นัดดีเดย์จิตอาสาพระราชทานโคราชลุยรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำตะคองตอนบน พบ 447 แห่ง ทั้งโรงแรมรีสอร์ต บ้านผู้มีอันจะกินแย่งน้ำลำตะคอง เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ม.ค.63 ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา พลเรือเอกปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ผอ.ศอญ.จอส.พระราชทาน) เป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินการสำรวจสิ่งล่วงล้ำลำน้ำลำตะคอง โดยมีพลโทธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 พร้อมนายอภินันท์ เผือกผ่อง รอง ผวจ.นครราชสีมา ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงผลการดำเนินงาน ฯ ในระเบียบวาระการหารือและการสรุปมอบแนวทางให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และเป็นรูปธรรม นายชยุธพงศ์ อำรุงสุข ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำลำตะคอง เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำมูล มีต้นน้ำมาจากผืนป่ามรดกโลกแห่งที่ 5 ดงพญาเย็น เขาใหญ่ และเป็นแหล่งน้ำอุปโภค บริโภคที่สำคัญรวมทั้งมีประโยชน์ใช้สอยต่อการดำรงชีพของประชาชนกว่า 4 แสนคน ในพื้นที่ อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ อ.เมือง และ อ.เฉลิมพระเกียรติ การสำรวจลำตะคองตอนบน ซึ่งเป็นเส้นทางคลองน้ำธรรมชาติพื้นที่ อ.ปากช่อง เริ่มจากศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ผ่านเทศบาลตำบล (ทต.) หมูสี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หมูสี อบต.ขนงพระ อบต.หนองน้ำแดง เทศบาลเมือง (ทม.) ปากช่อง อบต.หนองสาหร่าย ก่อนไหลลงเขื่อนลำตะคอง ที่ อบต.จันทึก รวมความยาวตลอดลำน้ำ 219 กิโลเมตร พบสิ่งกีดขวางทั้งสิ้น 447 แห่ง และการลักลอบปล่อยน้ำเสียและทิ้งขยะมูลฝอยลงลำตะคอง โดยพบท่อระบายน้ำจำนวน 53 ตัว และขยะ สิ่งปฏิกูลรวมทั้งวัชพืชลอยบนพื้นผิวน้ำหลายจุด ส่งผลให้เส้นทางลำตะคอง บางจุดตื้นเขินและแคบรวมทั้งคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม นางวิมลมาน สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราชสีมา ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานตามคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ 12406/2562 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 กล่าวว่า ได้กำหนดแผนปฏิบัติการดังนี้ กรณีสิ่งปลูกสร้างมีใบอนุญาต แยกเป็นให้รื้อถอนและคงไว้แต่ต้องปรับปรุงให้เหมาะสม หากไม่มีใบอนุญาต ต้องรื้อถอนพร้อมแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 118 อัตราโทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือได้รับอนุญาตแต่ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ที่รุกล้ำอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยระวางโทษปรับเป็นรายวันละไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าท่าหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ก่อนดำเนินการให้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อกฎหมายและให้ความรู้ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งผู้นำชุมชนและนัดประชุมทำความเข้าใจกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองในแต่ละพื้นที่ โดยให้เวลารื้อถอน 2 สัปดาห์ หากเพิกเฉยจะต้องดำเนินการตามอำนาจ หน้าที่ต่อไป ด้านนายอภินันท์ ฯ รอง ผวจ.นครราชสีมา กล่าวสรุปข้อสั่งการ ว่า 1.ที่ประชุมรับทราบข้อมูลการสำรวจสิ่งล่วงล้ำลำน้ำลำตะคองตามที่ที่ประชุมเสนอ จำนวน 447 แห่ง 2.รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน (กลางน้ำและปลายน้ำ) 3.การดำเนินการรื้อถอนระยะแรกดำเนินการในวันที่ 14 มกราคม จำนวน 3 แห่ง เป็นฝายน้ำพื้นที่ อบต.หมูสี และปลายเดือนมกราคม 2 แห่ง ในพื้นที่ อบต.ขนงพระ และดำเนินการต่อไป อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 4.การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำพื้นที่ลำตะคองตอนล่าง ช่วงไหลผ่านอำเภอเมือง นครราชสีมา เริ่มดำเนินการต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ 5.การพิจารณาใช้แผนที่ของกองบิน 1 และ DSI ในการบริการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ 6.การแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ชลประทานของบ่อเลี้ยงปลา ฟาร์มเลี้ยงจระเข้ 7.การพัฒนาและฟื้นฟูลำน้ำ มอบหมายหน่วยงานในพื้นที่ผู้รับผิดชอบ โดยศูนย์จิตอาสา ฯ จังหวัดและภาค 2 เป็นหน่วยสนับสนุน 8.การบริหารจัดการน้ำแล้ง โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน 9.การใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า 10.ใช้นวัตกรรมเพื่อนำน้ำใต้ดินมาใช้ประโยชน์11.การแก้ไขปัญหาภัยแจ้งด้วยจิตอาสาพระราชทาน ขอให้ดำเนินการให้เป็นรูปธรรม12.การนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร และ 13.รณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดโดยจิตอาสาพระราชทาน