วันนี้ (8 ม.ค.2563) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-บังกลาเทศ ครั้งที่ 5 ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการ กำหนดทิศทางขับเคลื่อนการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยหัวข้อการหารือครอบคลุมการส่งเสริมความร่วมมือในสาขา ศักยภาพ อาทิ อุตสาหกรรม เกษตร ประมงและปศุสัตว์ บริการสุขภาพและสาธารณสุข และความเชื่อมโยงด้าน คมนาคม ควบคู่กับการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อผลักดันให้มูลค่าการค้าสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายที่ 2,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ หรือประมาณกว่า 60,000 ล้านบาทไทย ภายในปี 2564 นายจุรินทร์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบังกลาเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 47 ปี ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ สำหรับไทยบังกลาเทศคือหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงด้านคมนาคม ในปี 2561 บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ การค้าระหว่างไทยกับ บังกลาเทศมีมูลค่า 1,259 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปบังกลาเทศมูลค่า 1,200 ล้านเหรียญ สหรัฐ และไทยนำเข้าจากบังกลาเทศ 59 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรก ของปี 2562 ไทยนำเข้าจากบังกลาเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้า นำเข้าที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ด้ายปอกระเจา รองเท้า และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น แสดงให้เห็นถึง ความสนใจของไทยในสินค้าจากบังกลาเทศเพิ่มขึ้น ด้านการลงทุนนั้น การลงทุนโดยตรงจากไทยไปบังกลาเทศ ในปี 2549 – 2562 มีมูลค่า 1,500 ล้าน เหรียญสหรัฐ โดยธุรกิจไทยด้านอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป การก่อสร้าง การโรงแรม และบริการที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่การลงทุนโดยตรงของบังกลาเทศในไทย ในปี 2549 – 2561 มีมูลค่า 1.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยจุดแข็งของที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของไทยและบังกลาเทศ จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การค้า สินค้า บริการ และการลงทุน ได้รับการต่อยอดสู่ภูมิภาคใกล้เคียง โดยไทย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บนจุดเชื่อมต่อทางบก และทางทะเลของอาเซียน และมีโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบรองรับการลงทุนผ่านโครงการพัฒนาเขต เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะสามารถเป็นจุดกระจายสินค้าของบังกลาเทศสู่อาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออก ขณะเดียวกัน บังกลาเทศ ซึ่งตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ของมหาสมุทรอินเดีย และเป็นส่วนหนึ่งของ ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางของจีนที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย เอื้อต่อการเป็นประตการค้าให้กับสินค้าและบริการของไทยสู่ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยไทยผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายเร่งรัดการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองของไทยและท่าเรือจิตตะกองของบังกลาเทศเพื่อเป็นช่องทางขนส่งสินค้าที่สำคัญระหว่างกัน