ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จัดประเด็น “สื่อสาส์นกัญชา:สมาคมแพทย์” พร้อมหน่วยงานสมาคมแพทย์ฯ รวมตัวกันเรียกร้องต้านการใช้สารสกัดจากกัญชา โดยมีเหตุผลให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจมากยิ่งขึ้น ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า การใช้กัญชาทางการแพทย์ ยังเป็นที่ถกเถียงในทางการรักษาของประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับสมาคมแพทย์วิชาชีพในแขนงต่างๆ มาร่วม “สื่อสาส์นกัญชา: สมาคมแพทย์” เพื่อให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจมากยิ่งขึ้น ผศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงยาที่ใช้ป้องกัน รักษาผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็ง มีประสิทธิภาพสูงแต่สารสกัดจากกัญชาที่ใช้ศึกษาในต่างประเทศยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนพอที่จะสนับสนุนการใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ดังนั้น การเริ่มใช้สารสกัดจากกัญชา อาจเริ่มได้ต่อเมื่อได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่า ไม่สามารถให้การรักษาที่จำเพาะต่อโรค ที่จะช่วยบรรเทาอาการให้กับผู้ป่วยได้ และใช้ยาแผนปัจจุบันในการบรรเทาอาการ เต็มที่แล้วไม่ได้ผล ในเรื่องอาการปวดจากมะเร็ง พิจารณาเป็นการรักษาเสริมกับยาแก้ปวดแผนปัจจุบัน เมื่อได้รับยากลุ่มโอปิออยด์ในขนาดสูงแล้วยังควบคุมอาการปวดไม่ได้ ส่วนการใช้สารสกัดจากกัญชากับการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ และการทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น พบว่ายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพสำหรับการใช้สารสกัดจากกัญชาในปัจจุบัน นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้เป็นการรักษาจำเพาะสำหรับโรคมะเร็งที่มีแนวทางการรักษามาตรฐานอยู่แล้ว เนื่องจากการศึกษาในมนุษย์ยังไม่แสดงประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมะเร็งชัดเจน และการศึกษาส่วนใหญ่ยังทำในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการใช้กัญชาสามารถนำมาใช้ต้านโรคมะเร็ง มีแค่หลักฐานที่จำกัดว่ากัญชามีฤทธิ์บรรเทาความเจ็บปวดหรือลดคลื่นไส้อาเจียนได้ เมื่อเปรียบเทียบกับยาขนานเก่าที่ไม่ใช่มาตรฐานในปัจจุบัน ข้อควรพิจารณาเนื่องจากสารสกัดจากกัญชายังขาดข้อมูลด้านเภสัชวิทยาในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจริง จึงทำให้การใช้ยาในทางปฏิบัติมีข้อจำกัดและความเสี่ยง ดังต่อไปนี้ 1.สารสกัดจากกัญชามีผลข้างเคียงสูง โดยเฉพาะมีผลต่อความสามารถในด้านการรับรู้และการตัดสินใจ (cognitive function) 2.ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับขนาดยาที่เหมาะสมต่อการรักษาตามข้อบ่งชี้ดังกล่าวและความเป็นพิษของยา นอกเหนือจากนั้น อายุรแพทย์โรคมะเร็งส่วนใหญ่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการใช้ และไม่มั่นใจในความปลอดภัยของยาดังกล่าวในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และ3.มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กังวลในการนำสารสกัดจากกัญชา ไปใช้ผิดข้อบ่งชี้ (drug abuse) เนื่องจากยากต่อการควบคุมในการใช้ ศ.นพ.วิชัย อิทธิชัยกุลฑล กรรมการบริหารสมาคมการศึกษาเรื่องความเจ็บปวดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อระงับปวดจากมะเร็งในปัจจุบันมีหลักฐานการวิจัยอยู่ในระดับดีเล็กน้อยถึงปานกลาง แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากกัญชาบางชนิดมีผลระงับปวดจากมะเร็งดีกว่ายาหลอก แต่ไม่เหนือกว่ายาระงับปวดจากมะเร็งกลุ่มโอปิออยด์ และพบผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นตามปริมาณของสารสกัดจากกัญชาที่ใช้ การใช้สารสกัดจากกัญชาในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองเพื่อควบคุมอาการจากโรคมะเร็งอยู่ในระดับต่ำ โดยพบว่าการใช้สารสกัดจากกัญชาทำให้ผู้ป่วยมะเร็งอยากอาหารและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่ให้ผลไม่แตกต่างจากยาหลอกในด้านการนอนหลับ อารมณ์เศร้าและคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งแพทย์และผู้ป่วยควรตระหนักถึงผลข้างเคียงจากการใช้สารสกัดจากกัญชาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น มึนศีรษะ ง่วงซึม สับสน ซึ่งอาจกระทบต่อเป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองหรือลดคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้ ส่วนการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อลดอาการปวดจากความผิดปกติของเส้นประสาท ปัจจุบันยังขาดหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากกัญชามีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดจากความผิดปกติของเส้นประสาทได้ดีกว่าการรักษาตามมาตรฐาน แต่พบว่าสารสกัดจากกัญชาทำให้เสี่ยงเกิดผลข้างเคียงสูงกว่า จึงไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดจากกัญชาทดแทนการรักษาตามมาตรฐาน การใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อลดอาการปวดจากโรคปลอกประสาทระบบประสาทส่วนกลางที่เกิดจากโรคมัลติเพิลสเตอโรซีส หรือ เอ็มเอส มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้เพื่อลดอาการเกร็งและอาการปวดจากโรคปลอกประสาทระบบประสาทส่วนกลางที่เกิดจากโรคเอ็มเอส แต่ไม่แนะนำให้ใช้เป็นการรักษาเบื้องต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำและการรักษาด้วยวิธีอื่น ทั้งรักษาโดยไม่ใช้ยาหรือใช้ยารักษาตามมาตรฐานก่อน หากไม่ได้ผลหรือเกิดผลข้างเคียงจากการรักษา จนไม่สามารถใช้ยาดังกล่าวได้ จึงจะพิจารณาใช้สารสกัดจากกัญชา โดยต้องมีการประเมินผู้ป่วยอย่างละเอียดรอบคอบและให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ป่วยและ / หรือ ญาติก่อนการใช้สารสกัดจากการกัญชา และเฝ้าติดตามอาการเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ การใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อลดอาการปวดเรื้อรังจากกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยภาวะปวดที่มีสาเหตุจากระบบข้อต่อ กระดูกและเอ็น ส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อการรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติเฉพาะโรค เช่น เข่าเสื่อม ไหล่ติด อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มโรคไฟโบรมัยอัลเจีย ซึ่งไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาตามแนวทางการรักษาในปัจจุบัน จากการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ข้อสรุปที่ไม่แน่ชัดถึงประโยชน์ของสารสกัดจากกัญชาในการระงับปวดเมื่อเปรียบเทียบกับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องติดตามหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ การใช้สารสกัดจากกัญชาต้องระวังการเกิดปฏิกริยาระหว่างยากับยาแก้ปวดตัวอื่นที่ผู้ป่วยใช้ด้วย ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ กรรมการบริหารสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “กัญชากับการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี” นั้น 1. กัญชาในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ปัจจุบันมีการใช้กัญชามากขึ้นเนื่องจากมีการเปิดโอกาสผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ให้เข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาจึงมีบทบาทเพิ่มขึ้นในหลายๆ โรค ในขณะเดียวกันผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีและผู้ดูแลรักษาคนกลุ่มนี้ในไทยควรต้องทราบข้อควรระวังในการใช้กัญชาในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี 2.ความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้กัญชาในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เนื่องจากปัจจุบันการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีมีชีวิตได้นานขึ้นใกล้เคียงหรือเท่าคนปกติและไม่แพร่กระจายเชื้อ 3.ถึงแม้มีการศึกษาพบว่ากัญชาลดการอักเสบในร่างกายและอาจลดปริมาณไวรัสได้เร็วในผู้ที่กำลังรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีด้วยกัญชาทำให้ระดับไวรัสต่ำได้นาน ระดับภูมิคุ้มกันหรือซีดีสี่สูงขึ้นและชีวิตผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวียืนยาวมากขึ้นเมื่อเทียบกับรักษาด้วยยาต้านมาตรฐาน ดังนั้น ปัจจุบันการรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุด หากใช้กัญชาร่วมกับยาต้านไวรัสที่ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีกำลังได้รับอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้ระดับยาต้านบางตัวลดลงอย่างมาก เช่น ยากลุ่ม protease inhibitor บางตัว จนอาจทำให้การรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ผล นอกจากนี้ กัญชา อาจทำให้อาการทางระบบประสาทมากขึ้นในผู้ที่ได้รับยาต้านไวรัสบางชนิด และมีการศึกษาที่พบว่าผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีหากสูดกัญชาทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ปอดได้มากขึ้น