ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของประชากรไทย คือ ประมาณ 70 ปี เมื่ออายุยืนยาวขึ้น โรคในผู้สูงอายุย่อมเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ปวดหลัง กระดูกผุ ข้อเสื่อม เป็นต้น ปัญหาหนึ่งที่ทำให้การดำรงชีวิตของผู้สูงอายุยากลำบาก คือ ปัญหาตามัว เช่น โรคต้อกระจก โรคต้อหิน โรคจุดรับภาพเสื่อมในผู้สูงอายุ เป็นต้น นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ดังนั้น จึงมีการคิดหาวิธีป้องกันรักษาเพื่อให้สุขภาพตาดี มีการมองเห็นดีขึ้น และหายจากโรคที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจุบัน ยาวิเศษแบบนั้นไม่มีอยู่จริง ในขณะที่โรคส่วนใหญ่สามารถป้องกันและรักษาได้ หากได้รับคำแนะนำและการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนการดูแลสุขภาพโดยการใช้วิตามินหรืออาหารเสริม ข้อมูลทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่า วิตามินหรือสารอาหารบางชนิดอาจจะมีประโยชน์ในการป้องกัน บำรุงสุขภาพ เฉพาะบางภาวะ บางโรคเท่านั้น และควรอยู่ในความควบคุมดูแลจากแพทย์ก่อนการใช้วิตามิน อาหารเสริมเพื่อความปลอดภัย พญ.สายจินต์ อิสีประดิฐ ผอ.โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยขนาดใหญ่ในอเมริกาซึ่งสนับสนุนโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐ ชื่อ Age - Related Eye Disease Study(AREDS.2001-2006) ทดลองให้ผู้สูงอายุทานวิตามินรวม (วิตามินซี 500 mg วิตามินอี 400 หน่วย IU เบต้าแคโรทีน 50 mg สังกะสี 80 mg) ทุกวันติดต่อกัน 5 ปี ผลคือ วิตามินรวม ไม่ช่วยชะลอหรือลดต้อกระจกที่มีอยู่เลย แต่ช่วยลดความเสี่ยงการลุกลามของโรคจุดรับภาพเสื่อมได้ 25% เฉพาะในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีผลในการชะลอ หรือป้องกันต้อกระจก อย่างไรก็ตาม วิตามินหรืออาหารเสริมปัจจุบันที่จำหน่ายมักจะมีคำว่า อาจจะ กำกับอยู่ด้วย เช่น อาจช่วยชะลอต้อกระจก อาจมีส่วนช่วยการมองเห็น อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพตา เป็นต้น ดังนั้น ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือยืนยันว่า การทานวิตามินใด ๆ ช่วยทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ ฉะนั้น หากมีอาการผิดปกติทางตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ทันที สำหรับวิธีดูแลดวงตาคือ สวมแว่นกันแดดเมื่อออกกลางแจ้ง รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ การทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง อาจช่วยให้ผู้ป่วยที่มีภาวะตาแห้ง สบายตาขึ้น อาการเคืองตาและตาแดงลดลง อาหารที่มีโอเมก้า 3 สูง พบได้ในเนื้อปลาที่มีกรดไขมันดีสูง ปลาแซลมอน ปลาทูน่า โปรตีนจากธัญพืชต่าง ๆ แหล่งอาหารอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพดวงตา เช่น ผักโขม หรือผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้ ผักผลไม้ที่มีสีเหลืองหรือส้ม เช่น แครอท ฟักทอง เป็นแหล่งของวิตามินเอสูง ดีต่อการทำงานของจอประสาทตา ที่สำคัญการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและมีการป้องกัน ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี โดยเฉพาะโรคที่ส่งผลกระทบต่อดวงตา เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ก็จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตาที่จะตามมาในอนาคตได้