เป้าหมายหนึ่งที่เป็นหัวใจในการทำงานและได้ย้ำมาโดยตลอดคือ การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เพราะเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพถ้าเราเข้าไปปลดล็อคหรือส่งเสริมให้ตรงจุด และที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เศรษฐกิจของประทศ แม้จะมีความผันผวนจากภายนอกเกิดขึ้นก็ตาม สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานเปิดเผยว่า การดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในช่วงที่ผ่านมาว่า ในช่วงที่ได้เข้ามาทำงานในกระทรวงพลังงานนั้นได้ผลักดันผลงานให้บรรลุเป้าหมายไม่เพียงแต่ด้านพลังงานเท่านั้น แต่ยังมองว่าต้องบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทั่วถึง มั่นคง สร้างรายได้ให้ประเทศ การสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดภาระค่าครองชีพ ลดความเหลื่อมล้ำ ยกบทบาทไทยเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานในภูมิภาค รวมถึงส่งเสริมพลังงานสะอาดและลดมลพิษจากการใช้พลังงาน สำหรับผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมาที่เป็นรูปธรรมได้แก่ 1.การส่งเสริมให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐาน ซึ่งช่วยสร้างสมดุลของดีมานด์และซัพพลายของปาล์มน้ำมันให้เกิดขึ้นในระยะยาว โดยช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่า ปาล์มน้ำมันถูกยกระดับราคาอยู่ที่กิโลกรัมละเกือบ 6 บาท 2.โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป้าหมายเพื่อประชาชนในท้องถิ่นและเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ โดยมีกลไกของเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครื่องมือหนึ่งมาร่วมพัฒนาทำให้เกิดเป็นรูปธรรม อาจมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนนั้นขอเน้นย้ำว่ากลไกคัดเลือกต่างๆได้มอบนโยบายไว้แล้วว่า ต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ไม่เกิดข้อครหาแต่อย่างใด 3.การช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนด้านพลังงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเป็นค่าใช้จ่ายสำคัญของประชาชน จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือนในประเทศไทยสูงถึงประมาณ 2,280 บาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ช่วยลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ทั้งการตรึงราคาก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัมไว้ที่ 363 บาทต่อถัง ช่วยตรึงค่า Ft ช่วง 4 เดือนแรกของปีหน้า และการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินและกลุ่มดีเซลลิตรละ 1 บาทเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 62-10 ม.ค.63 เพื่อเป็นการส่งเสริมการเดินทางช่วงปีใหม่ ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ที่กระทรวงพลังงานมอบให้ประชาชน 4.การสร้างบทบาทนำด้านพลังงานในเวทีนานาชาติ โดยปี 2562 ที่ผ่านมาไทยเป็นประธานอาเซียน และเป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยไทยมีภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางอาเซียนสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงระบบฟ้าจากตะวันตกไปตะวันออก จากเหนือไปใต้เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจ โดยการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่ผ่านมาเพิ่มกรอบการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซียขึ้นอีกเป็น 300 เมกะวัตต์ 5.การสร้างรายได้เข้าสู่ภาครัฐ โดยปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บรายได้จากกิจการปิโตรเลียมเข้าสู่ภาครัฐจำนวน 166,332 ล้านบาท ค่าภาคหลวง 45,555 ล้านบาท เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,151 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 12,688 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ในปี 2563 กระทรวงพลังงานได้วางทิศทางการดำเนินการด้านพลังงานไว้ 3 ด้านหลักๆ คือ ด้านเศรษฐกิจฐานราก/การช่วยค่าครองชีพประชาชน จะเร่งผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก ขับเคลื่อนโครงการชุมชนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอาทิ สถานีพลังงานชุมชุน และที่เร่งด่วนคือ โครงการสูบน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสู้ภัยแล้ง การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซให้มีความเป็นธรรม การส่งเสริมการใช้ B10 ให้กว้างขวาง และบริหารน้ำมันปาล์มดิบในภาคพลังงานอย่างเป็นระบบ สำหรับด้านความเข้มแข็งทางพลังงาน จะทบทวนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว (TIEB) ให้พร้อมเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ภายในไตรมาสแรกของปีหน้า การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การผลักดันการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)และค่าไฟฟ้ารถ EV และรถไฟฟ้าสาธารณะ ขณะที่บทบาทนำในภูมิภาค โดยกำหนดกรอบเพื่อการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลาง LNG ซึ่งคาดว่าจะสามารถเกิดการซื้อขายได้จริงภายในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า "SUPER"รุกโซลาร์เต็มสูบ นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัทซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ SUPER เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.62 บริษัทได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD)ในโครงการโซลาร์ฟาร์มโครงการ Sinenergy Ninh Thuan ในประเทศเวียดนามให้การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิต 50 เมกกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นเป็น 236.72 