนจำอำเภอกันทรลักษ์เริ่มจากผู้ต้องขังหญิงก่อน โยคะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ยืดหยุ่นมากขึ้น นอนหลับสบายขึ้น มีสมาธิ สามารถควบคุมลมหายใจเพื่อผ่อนคลายความเครียด สุขภาพกายและใจดีขึ้น