"อลงกรณ์" นำทีมติดตามการบริหารจัดการน้ำช่วยสำหรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ จ.ลพบุรี, สระบุรี ยืนยันเอาอยู่แน่นอนเตรียมพร้อมแผนสำรองผันน้ำแม่กลองหากเกิดภาวะฉุกเฉิน วันที่ 9 ม.ค. 63 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา ในจังหวัดลพบุรีและสระบุรี โดยมีนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปแนวทางการช่วยเหลือ ทั้งนี้นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า ในส่วนการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งกระทรวงได้มีการเตรียมพร้อมรับมืออย่างต่อเนื่อง โดยมีการประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวันระบายน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จากการตรวจสอบน้ำที่มีอยู่ประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้จากการวางแผนการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ ยังอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถบริหารจัดการน้ำได้โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค ยืนยันว่าเพียงพออย่างแน่นอนเนื่องจากวางแผนสต๊อกน้ำสำรองไว้ที่ร้อยละ29 ของปริมาณน้ำต้นทุนทั้งหมด หากเกิดภาวะฉุกเฉินกระทรวงเกษตรฯได้มีการเตรียมแผนสำรองโดยการเตรียมพร้อมในการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง เข้ามาเสริมทันที และเชื่อว่าสามารถบริหารจัดการน้ำได้จนเข้าสู่ฤดูฝนแน่นอน อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนยอมรับว่ากระทรวงฯมีปัญหาเรื่องงบประมาณบริหารการจัดการเนื่องจากงบประมาณที่จะนำมาใช้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากงบประมาณยังไม่ผ่านสภาฯจึงอยากวิงวอนให้พิจารณาให้ผ่านเพื่อจำนำมาบริหารจัดการช่วยเหลือประชาชนได้ ซึ่งขณะนี้มีการบริหารงานเท่าที่มีไปก่อนขณะที่แผนการช่วยเหลือเกษตรกรกระทรวงเกษตรฯได้มีแผนการส่งเสริมการสร้างรายได้ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ และการปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยใช้เงินนอกงบปะมาณดอกเบี้ยต่ำจาก ธกส . ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ "ตอนนี้ได้เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้งอย่างเต็มที่โดยการประเมินแบบวันต่อวันขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วงแม้จะมีการใช้เกินเป้าหมายไปแล้ว200ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ไม่มีปัญหา ซึ่งหากเกิดปัญหาเราก็มีแผนสำรองไว้แล้วโดยการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองเข้ามาช่วยทันที และคาดว่าสามารถจัดการได้ถึงหน้าฝนแต่นอน "นายอลงกรณ์กล่าว ขณะที่นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 เปิดเผยว่า จากแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ สำนักงานชลประทานที่ 10 ดำเนินการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาเติมยังคลองชัยนาท-ป่าสัก เป็นระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร วันละ 3 ล้าน ลบ.ม. (หรือวันละ 35 ลบ.ม./วินาที) ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.62 ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น มีความจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อทำการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานีสูบน้ำสำแล โดยเพิ่มการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิมวันละ 70 ลบ.ม./วินาที เป็นวันละ 85 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.62 ปริมาณน้ำไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักได้เพียง 16 ลบ.ม./วินาที (หรือวันละ 1.4 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่บริเวณ ปตน.มโนรมย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 6 เครื่อง สามารถสูบน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักได้ ในอัตรา 15.50 ลบ.ม./วินาที (หรือวันละ 1.30 ล้าน ลบ.ม. เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก ด้วยแรงโน้มถ่วง รวมเป็นปริมาณน้ำ 2.70 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อปริมาณการใช้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ตลอดจนรักษาเสถียรภาพของคลอง สำหรับแม่น้ำบางขาม ซึ่งมีความยาว 25 กม. ไหลผ่าน 5 ตำบล ในท้องที่อำเภอบ้านหมี่ เนื่องจากปีนี้ปริมาณฝนในพื้นที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 37% และมีการใช้น้ำจากประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำบางขาม กว่า 4,000 ครัวเรือน ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำบางขามลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในวันที่ 23 ธ.ค.62 ปริมาณน้ำในแม่น้ำมีเพียง 10% หรือ 700,000 ลบ.ม. และมีบางช่วงแห้งขอด (กม.0+14) ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของ 4 ตำบลของอำเภอบ้านหมี่ที่อยู่ริมแม่น้ำ (ต.บ้านชี บางพึ่ง บางขาม และมหาสอน) “จากการลงพื้นที่พร้อมผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่บริเวณริมคลองชัยนาท-ป่าสัก ต.บ้านกล้วย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งสูบน้ำได้วันละประมาณ 70,000 ลบ.ม. จนถึงวันที่ 3 ม.ค.63 ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มอีก 1 ชุด รวมปริมาณน้ำที่สูบได้ต่อวัน 200,000 ลบ.ม. ปัจจุบันสามารถสูบน้ำเติมให้กับแม่น้ำบางขามได้รวมทั้งสิ้น 1,400,000 ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณ 20% ของความจุแม่น้ำ (ความจุ 7 ล้าน ลบ.ม.) ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเพิ่มขึ้น และเพียงพอต่อสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และสัตว์น้ำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้” นายสุรัชฯ กล่าว กรมชลประทาน ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้น พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าอย่างไม่ขาดแคลน