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดจำนวน 5 โครงการในเวียดนาม ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายการลงทุนในต่างประเทศ และเมื่อรวมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทย่อยของ SUPER ในประเทศไทยที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน768.60 เมกกะวัตต์จะทำให้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,005.32 เมกกะวัตต์ ทั้งนี้ในส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตรวม 422 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีความพร้อมเริ่มทยอยก่อสร้างแล้ว โดยแบ่งเป็นโครงการพลังงานกังหันลมทางทะเล ขนาดกำลังการผลิต 172 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมบนพื้นดิน กำลังการผลิตประมาณ 250 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่า จะดำเนินการ COD ได้บางส่วนในช่วงปลายปี63 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศมีแผนการขยายต่อเนื่อง เพื่อผลักดันรายได้มากขึ้น ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชนได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชน จังหวัดหนองคาย กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชน จังหวัดพิจิตร กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนจากขยะชุมชนที่จังหวัดนนทบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 20 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชนที่จังหวัดเพชรบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยพัฒนาโครงการตามแผนงานของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทได้ทำการขายไฟฟ้าโดยตรงให้กับลูกค้าในลักษณะ Private PPA โดยล่าสุดได้เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังการผลิตติดตั้ง 4.04 เมกะวัตต์ เพิ่มเติมจากเดิมที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่ง และอยู่ระหว่างการเจรจาผู้ประกอบการอีกหลายราย อย่างไรก็ตามในปี 63 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของการมีแหล่งรายได้ในระยะยาว รวมทั้งการมองหาโอกาสการขยายการลงทุนในประเทศอื่นๆเช่น มาเลเซีย,เมียนมา,ไต้หวัน ฯลฯ เพื่อไปมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่คือ การเป็นผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้กำลังการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 1,200-1,300 เมกะวัตต์ และ 2,000 เมกะวัตต์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน โดยในปีหน้าจะต้องเดินหน้าเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และจะปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาในโครงการโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆทั้งจากในและต่างประเทศและคาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี62 ไม่ว่าจะเป็นในส่วนอัตรากำไรสุทธิ หรือรายได้รวม ตั้งเป้าปี 63 รายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 20-25% จากปี62 และมียอด PPA อยู่ในระดับ 1,200-1,300 เมกะวัตต์ EPCOลุยโปรเจคใหญ่กว่าเดิม นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) (EPCO) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) (BGC) ได้ชำระเงินค่าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าเวียดนามกำลังการผลิตติดตั้งรวม 99.216 เมกวะวัตต์ ในส่วนที่เหลือ จำนวน 944.25 ล้านบาท จากที่ก่อนหน้าได้วางเงินมัดจำมาแล้ว 125.90 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น1070.15 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนที่กันไว้เป็นเงินประกันประมาณร้อยละ 15 ของราคาซื้อขายหุ้นและหนี้ครั้งนี้ และคาดว่าจะได้รับครบภายในเดือนมีนาคม 63 โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าว EPCO ลงทุนผ่านบริษัทอีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ EPCO (โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 75 ของหุ้นทั้งหมดใน EP) ทำการขายหุ้นและหนี้ของบริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (SPM)ให้แก่บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC มูลค่าประมาณ 1,259 ล้านบาท โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ เพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนรองรับแผนการขยายธุรกิจในอนาคต "ดีลนี้ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์สำหรับ EPCO โดยมีกำไรที่ได้จากการลงทุนในครั้งนี้ประมาณ 520 ล้านบาท จะบุ๊คเข้ามาทันทีในไตรมาส 4/62 ผลักดันให้ผลการดำเนินงานรอบปี 2562 สร้างสถิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังคงมองหาโอกาสขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าโปรเจคใหม่เพิ่มเติม ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานในปี 2563 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง" ทั้งนี้โรงไฟฟ้าในเวียดนามที่ขายให้กับ BGC เป็นการขายหุ้นและหนี้ทั้งหมด ซึ่งโครงการดังกล่าวทาง EP ได้เข้าไปลงทุนเมื่อราวปลายปี 2561 มีมูลค่าโครงการประมาณ 2,900 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ 65% และมาจากเงินลงทุน 35% ทั้ง 2 โครงการ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ Electricity of Vietnam (EVN) เป็นเวลา 20 ปีในอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Feed in Tariff หรือ FIT) ที่ 0.0935 เหรียญสหรัฐฯ/หน่วย หรือประมาณ 3.11 บาท/หน่วย โดย SPM ลงทุนในโปรเจคดังกล่าว 67% ใช้เงินลงทุนเพียงประมาณ 738 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ขายออกไปครั้งนี้ ทำให้ได้รับกำไรพิเศษจากการลงทุนประมาณ 520 ล้านบาท สำหรับบริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EP เป็นบริษัทย่อยของบริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด(มหาชน) หรือ EPCO โดยบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 75 ของหุ้นทั้งหมดใน EP ปัจจุบัน EP ถือหุ้นร้อยละ 100 ใน SPM และ SPM ถือหุ้นร้อยละ 67 ของหุ้นทั้งหมดในบริษัท Phu Khanh Solar Power Joint Stock Company (PKS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่ง PKS ประกอบกิจการธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 โครงการได้แก่ โครงการ Xuan Tho 1 และโครงการ Xuan Tho 2 มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 99.216 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดฟูเยี้ยน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม BGRIMเพิ่มศักยภาพแข่ง นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยขายหุ้น บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด (Glow SPP1) ซึ่งดำเนินโครงการโรงไฟฟ้า โกลว์ เอสพีพี 1 ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก(มาบตาพุด) จังหวัดระยอง จำนวนร้อยละ 25 จากเดิมที่ถืออยู่ทั้งหมดให้แก่บริษัทนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด มูลค่าซื้อขายรวม 825,000,000 บาท โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำอนุมัติของที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.62 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) บริษัทจึงเล็งเห็นความสำคัญของพื้นที่และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ารวม 280 เมกะวัตต์ภายใต้บริษัท Glow SPP1 ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับมุ่งเน้นการให้บริการที่มีคุณภาพอยู่ในมาตรฐานระดับโลก การมีหุ้นส่วนทางธุรกิจที่มีศักยภาพอย่างนิคมอุตสาหกรรมเอเซียจะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งของบริษัทในการขยายธุรกิจในพื้นที่อันมีศักยภาพในการเติบโต โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 2,892 เมกะวัตต์ จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 45 โครงการ และอยู่ระหว่างพัฒนาและก่อสร้างโครงการอีกหลายแห่งที่จะขยายกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 3,424 เมกะวัตต์ รวมทั้งอยู่ระหว่างการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศตามเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้ง 5,000 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในปี 2565 มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน "บ้านปู"รุกเปิดโซลาร์ฟาร์ม นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คุโรคาวะ ตั้งอยู่ที่จังหวัดมิยางิ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินท้องถิ่นในการพัฒนาโครงการและมีราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FIT) 36 เยนต่อกิโลวัตต์ จากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันบ้านปู เพาเวอร์ฯ มีกำลังผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2,894 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมาจากโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 2,189 เมกะวัตต์เทียบเท่า และอีก 705 เมกะวัตต์อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าที่คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 63 ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนานระยะที่ 3 ในจีน กำลังผลิต 52 เมกะวัตต์เทียบเท่า โครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง ระยะที่ 1 และ 2 ในจีน กำลังผลิต 396 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม ระยะที่ 1 กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นอีก 4 แห่ง รวม 57 เมกะวัตต์ สำหรับเป้าหมายใหม่ที่ 5,300 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 นั้น ส่วนแรกเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Base-Load Power Plant) รวม 4,500 เมกะวัตต์เทียบเท่า ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าที่บริษัทมีอยู่ ณ ปัจจุบันที่ใช้เทคโนโลยีระบบ Ultra-Super Critical (USC)ที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency,Low Emissions: HELE) บริษัทกำลังมองหาโอกาสในเวียดนาม และประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯอีกด้วย ขณะที่ส่วนที่สองเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวม 800 เมกะวัตต์จากการถือหุ้นร้อยละ 50 ผ่าน 'บ้านปู เน็กซ์' (Banpu NEXT) บริษัทใหม่ของกลุ่มบ้านปูฯที่จะเข้ามาบริหารจัดการธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่แล้ว 406.7 เมกะวัตต์ การเข้าถือหุ้นในบ้านปู เน็กซ์ นั้นนอกจากจะเพิ่มการเติบโตของกำลังการผลิตแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทสามารถเติบโตทางธุรกิจด้วยพอร์ตการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีด้านพลังงาน และระบบพลังงานอัจฉริยะ เป็นต้น "บ้านปู เพาเวอร์ฯ พร้อมเดินหน้าตามหลักความสมดุลด้านพลังงานของโลกและสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยความสามารถในการบริหารกระแสเงินสดอย่างแข็งแกร่งความสามารถในการบริหารพอร์ตลงทุนและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง ผนวกกับการผนึกพลังร่วมภายในและการปรับโครงสร้างใหม่ของกลุ่มบ้านปูฯ ทำให้บ้านปู เพาเวอร์ฯมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าและเทคโนโลยีด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ในปี 2568 ได้สำเร็จ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงแก่ผู้มีส่วนได้เสียตามที่เรามุ่งมั่นมาโดยตลอด"