รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิาน มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ระบุว่า... เชื้อ_ _ “ระบอบทักษิณ” ในรัฐบาลประยุทธ์ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต ​เราเคยรู้จักรัฐบาลในระบอบทักษิณที่นิยมแทรกแซงตลาดสินค้าการเกษตร อ้างว่า เพื่อช่วยยกระดับราคาสินค้าการเกษตร ด้วยการกำหนดให้มีโครงการซื้อสินค้าการเกษตรมาแปรรูป โดยใช้งบประมาณมากมหาศาล แล้วนำธุรกิจการแปรรูป การขนส่ง เข้าร่วม เป็นการดำเนินการที่มีลักษณะซิกแซก ไม่ตรงไปตรงมา ประกอบด้วยเล่ห์แพรวพราว ​๑) ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท ​๒) มีลักษณะประชานิยม เพื่อได้เสียง ได้ใจ ได้คะแนนนิยมจากชาวบ้านที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ​๓) มีนักธุรกิจรองรับในการแปรรูปและกระจายสินค้า ​๔) แบ่งผลประโยชน์ให้ชาวบ้านเป็นส่วนน้อย แต่ส่วนมากตกอยู่กับนักธุรกิจและนักการเมือง ​๕) เป็นโครงการที่ดำเนินการชั่วคราว ได้ประโยชน์กับบางคนบางส่วนในระยะสั้น ปีต่อไปก็ทำใหม่ได้อีก ​๒๓ ธันวาคม ปรากฏข่าว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง ​จะใช้เงิน ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท โดยจะขอออกสลากการกุศล มาใช้ในโครงการผลิตหมอนยางพาราประชารัฐ จำนวน 30 ล้านใบ เพื่อแจกให้กับประชาชน โดยให้องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ไปใช้ดำเนินการก่อน หลังจากนั้นจึงออกสลากกินแบ่งเพื่อนำเงินมาใช้คืน อ้างว่าจะเป็นการช่วยยกระดับราคายางพารา ​เหมือนไหมครับกับโครงการในระบอบทักษิณ ตามเบญจลักษณะกล่าวไว้ข้างต้น คือ ใช้งบประมาณ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท ทำหมอนยางพาราแจกชาวบ้าน เพื่อให้ได้เสียงได้ใจชาวบ้านที่ชอบของฟรี มีธุรกิจโรงงานแปรรูปยางพาราเป็นหมอนและกระจายสินค้า ส่วนจะแบ่งผลประโยชน์ให้ชาวบ้าน นักธุรกิจ และนักการเมืองอย่างไรต้องดูรายละเอียดในภายหลัง และสุดท้ายเป็นโครงการที่ดำเนินการชั่วครั้งชั่วคราว เสียเงินเปล่า ล้มเหลวแน่นอน ​เคยได้เขียนบทความ ความจริงเกี่ยวกับตลาดและราคายางพารา เมื่อ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๑ (ปีที่แล้ว) ว่า ​ ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่เราผลิตเพื่อส่งออก 70% และใช้ในประเทศเพียง ๓๐% ​เมื่อเป็นสินค้าที่เราต้องพึ่งส่งออก ราคายางพาราในประเทศก็ต้องสัมพันธ์กับราคาส่งออกที่ไทยขายได้ในตลาดโลก ​ปีใดที่ราคายางพาราในตลาดโลกตกต่ำ แต่ราคายางพาราในประเทศไม่ตกตาม ก็จะไม่มีผู้ส่งออกรายใดสามารถซื้อยางในประเทศ ซึ่งมีราคาแพงกว่าและส่งออกให้กับต่างประเทศในราคาถูกกว่าได้ ​ราคาน้ำยางในประเทศจึงขึ้นและลง ตามราคายางที่ซื้อขายกันในต่างประเทศ ​จริงอยู่ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาซื้อขายในตลาดโลกได้ จะมีอิทธิพลต่อราคาได้บ้างก็ไม่มาก (ในกรณีที่เราผลิตยางได้น้อยมากหรือได้มากเป็นพิเศษ) ​เมื่อเราส่งเสริมให้ผู้ทำหมอนหนุนใช้ยางพารามาทำเป็นวัสดุ หรือให้ผู้ทำถนนราดยางโดยใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนประกอบ ส่งเสริมให้เอกชนผลิตยางล้อรถยนต์ในประเทศ ผู้ผลิตเหล่านี้เขาก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องซื้อน้ำยาง หรือยางแผ่นในราคาที่สูงกว่าที่ซื้อขายในตลาด ที่ขณะนี้ราคาต่ำอยู่และมีปริมาณมากมาย ซื้อได้ง่ายหากต้องการรีบซื้อก็เพิ่มราคาให้นิดหน่อยก็สามารถซื้อได้แล้ว ​น่าคิดว่า โดยปกติ ธุรกิจเอกชนย่อมแสวงหากำไร ลดต้นทุนการผลิตอยู่แล้ว เหตุใดเขาจึงไม่ใช้ยางพาราราดถนน หรือทำที่นอนหมอนยางพารามากอย่างที่เราอยากจะเห็น ​ก็คงเป็นเพราะเขาคิดว่าใช้อย่างอื่นในการผลิตคุ้มค่ากว่า ต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่า ดังนั้น การที่รัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนให้เขาเปลี่ยนวัตถุดิบมาใช้ยางพารา เขาก็ต้องการเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นที่สนับสนุน คำถาม คือ เขาก็คงจะซื้อน้ำยางในราคาตลาดที่เขาซื้อได้อยู่แล้วเหมือนเดิม สิ่งที่ได้อยู่บ้าง คือ ทำให้ยางในสต๊อกลดลงไปบ้าง แต่ก็ไม่มากพอที่จะหยุดการส่งออก ซึ่งราคายางในประเทศก็ยังคงสัมพันธ์ไปตามราคาส่งออกไปตลาดต่างประเทศอยู่ดี ​ถ้าปริมาณในสต๊อกลดลงมากๆ ก็อาจมีผลกระทบราคาตลาดต่างประเทศบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะมากนักขนาดเป็นนัยสำคัญที่จะทำให้ราคาน้ำยางในประเทศขยับสูงขึ้น ยิ่งถ้ารัฐบาลกลัวว่า เอกชน เช่น โรงงานทำหมอนยางพาราที่ได้การอุดหนุนทางการเงินให้ใช้ยางพาราทำหมอนแล้วไม่ซื้อน้ำยางราคาแพง จะให้หน่วยงานของรัฐซื้อน้ำยางเอง ก็ให้ระวัง จะเหมือนความผิดพลาดที่ให้หน่วยงานของรัฐในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซื้อข้าวราคาแพง เพราะเมื่อไรที่มี 2 ราคาในตลาด คือ ราคาที่ซื้อขายทั่วไปกับราคาที่รัฐบาลรับซื้อ ย่อมจะมีทุจริตและมีคนหาผลประโยชน์จากความแตกต่างของราคาเสมอ ​ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ดำเนินมาตรการแจกหมอน และซื้อน้ำยางพารามาแปรรูป จะขอทำนายไว้ว่าเราจะสูญเสียเงิน ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท หากนำมาจากการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็เท่ากับเราจะสูญเงินที่ได้จากคนยากจนเป็นส่วนมากที่ซื้อหวย แทนที่จะนำเงินจากการขายสลากเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดิน ​รัฐบาลจะหนีไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ที่เคยว่าเขาแต่อิเหนาเป็นเอง ในเรื่องประชานิยม ธุรกิจโรงงานแปรรูปหมอนและการกระจายสินค้าจะร่ำรวยในพริบตา จะมีคนก่นด่าว่าผลประโยชน์ที่ตกกับชาวสวนยางจะได้เป็นส่วนน้อย แต่ส่วนมากจะตกอยู่กับนักธุรกิจและนักการเมือง ​แค่เพียงเริ่มต้นก็มีคนตั้งข้อสังเกตแล้วว่า แจกหมอนยางพารา ๓๐ ล้านใบ ด้วยงบประมาณ ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท คิดเป็นราคาหมอนตกใบละ ๖๐๐ บาท เป็นราคาที่แพงกว่าราคาทั่วไปถึง ๒ เท่า อนาคตคงมีอย่างอื่นๆ ที่เป็นสีเทาให้ได้วิพากษ์วิจารณ์กันอีก ​โครงการนี้จึงเป็นแนวคิดที่สอดคล้องตามที่สื่อมวลชนตั้งฉายาว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง”