ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า อาชญากรรมที่สหรัฐฯ โดยคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ให้ลอบสังหารนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม และกองกำลังกุดส์ที่ปฏิบัติการร่วมกับกองกำลังในอิรักและซีเรีย ในการจัดการกับผู้ก่อการร้ายไอเอส องค์กรก่อการร้ายที่สนับสนุนโดยสหรัฐฯ แม้ว่าหลายคนจะเชื่อกันว่าเป็นความบ้าบิ่นของทรัมป์ที่สั่งการโดยไม่รอบคอบ แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นไปไม่ได้เพราะสหรัฐฯมีฝ่ายเสนาธิการที่คอยกลั่นกรองการตัดสินใจทางทหารของผู้นำ และจะมีการประเมินผลกันอย่างรอบคอบแล้ว จึงจะเปิดให้ผู้นำตัดสินใจ ในกรณีการลอบสังหารนายพลกอเซ็ม สุไลมานี ซึ่งเดินทางไปอิรักเพื่อเปิดการเจรจาสร้างสันติภาพกับซาอุดิอารเบีย อันเป็นการปูทางไปสู่การสร้างความสงบสุขในตะวันออกกลาง ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีอิรัก จึงไม่ใช่ความลับ แต่สหรัฐฯฉวยโอกาสลอบสังหารโดยใช้โดรน MQ-9 ยิงจรวดถล่มขบวนรถ และทำให้ผู้ติดตามและรองผู้บัญชาการหน่วยกองกำลังอาสาสมัครที่เข้าร่วมกับรัฐบาลอิรักพลอยเสียชีวิตไปพร้อมกับท่านนายพลกอเซ็ม สุไลมานี การกระทำอย่างนี้ถ้าไม่ถือว่าเป็นการก่อการร้ายโดยสหรัฐฯก็ไม่รู้ว่าจะเรียกอย่างไร และต้องถือว่าเป็นอาชญากรรมสงครามทีเดียว เมื่อมาถึงขั้นนี้ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐฯมีเจตนาเพื่อกระตุ้นให้อิหร่านตอบโต้ ด้วยความโกรธเพื่อหวังแก้แค้น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้สหรัฐฯถือโอกาสโจมตีอิหร่าน โดยทรัมป์คาดว่าการเปิดสงครามกับอิหร่านนี้ซึ่งสหรัฐฯเป็นต่ออย่างมาก จะนำชัยชนะมาสู่สหรัฐฯ และจะทำให้คะแนนเสียงของทรัมป์พุ่งสูงขึ้นในฐานะฮีโร่ ทีนี้เราคงต้องมาพิจารณากำลังเปรียบเทียบระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่านดังนี้ กำลังทหารประจำการ สหรัฐฯ 2,141,900 นาย อิหร่าน 873,000 นาย ยานบินทุกประเภท สหรัฐฯ 13,398 ลำ อิหร่าน 509 ลำ ยานยนต์หุ้มเกราะทุกประเภท สหรัฐฯ 6,287 คัน อิหร่าน 1,634 คัน เรือรบขนาดใหญ่และเรือบรรทุกเครื่องบิน สหรัฐฯ 114 ลำ อิหร่าน 6 ลำ (ไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบิน) หัวรบนิวเคลียร์ สหรัฐฯ 6,185 หัว อิหร่าน ไม่มี แค่เปรียบเทียบกำลังรบระหว่าง 2 ประเทศนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนว่ามันเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย ไม่ว่าจะมองในด้านใด โดยยังไม่ได้มองถึงสมรรถภาพของอาวุธและเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ดาวเทียม และขีดความสามารถในการส่งกำลังบำรุง ส่วนอิหร่านถ้าจะมองในแง่ขวัญและกำลังใจของทหารแล้วน่าจะเหนือกว่าสหรัฐฯ เพราะรบด้วยอุดมการณ์ ด้วยความมุ่งมั่น ยิ่งสหรัฐฯมาลอบสังหารนายพลกอเซ็มที่เป็นที่รักของทหารและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่มีประชาชนนับล้านมาร่วมในพิธีฝังศพของนายพลกอเซ็ม สุไลมานีแล้ว ยิ่งชัดเจน ดังนั้นขวัญและกำลังใจของประชาชนก็ย่อมเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนกองทัพ แต่ถ้าสหรัฐฯใช้ความได้เปรียบทางเทคโนโลยีทางทหารเข้าถล่มโดยจรวด โดรนและฝูงบินแล้วอิหร่านน่าจะย่อยยับลงแบบยับเยิน ทีนี้ก็มาดูว่าทั้งสหรัฐฯ และอิหร่านมีพันธมิตรที่จะร่วมต่อสู้ในสงครามนี้มากน้อยเพียงใด ทางฝ่ายสหรัฐฯ ย่อมมีพันธมิตรที่ใกล้ชิด คือ ยุโรปให้การสนับสนุนแม้หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วย และกังวลต่อการก่อาชญากรรมของสหรัฐฯก็ตาม แต่อังกฤษโดยนายบอรีส จอห์นสัน ได้ประกาศสนับสนุนการก่อการร้ายในครั้งนี้โดยชัดเจน