คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / ก๊วยเจ๋ง “จงปลูกความประทับใจไว้ในความทรงจำ” ผมเคยคิดที่จะตั้งชื่อบทความชุดนี้ว่า “ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ 19 ปีในความทรงจำ” เพราะผมได้รู้จักท่านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 จนถึง พ.ศ. 2538 อันเป็นปีที่ท่านถึงแก่อสัญกรรม โดยวางแนวของการเขียนไว้ว่า จะเขียนถึง “ความประทับใจ” ต่างๆ ในสมัยที่ได้อยู่กับท่าน ผ่านเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่ในความทรงจำนั้น แต่ก็มีเหตุให้ยังเขียนไม่ได้มาหลายปี จนกระทั่งได้รับเชิญจากสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ให้มาร่วมเชียนเมื่อ 6 ปีก่อน ก็อยากจะคิดชื่อเก๋ๆ พอที่จะให้ “เตะตาน่าสนใจ” อันเป็นที่มาของคำว่า “คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์” ที่ผมต้องการสื่อความถึง “ความเป็นครูบาอาจารย์” ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ผู้มีฉายาว่า “ซือแป๋แห่งซอยสวนพลู” ที่ถ่ายทอด “วิทยายุทธ์” ให้กับลูกศิษย์ที่ชื่อ “ก๊วยเจ๋ง” ผมมีความประทับใจในตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์หลายๆ เรื่อง ดังที่ได้เล่ามากว่า 200 เรื่องโดยลำดับนี้ จึงเกิดความคิดว่าเพราะเหตุใดตัวเองถึงมีความประทับใจในตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เอามากๆ โดยลำดับเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้น เทียบกับที่คนทั้งหลายที่มีความประทับใจในกันและกัน ว่าความประทับใจเหล่านั้นเกิดขึ้นจากสิ่งใดบ้าง ซึ่งผมพอจะสรุปมาได้ดังนี้ อย่างแรก ประทับใจด้วยสัมผัสแรก หมายถึงสัมผัสแรกที่เรารู้จักกับคนคณะ นั้น โดยทั่วไปก็คือการมองเห็น และการได้พูดคุย สำหรับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ในวันแรกที่ผมได้รู้จักท่าน ผมรู้สึก “ผิดคาด” เป็นอย่างมาก เพราะจากข่าวสารที่ผมได้รับรู้มาจากสื่อต่างๆ ทำให้เชื่อไปก่อนผมว่าท่านเป็นคน “ดุร้าย” แต่พอได้เจอตัวจริงกลับตรงกันข้าม ภาพแรกที่เห็นคือท่านยิ้มแย้มต้อนรับ และพูดคุยทักทายด้วยความเมตตาอารี รูปร่างหน้าตาผิวพรรณก็สง่างามสมเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ นี่คือความประทับใจในลำดับแรกที่คงจะเกิดขึ้นกับทุกๆ คนที่ได้พบเจอและพูดคุยกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ อย่างที่สอง ประทับใจด้วยปฏิสัมพันธ์ หมายถึงการได้มามีชีวิตอยู่ร่วมกัน สำหรับผมเองก็ได้มาอยู่ที่บ้านท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ร่วม 10 ปี ได้ทำงานเป็นเลขานุการและทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือท่านหลายอย่าง จนถึงดูแลสุขภาพในช่วงท้ายๆ จนเมื่อผมแต่งงานออกมาอยู่ข้างนอกแล้ว ก็ยังแวะเวียนไปเยี่ยมเยียนท่านอยู่เป็นประจำ ความประทับใจที่ผมได้รับก็คือ “การให้เกียรติ” ที่ท่านมีให้แก่ทุกๆ คนเช่นกัน ซึ่งการให้เกียรตินี้ก็คือ ความเป็นมิตร ความไว้วางใจ และความเชื่อถือ ท่านเรียกทุกคนด้วยการให้เกียรติเสมอ ท่านชอบนับญาติและสร้างความสนิทสนมกับทุกๆ คน ทุกคนจะได้เป็นพี่ป้าน้าอาเมื่อได้พูดคุยกับท่าน ซึ่งแสดงความเป็นมิตร ความเป็นกันเอง สำหรับผมในทางส่วนตัว ท่านก็เรียกผมว่า “ลูก” แล้วผมเอง(รวมถึงบรรดาลูกศิษย์ลูกหาทุกคน)ก็เรียกท่านว่า “พ่อ” และในการทำงานท่านจะมอบความไว้วางใจให้ผู้ร่วมงานเสมอ รวมทั้งการสั่งสอนและแนะนำการทำงาน ตลอดจนช่วยแก้ไขเมื่อมีปัญหา ทำให้เราเกิดความอบอุ่น มีความมั่นใจ และเกิดความประทับใจ อย่างที่สาม ประทับใจด้วยการมอบประสบการณ์พิเศษ คือการได้กิน ได้เที่ยว ได้เห็น ได้ทำอะไรต่างๆ ที่ด้วยของเราอาจจะทำไม่ได้ หรือไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้ทำ อย่างเช่น การได้กินอาหารอร่อยๆ อาหารดีๆ ในสถานที่หรูๆ ที่เป็นไปได้ยากสำหรับเด็กบ้านนอกอย่างผม ซึ่งผมซึ่งทราบว่านั่นคือ “การให้การศึกษา” ที่ฝรั่งเรียกว่า Education ท่านจึงอยากให้พวกเราที่ทำงานกับท่านได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปด้วย ท่านว่าการเรียนจากตำรับตำราก็ไม่ได้ความรู้ลึกซึ้งเท่าการเรียนจากชีวิตจริง เพราะการเรียนด้วยการกระทำด้วยตนเองนี้ จะทำให้เราเกิด “ความจดจำ” และแน่นอนว่าได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์โดยสมบูรณ์” คือสัตว์ที่มีสติปัญญา รอบรู้ แก้ไขปัญหาได้ ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ทำให้เรา “เกิดมาอย่างคุ้มค่า” อย่างที่สี่ ประทับใจด้วยผลงาน ที่เกิดขึ้นเพราะการทำงานของบุคคลดังกล่าวที่ฝากผลงานไว้ ร่วมกับเสียงยกย่องเล่าขานจากคนอื่นๆ ที่กล่าวถึงผลงานการกระทำของบุคคลนั้นๆ ซึ่งสำหรับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ด้วยความที่ท่านเป็นคนที่มีความสามารถรอบด้าน ได้ทำหน้าที่การงานอยู่ในหลายด้าน ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จและปรากฏเป็นชื่อเสียงอยู่ในทุกด้าน ถ้าจะยกตัวอย่างที่เด่นๆ ในแต่ละด้านที่สำคัญและมีคนรู้จักท่านมากๆ อย่างเช่น ด้านการเมือง ท่านก็เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าของนโยบายเงินผันอันเป็นที่จดจำ หรือในด้านวรรณกรรม ท่านก็เขียนหนังสือจำนวนนับร้อยเล่ม มีนิยายที่สร้างชื่อเสียงหลายเรื่อง เช่น สี่แผ่นดิน ไผ่แดง หลายชีวิต ฯลฯ ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ หรือในด้านการศึกษา ท่านก็ได้สร้างสรรค์ความรู้ไว้ในแวดวงวิชาการมากมาย ทั้งในฐานะอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย และการให้ความรู้แก่สังคมผ่านสื่อต่างๆ อันมีหนังสือพิมพ์เป็นต้น ดังที่ยูเนสโกได้ประกาศให้ท่านเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ก็ด้วยผลงานด้านสังคม การศึกษา สื่อสารมวลชน และศิลปวัฒนธรรมนี้ อย่างที่ห้า ประทับใจด้วยความคิดความฝัน ในฐานะที่บุคคลคนนั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้มีให้กับผู้คนจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่กับลูกศิษย์ลูกหาหรือคนที่ทำงานกับท่าน แต่ท่านยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่ได้มาศึกษาหรือรู้จักท่าน แม้จะไม่ได้รู้จักกับท่านจริงๆ นั้นอีกด้วย ในส่วนตัวผมเองที่ได้รู้จักสนิทสนมกับท่านค่อนข้างมาก ก็ได้รับแรงบันดาลใจมากมาย ที่คิดว่าได้รับจากท่านมากที่สุดก็คือ “ความอดทนและความเมตตา” คือความอดทนนั้นเราต้องใช้อยู่ตลอดเวลาในฐานะที่เป็นมนุษย์ เพราะต้องอดทนต่อความทุกข์ยาก โรคภัยไข้เจ็บ และอุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่เป็น “ธรรมชาติ” ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งในชีวิตของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ท่านก็มีความทุกข์ต่างๆ มากมายเหมือนคนอื่นๆ ทั้งหลาย แต่ท่านก็ใช้ความอดทนนี้ถมทับความทุกข์ทั้งหลายไว้ แล้วก้าวข้ามไปด้วยสติปัญญาหรือการแก้ปัญหาที่เหมาะสม สำหรับความเมตตาแล้ว ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นับว่าเป็นผู้มีเมตตาเป็นอย่างยิ่งผู้หนึ่ง ซึ่งกับตัวผมเอง ท่านได้สร้างผมให้เป็นตัวเป็นตน จนถึงที่ผมเป็นอยู่มาได้ในทุกวันนี้ก็ด้วยอาศัยบารมีของท่านด้วยส่วนหนึ่ง ร่วมกับความรู้และ “แรงบันดาลใจ” ที่ได้รับจากท่านนั้นด้วย ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ “ปลูกความทรงจำ” ให้กับผู้คนไว้มากมาย ซึ่งความทรงจำนี้หากยาวนานและต่อเนื่องไป ก็จะเรียกความทรงจำนั้นว่า “ความประทับใจ” ซึ่งยากแก่การลืมเลือน