อิทธิพลจากโลก Socialmedia ส่งผลต่อสุขภาพคนไทยโดยรวมในหลายมิติ ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของโรคที่เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เมื่อ Social Trend เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมด้านสุขภาพที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเด็กและเยาวชน ใน 10 ประเด็น จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ดังนี้ 1. แค่ “เครียด” หรือ “ซึมเศร้า” ความเสี่ยงสำคัญของผู้ป่วยซึมเศร้าคือ อาจนำไปสู่ “การฆ่าตัวตาย” ได้ จากผลการสำรวจพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 2.9 ล้านคน พบสาเหตุหลัก คือ หน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง ความรุนแรง ความสัมพันธ์ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เผย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ปี 2562 พบว่า ทุก 1 ชั่วโมงจะมีคนพยายามฆ่าตัวตาย 6 ราย โดยมีกลุ่มเด็กเยาวชนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จถึงปีละ 300 ราย และยังพบแนวโน้มการเข้ารับคำปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น สิ่งที่น่าสนใจจากการกระแสบนโลกออนไลน์พบว่า สาเหตุที่ทำวัยรุ่นเครียด อันดับ 1 มาจากปัญหาความสัมพันธ์โดยเฉพาะครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ซึ่งช่วงเวลาที่วัยรุ่นโพสต์ข้อความอยากฆ่าตัวตายมากที่สุดในสื่อทวิตเตอร์คือ วันอังคาร 4 ทุ่ม และวันศุกร์ 1 ทุ่ม หากช้อนความรู้สึกได้ทันจะสามารถลดความเสี่ยงจากการคิดสั้นได้ถึง 50% 2.ภัยคุกคามออนไลน์ ยิ่งเสพติดออนไลน์ยิ่งเสี่ยงสูง Gen Z (อายุน้อยกว่า 18 ปี) เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีใช้เวลาอยู่กับการท่องโลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 10.22 ชั่วโมงต่อวัน มีกิจกรรมอันดับ 1 คือ โซเชียลมีเดีย สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ ภัยคุกคามทางออนไลน์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจของ COPAT ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในปี 62 พบว่า เด็ก 31% เคยถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ 74% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจารทางออนไลน์ และ 25% เคยนัดเพื่อนที่รู้จักในออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มากยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ดังนั้น สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวและการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลจะช่วยป้องกันความเสี่ยงตั้งแต่ต้นทาง 3. "ชีวิตบนท้องถนน ทางเลือกทางรอดในการเดินทาง" แม้แนวโน้มการใส่หมวกกันน็อกจะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ถึง 50% โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลงจาก 32% ในปี 2553 เหลือเพียง 22% ในปี 2561 ขณะที่เด็กเล็ก 92% ไม่ใส่หมวกกันน็อก เหตุผลหลักคือ ความเคยชิน เดินทางระยะใกล้ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ โดยพบแนวโน้มการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังพบแนวโน้มการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเด็กเยาวชนจากมอเตอร์ไซด์เคลื่อนย้ายจากภาคที่มีรายได้สูงไปยังภาคที่มีรายได้ต่ำกว่า ในปี 2563 4.“กลัวท้องมากกว่าติดโรค” ปัญหาคุณแม่วัยใสลดลงมาก แต่ขณะเดียวกันอัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โรคที่พบมากที่สุดคือ โรคซิฟิลิส และหนองใน สาเหตุสำคัญคือ ไม่ใส่ถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จากสถิติพบว่าวัยรุ่นมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยสูงขึ้น แต่การใช้ถุงยางอนามัย “อย่างสม่ำเสมอ” ยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2561 พบว่า นักเรียนม.5 และ ปวช. 2 เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับแฟนมีการใช้ถุงยางทุกครั้งไม่ถึง 50% ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใช้ถุงยาง 100% ทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับพนักงานบริการ หญิงหรือผู้ชายอื่น เหตุผลที่วัยรุ่นไม่ใช้ถุงยางเมื่อเจาะลึกในโลกออนไลน์คือ ถุงยางราคาแพง อายไม่กล้าซื้อ ใช้วิธีอื่น เช่น ฝังยาคุมดังนั้น เพื่อลดการติดโรค สสส.ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้ปี 2563 คนไทย 90% ต้องเข้าถึงถุงยางอนามัย 5. E-Sport เส้นทางเด็กติดเกม-นักกีฬาอาชีพ “ E-Sport” กลายเป็น 1 ใน 5 อาชีพในฝันของเด็กไทย โดยGen Z และ Y มองว่า E-Sport เป็นเอนเตอร์เทนเม้นท์ มีผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโปรเพลเยอร์ได้ พบว่า เด็กและเยาวชนเกินครึ่งทุ่มเทและใช้เวลาไปกับเกมไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง การศึกษาพบว่า วินัยและการแบ่งเวลาเป็นเส้นแบ่งสำคัญระหว่างนักกีฬามืออาชีพกับเด็กติดเกม นอกจากนี้ยังพบการพนันออนไลน์ที่แฝงมาพร้อมกับการแข่งขัน 6.