คำแนะนำเกี่ยวกับบทบาทของกัญชาในการใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ควรใช้รักษาแบบประคับประคองเฉพาะในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีระยะสุดท้ายหรือมีโรคร่วมอื่นเท่านั้น เช่น ช่วยลดอาการปวด วิตกกังวล เบื่ออาหาร ในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่เป็นโรคมะเร็งร่วมด้วย และควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเนื่องจากกัญชาอาจมีผลต่อระดับยาต้านไวรัสที่ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีกำลังได้รับอยู่ อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยกลุ่มนี้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสยังมีประโยชน์มากกว่า และต้องรอข้อมูลการศึกษาของประสิทธิภาพและผลข้างเคียงระยะยาวในการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวี ในขณะนี้แนะนำให้เลี่ยงใช้กัญชาในผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ในรายที่ได้รักษาด้วยยาต้านอยู่แล้วไม่ควรหยุดยาต้านเพื่อไปใช้กัญชาอย่างเด็ดขาด ด้านผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ กรรมการบริหารสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ภาวะพิษจากกัญชาและสารสกัดกัญชา” นั้น กัญชาเป็นพืชล้มลุกที่มีหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์และวิธีการปลูกส่งผลให้มีปริมาณสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยสารที่มีฤทธิ์เสพติด ทำให้เกิดอาการเมาเคลิ้ม และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทางจิตเวชคือ delta 9-tetrahydrocannabinol (delta 9-THC) ขณะที่สารอีกชนิดคือ cannabidiol (CBD) ไม่มีฤทธิ์เสพติด และช่วยต้านอาการเมาเคลิ้มจาก delta 9-THC กัญชาที่มีผู้นำมาใช้เสพเพื่อความรื่นเริงจนบางครั้งเสพติดนั้น มักเป็นชนิดที่มีปริมาณของสาร delta9-THCสูงและมี ปริมาณของ CBD ต่ำ สารในกัญชาสามารถผ่านจากแม่สู่ลูกในครรภ์ และสามารถผ่านลงในน้ำนมได้ 2. ความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะพิษจากกัญชาและสารสกัดกัญชา ภาวะพิษเฉียบพลันจากกัญชาที่มี delta9-THCสูง จะทำให้เกิดอาการเด่นทางระบบประสาท และอาการระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาการเมาเคลิ้ม สับสน ประสาทหลอน หมดสติ เดินเซ กล้ามเนื้อกระตุก เจ็บแน่นหน้าอก อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ หัวใจล้มเหลว และอาจกระตุ้นภาวะหัวใจขาดเลือดได้ นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ ภาวะพิษเฉียบพลันจาการกัญชาที่มี CBDเด่นจะมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ง่วงซึม การนำสารสกัดกัญชามาสูบผ่านอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าสัมพันธ์กับการเกิดปอดอักเสบซึ่งอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ กัญชาและสารสกัดกัญชาอาจเกิดอันตรกิริยากับยาอื่นๆ ได้ ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาและสารสกัดกัญชาได้ การใช้กัญชาในระยะยาวเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคและภาวะต่างๆ เช่น อาการทางจิต โรคเส้นเลือดสมองตีบ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดส่วนปลายตีบ โรคถุงลมโป่งพอง เนื้อสมองฝ่อ ค่าการทำงานของตับผิดปกติ มะเร็งอัณฑะ และการท้องนอกมดลูก การกัญชาใช้ในเด็ก วันรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้นส่งผลเสียของการเจริญและพัฒนาการของระบบประสาท 3.คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารสกัดกัญชา การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ควรเป็นไปตามข้อบ่งชี้ที่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานรองรับสมควรจ่ายและติดตามดูแล โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองว่ามีสิทธิ์ในการจ่ายสารสกัดกัญชาเท่านั้น และก่อนการจ่ายสารสกัดกัญชาควรมีการประเมินข้อบ่งใช้ ข้อห้าม ความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงและอันตรกิริยาระหว่างยาและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติเสมอ และบุคคลทั่วไปที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ไม่ควรใช้กัญชา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางจิตเวช สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร หรือสตรีผู้วางแผนจะบุตร และไม่สมควรให้มีการใช้สารสกัดกัญชากับบุหรี่ไฟฟ้า