นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ต้องขัง เป็นอีกหนึ่งกลุ่มของผู้ที่ด้อยโอกาสที่ไม่ได้รับการดูแลและเข้าถึงบริการสุขภาพตามสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์พึงได้ จากข้อมูลจากสถิติผู้ต้องขังราชทัณฑ์ทั่วประเทศของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2562 พบว่า จำนวนผู้ต้องขังมีมากถึง 362,000 คน ด้านสภาวะสุขภาพช่องปากของผู้ต้องขัง นั้น พบว่าผู้ต้องขังมากกว่าร้อยละ 80 มีปัญหาสุขภาพฟันและช่องปาก โดยโรคฟันผุ และโรคปริทันต์มีอุบัติการณ์ระดับที่สูง สาเหตุของการเกิดปัญหาอาจเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งในเรื่องพฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพของตัวผู้ต้องขัง สภาพแวดล้อมภายในของเรือนจำ ความแออัดและทรัพยากรที่มีจำกัด รวมถึงการเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ยาก ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง รูปแบบการจัดบริการส่งเสริมทันตสุขภาพผู้ต้องขังผู้สูงอายุและก่อนวัยสูงอายุ ภายใต้โครงการพระราชดำริ “ราชทัณฑ์ ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขึ้น เพื่อส่งเสริมทันตสุขภาพในกลุ่มก่อนวัยสูงอายุให้มีความพร้อมในการดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น การสร้างหรือพัฒนารูปแบบการจัดบริการส่งเสริมทันตสุขภาพผู้ต้องขังผู้สูงอายุและก่อนวัยสูงอายุโดยมี ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้รับผิดชอบงานทันตสาธารณสุขจากศูนย์อนามัย สถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลแม่ข่ายใน 13 จังหวัดนำร่อง เจ้าหน้าที่จากสำนักทันตสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันจัดบริการสุขภาพช่องปากสำหรับผู้ต้องขังได้อย่างทั่วถึง “สำหรับแนวทางและมาตรการในการจัดบริการสุขภาพช่องปากผู้ต้องขัง ดังนี้ 1) สนับสนุนองค์ความรู้และสื่อการเรียนการสอนทันตสุขภาพให้แก่ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำ 2) พัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ (อสรจ.) เป็นผู้ช่วยเหลือเพื่อนผู้ต้องขังในการดูแลสุขภาพช่องปาก 3) พัฒนารูปแบบและนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมกับผู้ต้องขังและบริบทของเรือนจำ และ 4) เพิ่มการจัดบริการ ส่งเสริม รักษา ป้องกัน และฟื้นฟู สุขภาพช่องปาก เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานตามความจำเป็นในชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมในหน่วยบริการสถานพยาบาลเรือนจำ โดยตั้งเป้าหมายผู้ต้องขังสามารถได้รับบริการมากกว่า 12,000 คน ในระยะเวลา 1 ปี” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว ทางด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับผู้ต้องขัง ควรยึดหลัก 2-2-2 คือ แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยเน้นช่วงก่อนนอน แปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที ให้สะอาดทั่วทั้งปาก ทุกซี่ ทุกด้าน และไม่กินขนม หรืออาหารหวานหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำความสะอาดได้มากกว่า และเน้นให้ผู้ต้องขัง ‘รู้ เลือก เลี่ยง’ มีความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปาก เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและฟัน หลีกเลี่ยงปัจจัยและพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก นอกจากนี้ การสร้างหรือพัฒนารูปแบบการจัดบริการส่งเสริมทันตสุขภาพผู้ต้องขังผู้สูงอายุและก่อนวัยสูงอายุ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือ จากภาคีเครือข่ายเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนสามารถเข้าถึงบริการรักษา ส่งเสริม ฟื้นฟู สุขภาพช่องปากได้ตามสิทธิขั้นพื้นฐานและเท่าเทียมตามหลักมนุษยธรรม และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