มิหนำซ้ำยังยกย่องสรรเสริญทรัมป์ในการตัดสินใจ ครั้งนี้ประดุจวีระบุรุษ นอกจากหลายประเทศในยุโรปตะวันตกที่จะสนับสนุนสหรัฐฯแล้วก็จะมีลิ่วล้อในอีกหลายประเทศในภูมิภาคต่างๆ อาจให้การสนับสนุนด้วย ส่วนทางฝ่ายอิหร่าน ก็มีพันธมิตรที่ใกล้ 2 ประเทศมหาอำนาจ คือ รัสเซียกับจีน ซึ่งมีท่าทีสนับสนุนอิหร่าน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อเกิดสงครามแล้วทั้ง 2 ประเทศนี้จะดำเนินการอย่างไร ด้านรัสเซียนายปูติน ผู้นำรัสเซียได้แต่ออกมาเตือนอิหร่านว่าอย่าหลงกลสหรัฐฯ ที่จะก่อให้อิหร่านมีปฏิกิริยาตอบโต้จะได้หาเหตุโจมตีอิหร่านเสียเลย แล้วปูตินก็ไปซีเรียพบกับประธานาธิบดีอัสซาด แห่งซีเรีย พร้อมกับไปเดินชมตลาดในดามัสกัส แบบทำทองไม่รู้ร้อน ผู้เขียนมองว่าถ้ารัสเซียหนุนอิหร่านอย่างจริงจังน่าจะได้เห็นการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เช่น จัดส่ง S-400 ไปประจำการในอิหร่านเป็นต้น มาดูด้านจีนแม้จะมีการออกมากล่าวสนับสนุนอิหร่านจากระดับนำของจีน แต่ก้ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม จึงยังไม่ชัดเจนว่าแล้วจีนจะเอาอย่างไรถ้าสหรัฐฯไปถล่มอิหร่าน สรุปโดยรวมทั้งรัสเซียกับจีนยังไม่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนอิหร่าน เพราะรัสเซียเองก็ยังไม่อยากให้เกิดสงครามใหญ่ นอกจากนี้ในตะวันออกกลาง รัสเซียก็ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่สม่ำเสมอกับอิสราเอล ขนาดทหารรัสเซียถูกฝูงบินอิสราเอลถล่มตายไปหลายคน รัสเซียก็ยังไม่มีการตอบโต้ทางทหารใดๆเลย พิจารณาด้านจีนก็คงยังไม่พร้อมที่จะก่อสงครามใหญ่ เพราะตอนนี้กำลังค้าขายเพลิน มุ่งพัฒนาความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และกำลังประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายรุกทางยุทธศาสตร์ด้วยการริเริ่มหนึ่งถนนหนึ่งเส้นทาง (BRT) ด้านกลุ่มประเทศมุสลิมในปัจจุบันก็ไม่มีความเป็นเอกภาพหลายประเทศมีสภาพเป็นลูกสมุนสหรัฐฯ และยังเป็นที่ตั้งฐานทัพของสหรัฐฯในตะวันออกกลางอีกด้วย ส่วนตุรกีก็มีท่าทีที่ไม่แน่ชัด แม้จะพยายามฟื้นฟูอดีตของการเป็นจักรวรรดิออตโตมานก็ตาม ผู้เขียนมองว่าโอกาสเดียวที่อิหร่านจะต่อกรกับสหรัฐฯได้ ก็คือทำสงครามจรยุทธในตะวันออกกลาง โดยเพิ่มความเข้มข้นขึ้น เพื่อดึงให้สหรัฐฯจมปลักในสงครามนั้น และสูญเสียงบประมาณทางทหารเป็นจำนวนมาก ซึ่งเท่ากับเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่กำลังขาลงอยู่ในขณะนี้ อิหร่านต้องหลีกเลี่ยงสงครามใหญ่ แม้จะใช้ยุทธศาสตร์การต่อสู้ป้องกันประเทศแบบเบ็ดเสร็จ (Total Defence Strategy) ก็คงไม่อาจต้านทานศักยภาพทางทหารของสหรัฐฯที่เหนือชั้นทางเทคโนโลยีได้ และคุกคามว่าจะโจมตีอิสราเอล หากสหรัฐฯโจมตีตน แต่นี่อิหร่านเปิดศึกไปถล่มฐานทัพสหรัฐฯในอิรักด้วยจรวดแล้ว สหรัฐฯก็คงฉวยโอกาสโจมตีอิหร่านอย่างไม่ต้องสงสัย ขนาดอิรักสมัยซัดดัมไม่ได้ทำอะไรเลย พอมีการถล่มตึกเวิร์ลเทรดก็หาเหตุถล่มอิรัก โดยกล่าวหาว่ามีอาวุธมหาประลัย ทั้งๆที่ไม่จริงเลย อิหร่านคงต้องหวังให้รัสเซียและจีนเข้ามามีบทบาทเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ เพื่อปรามสหรัฐฯ ล่าสุดหลังอิหร่านโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก ทรัมป์ได้ออกมาแถลงต่อสาธารณะ แต่ก็ไม่มีนัยสำคัญอะไร จึงมองว่าสหรัฐฯคงไม่เปิดสงครามใหญ่ อาจเพราะกลัวอิสราเอลเดือดร้อนก็ได้ ส่วนประเทศไทยควรวางตัวเฉยๆไว้อย่าทำไปคุยโวว่าสหรัฐฯให้สัญญาณอะไรเลย เพราะถ้ามันเกิดสงครามเราจะได้รับผลกระทบไปด้วย ที่แน่ๆราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติพุ่งกระฉูด เศรษฐกิจที่อ่อนยวบอยู่แล้วก็จะพังพาบลงเป็นแน่แท้