พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ วันศุกร์ที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ ชั้น ๓ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/ประธานกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ประธาน นปท.) เป็นประธานการประชุมโดยมี พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม นายวราวุธ​ ศิลปอาชา รมต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ เข้าร่วมการประชุม และมี พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งมีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล คณะอนุกรรมการดังกล่าว มีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและจัดการความรู้เกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลแก่คณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นกลไกทางวิชาการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งรับทราบความคืบหน้าในการจัดทำอนุบัญญัติรองรับพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลฯ โครงสร้าง อัตรากำลังและแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๓ – ๒๕๖๕ ของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ​ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบ ร่างคำสั่งคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาและจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมี ศาสตราจารย์ เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน นปท. เป็นประธานอนุกรรมการฯ และมอบให้ฝ่ายเลขานุการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกรรมการไปปรับปรุงแก้ไข และตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป ​พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี/ประธาน นปท. ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการขับเคลื่อนกลไกภายใต้พระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันให้การสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่าง มีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการ สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และสามารถปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างยั่งยืน การปฏิบัติงานของ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. จะเป็นไปเพื่อรักษาสิทธิและอำนาจอธิปไตยทางทะเลของชาติ ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม อันทำให้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถใช้บังคับในเขตทางทะเลได้อย่างครอบคลุม. ซึ่งผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่ปัจจุบันมีอยู่อย่างมากมายในทุก ๆ ด้าน ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักรที่มีมูลค่ารวมมากกว่า ๒ ล้านล้านบาทต่อปี ทั้งผลประโยชน์ของชาติทางทะเลทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร หรือด้านสิ่งแวดล้อม ศรชล. จะเป็นหน่วยงานที่มีเอกภาพในการบังคับบัญชา และบูรณาการ ประสานการปฏิบัติงานในเขตทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาและภัยคุกคามทางทะเล ซึ่งแบ่งออกเป็น ๙ ด้าน อันได้แก่ การกระทำอันเป็นโจรสลัด และการปล้นเรือโดยใช้อาวุธ การทำการประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) การค้ามนุษย์และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทางทะเล การลักลอบขนยาเสพติด อาวุธ และสินค้าเลี่ยงภาษีศุลกากร การลักลอบค้า ลำเลียงสินค้าสองวัตถุประสงค์ตามข้อห้ามของสหประชาชาติ เหตุการณ์ร้ายแรงทางทะเล การก่อการร้ายทางทะเล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์จากทะเลที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยต่อระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เป็นลักษณะผสมผสานหลายด้านเข้าด้วยกัน อาทิเช่น การสร้างบ้านในทะเล หรือ The Seasteading Institute (TSI) ซึ่งการรับมือปัญหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่นั้น เป็นความจำเป็นที่จะต้องมี ศรชล. เพื่อรับผิดชอบการบูรณาการในการปฏิบัติ ดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ให้มีเอกภาพ บูรณาการ และประสานการปฏิบัติงานในเขตทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