มหกรรมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ซึ่งก็คือการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ครั้งนี้จัดขึ้นที่ประเทศบราซิล ภายใต้ชื่อ "ริโอ 2016" ก็ได้ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ครั้งนี้นอกจากจะเป็นโอลิมปิกหนแรกบนทวีปอเมริกาใต้แล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่การแข่งขันกีฬาซึ่งปกติจะมีนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของแต่ละชาติเข้าร่วมแข่งขัน ทว่าปีนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ได้อนุมัติให้ "ทีมผู้ลี้ภัย" (Refugee Team) ซึ่งรวบรวมนักกีฬาที่ต้องพลัดจากบ้านเกิดเมืองนอนอันเนื่องมาจากภัยจากการสู้รบ ความไม่สงบภายในประเทศได้ร่วมแข่งขันแม้พวกเขาจะไม่มีทั้งทีมชาติ ธงชาติ หรือเพลงชาติ นายโทมัส บาช ประธานไอโอซี ระบุว่า "สิ่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของผู้ลี้ภัยทุกคนบนโลก และช่วยให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของวิกฤตผู้ลี้ภัยมากขึ้น มันยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังประชาคมโลกด้วยว่า ผู้ลี้ภัยก็เป็นเพื่อนร่วมโลกของพวกเรา และเป็นส่วนที่จะช่วยให้สังคมของเรางดงามมากขึ้น นักกีฬาผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะแสดงให้โลกได้เห็นว่า ท่ามกลางโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวงที่พวกเขาต้องประสบ พวกเขาสามารถมีส่วนช่วยเหลือสังคมได้ด้วยพรสวรรค์ ทักษะ และจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์อันเข้มแข็ง" นายโทมัส บาช ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) พูดคุยกับนักกีฬาทีมผู้ลี้ภัย ขณะรับประทานอาหารกลางวันที่หมู่บ้านนักกีฬา นักกีฬาทั้ง 10 คน ของทีมผู้ลี้ภัย ที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้เดินพาเหรดลงสู่สนามในพิธีเปิดการแข่งขันโดยได้รับเสียงปรบมือต้อนรับอย่างกึกก้อง รวมทั้ง นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ลุกขึ้นต้อนรับพวกเขา และเธอ โดยทั้งหมดมาจากที่ต่างๆ กันทั้ง ซีเรีย ซูดานใต้ เอธิโอเปีย และคองโก นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปรบมือต้อนรับนักกีฬาทีมผู้ลี้ภัยขณะเดินสู่สนามในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก ริโอ 2016 "ยูซรา มาร์ดินี" เด็กสาววัย 18 ปี เป็นนักว่ายน้ำที่มีพรสวรรค์ในกรุงดามัสคัส เมืองหลวงของซีเรีย และอนาคตที่จะรับใช้ชาติบ้านเกิดก็อยู่ไกล ใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ไปเรียน ไปซ้อมว่ายน้ำ หากไม่ใช่เพราะไฟสงครามที่ล้างผลาญแผ่นดินอยู่อาศัย จนทำให้เธอ และครอบครัวตัดสินใจหลบหนีเสี่ยงโชคไปหาทางเอาชีวิตรอดข้างหน้า เป้าหมายก็คือทวีปยุโรปเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ เธอและซาราห์ พี่สาวของเธอเดินทางผ่านเลบานอน และตุรกี ก่อนจะพยายามเดินทางต่อไปยังกรีซทางเรือ ทว่าเพียงแค่ 30 นาทีที่เรือล่องออกมาก็ปรากฏว่า เครื่องบนต์เรือเกิดขัดข้อง คนบนเรือส่วนใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็น ทั้ง 2 คนตัดสินใจกระโดดลงจากเรือ ช่วยกันว่ายน้ำในทะเลอีเจียนนานกว่า 3 ชั่วโมง โดยมีชะตาของ 20 ชีวิตอยู่ในมือ จนในที่สุดก็ลากเรือมาจนถึงเลส์บอส ยูซรา มาร์ดินี ชาวซีเรียที่ลี้ภัยการสู้รบออกจากบ้านเกิดเมืองนอน ลงแข่งว่ายน้ำในโอลิมปิกหนนี้ในฐานะนักกีฬาทีมผู้ลี้ภัย "พวกเรามีกันแค่สี่คนที่ว่ายน้ำได้ ฉันมีแค่มือเดียว เพราะอีกมือต้องถือเชือกที่ผูกติดกับเรือ หนึ่งมือกับ 2 ขาที่ขยับอยู่ราวสามชั่วโมงครึ่งในน้ำเย็น ร่างกายฉันประท้วงว่าเกือบจะไม่ไหวแล้ว ฉันไม่รู้เลยจริงๆ ว่าจะอธิบายได้อย่างไร" หลังจากขึ้นฝั่งที่เลส์บอส มาร์ดินี และพี่สาวก็เดินทางผ่านไปทางมาซิโดเนีย เซอร์เบีย ฮังการี และออสเตรีย ก่อนจะไปจบที่เยอรมนี ขณะนี้เธอลงหลักปักฐานในเบอร์ลิน และได้เข้าร่วมสโมสรว่ายน้ำอีกครั้ง ซึ่งผู้ฝึกสอนตระหนักเห็นศักยภาพของเธอในเวลารวดเร็ว และวางแผนจะให้เธอร่วมแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น แต่ประตูสู่โอลิมปิกของเธอมาถึงไวกว่าที่คาด ที่ริโอ 2016 ครั้งนี้ เธอลงแข่งในรายการฟรีสไตล์ และผีเสื้อ 100 เมตรหญิง นักกีฬาทีมผู้ลี้ภัยถ่ายรูปหมู่หน้ารูปปั้นพระเยซูคริสต์ ในนครริโอ เดจาเนโร ไม่ว่าผลงานของเธอจะเป็นอย่างไร จะได้เห็นเธอยืนบนโพเดียมหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือ สัญญาณของความไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และความตระหนักต่อปัญหาผู้ลี้ภัยไปสู่คนทั่วโลก มาร์ดินี กล่าวว่า บางทีเธออาจจะสร้างชีวิตใหม่ในเยอรมนี และเมื่อถึงวันที่แก่ตัวไป สันติภาพอาจจะกลับคืนสู่ซีเรีย เธอจะกลับบ้าน และแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ของเธอให้แก่เพื่อนร่วมชาติต่อไป "ไมเคิล เฟลป์ส คือต้นแบบของผม ผมหวังว่าจะมีโอกาสได้พบเขา และถ่ายภาพด้วยกันสักรูป" นี่คือสิ่งที่ "รามี เอนิส" วัย 25 ปี นักว่ายน้ำชาวซีเรียอีกคนที่ลงแข่งในทีมผู้ลี้ภัยหวัง ปัจจุบันลงหลักอยู่ที่ประเทศเบลเยียม เจ้าตัวบอกว่าการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้เหมือนเป็นฝันที่เป็นจริง และไม่อยากจะตื่นขึ้นมา "ผมอยากจะส่งผ่านเรื่องราวของผู้ลี้ภัยออกไป อยากให้ทุกคนได้รู้ว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหนสำหรับผู้ลี้ภัย หรือชาวซีเรีย หรือใครก็ตามที่เผชิญหน้ากับความไม่ยุติธรรมในโลก ผมอยากพวกทุกเขาว่าอย่ายอมแพ้ อย่าทอดทิ้งความหวัง" "มันอึดอัดใจที่จะต้องแข่งขันภายใต้ธงที่ไม่ได้เป็นธงของประเทศตัวเอง ผมหวังว่าโอลิมปิก 2020 ที่โตเกียว จะไม่มีผู้ลี้ภัยแล้ว เราจะสามารถกลับบ้านได้ ไม่มีอะไรที่ใจผมจะปรารถนายิ่งไปกว่าบ้านเกิดอีกแล้ว" นี่คือความสวยงามที่เกิดขึ้นในโอลิมปิกหนนี้ แต่โลกนี้จะสามารถสวยงามยิ่งกว่าเดิม หากทุกที่มีสันติภาพ ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หวังว่าความหวังนั้นของทุกคนจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม นักกรีฑาจากทีมผู้ลี้ภัยขณะซ้อมวิ่งตามถนนเปื้อนฝุ่นในกรุงไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งพวกเขาจะเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกหนนี้เพื่อส่งสัญญาณไปยังประเทศบ้านเกิดให้ยุติความรุนแรง และให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาผู้ลี้ภัย