เปิดพฤติกรรมกินอยู่อย่างไทยวัยทำงาน ประเด็นที่น่าจับตาคือ “พฤติกรรมกินอยู่อย่างไทย” เนื่องจากการเสียชีวิต 3 อันดับแรกของคนไทยยังคงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อย่างโรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรค ผลการสำรวจ Top Post อาหารยอดนิยมในโลกออนไลน์ในปีที่ผ่านมาพบว่า รสเผ็ดและหวานยังคงเป็นรสชาติยอดนิยมของคนไทย วัยทำงานเน้นทานอาหารรสจัด วัยรุ่นเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัท กินผักไม่เพียงพอ เน้นหวาน มันเค็ม สูบบุหรี่ มลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรค NCDs เพราะ พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตจึงมีผลอย่างมากต่อการเกิดโรค เพื่อปรับพฤติกรรมการกิน สสส.จึงรณรงค์เพื่อปรับพฤติกรรมการกิน รวมถึงการทำงานเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้าถึงอาหารสุขภาพมากยิ่งขึ้น 7. กัญชา เมื่อใช้เป็น “ยา” รักษาโรค หลังจากที่กัญชาได้รับการปลดล็อคอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์เพื่อเป็นยารักษาโรค ซึ่งโรคที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ประกาศรับรองว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ในการรักษามีเพียง 4 โรคเท่านั้นคือ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา  ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และภาวะปวดประสาท ขณะที่โลกออนไลน์ที่ระบุถึงสรรพคุณในการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคไปไกลมากกว่าที่ได้มีการรับรอง ขณะที่งานวิจัยเรื่องกัญชายังมีอีกจำนวนมากจึงต้องมีการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป 8.ชัวร์หรือมั่ว- Fake News คนไทยกว่า 57 ล้านคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ข่าวลวง หรือ Fake News ปะปนอยู่ คนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อและแชร์ข่าวลวงเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว พบมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ สำหรับในกลุ่มผู้สูงอายุ ประเด็นที่น่าจับตาคือ "Fake News สุขภาพ" จากการสำรวจบนโลกออนไลน์พบว่า 5 ข่าวปลอมสุขภาพที่มียอดแชร์มากที่สุดคือ อังกาบหนูรักษามะเร็ง น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค ความฉลาดของลูกได้จากแม่มากกว่าพ่อ เพจที่เผยแพร่ข่าวปลอมแล้วได้รับยอดแชร์มากที่สุดส่วนมากเป็นเพจที่ตั้งชื่อเป็นสำนักข่าว แต่ไม่ใช่สื่อหลัก ส่วนเพจที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมและได้รับยอดแชร์มากที่สุด เป็นเพจสำนักข่าวเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น หมอแล็บแพนด้า ที่ไม่ใช่เพจสำนักข่าว แต่ได้รับยอดแชร์มากที่สุด 9.ชีวิตติดฝุ่นอันตราย PM 2.5 เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 5 ของประชากรโลกในปี 2558 องค์การอนามัยโลกประกาศให้ในปี 2559 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศ 7 ล้านคน ซึ่ง 91% เกิดในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก หากดูจากค่าความเข้มของฝุ่น PM 2.5 ในกทม. ย้อนหลังจะพบแนวโน้มฝุ่นพิษเกิดขึ้นในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. ซึ่งเด็กและผู้สูงอายุจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด จึงร่วมกับเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทยจัดทำข้อเสนอแนะในการจัดการฝุ่นตั้งแต่ต้นทางทั้งเขตเมือง ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม 10.อาหารขยะ อาหารส่วนเกิน จะจัดการอย่างไรใต้วิถีแบบไทยๆ “พฤติกรรมคนไทย ทำไมไม่แยกขยะ” 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้จะกลายไปเป็น “ขยะอาหาร” บางส่วนเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้และยังไม่มีวิธีการจัดการที่เป็นระบบ ความมั่นคงทางอาหารจึงกลายเป็นโจทย์สำคัญ คนไทยสร้างขยะอินทรีย์ที่บางส่วนเป็นขยะอาหารเฉลี่ยปีละ 254 กิโลกรัมเป็นอย่างน้อย มากกว่าชาวฝรั่งเศส 30% และมากกว่าชาวอเมริกัน 40% ขณะที่การจัดการขยะจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า การกำจัด โดยการเผา ฝังกลบ เป็นวิธีการที่หลายประเทศแนะนำให้ทำน้อยที่สุด ขณะที่ประเทศไทยใช้วิธีการนี้มากที่สุด ดังนั้น ภาครัฐ ในระดับนโยบายควรสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลดขยะอาหารและการนำอาหารที่ต้องทิ้งไปใช้ประโยชน์อื่นหรือนำไปบริจาคแทนการฝังกลบ