นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน จากการทำมาตลอด 2-3 ปี จนได้รูปเล่ม แนวความคิด กรอบความคิด และนำเสนอไปถึงนายกรัฐมนตรี ก่อนส่งต่อส่วนงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตั้งข้อสังเกตุ ซึ่งได้ปรับปรุงเอกสารตามข้อสังเกตุของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีส่งแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ.2560-2564 แล้ว เพื่อนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา หลังจากผ่านครม.ก็จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคุยกับสภาเกษตรกรฯ เรื่องการทำแผนงานตามแผนแม่บทนั้น เรื่องใดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนินการ เช่น เรื่องการตลาด การแปรรูป สภาเกษตรกรแห่งชาติก็พร้อมเข้าไปสนับสนุน เรื่องไหนที่สภาเกษตรกรฯสามารถทำได้ก็อาจเรียกร้องการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้งานทุกงานตามแผนสามารถบรรลุเป้าหมาย จากนี้ไปเกษตรกรทั้งประเทศสามารถมีแผนแม่บทของตัวเอง ซึ่งนับเป็นฉบับแรก ถ้าเป็นแบบนี้เกษตรกรจะทำงานอย่างมีทิศทางมีหลักการ จะไม่สับสนในการเปลี่ยนแปลงการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่ การตลาดกับเครือข่ายเกษตรกรที่พร้อมมาเป็นพี่เลี้ยงในการสนับสนุน สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่และเป็นทางรอดของเกษตรกรในระยะยาว นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ “ทั้งนี้ เมื่อผ่านการพิจารณาจากครม.แล้ว ก็ต้องเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในฐานะสภาเกษตรกรฯ เป็นต้นเรื่อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เพื่อที่จะมาจำแนกงานตามแผนแม่บทว่า แต่ละงานหน่วยงานควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนต่อไป” ประธานสภาเกษตรกรฯ กล่าว