กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล “ประยุทธ์2/1” โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาให้ปากท้องให้กับพี่น้องเกษตรกร นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในกระทรวงหลักด้านเศรษฐกิจที่จะผลักดันมาตรการต่างๆออกมาให้เกิดเป็นรูปธรรม แต่ดูเหมือนว่า ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก และเข้มข้น ทั้งการบริหารนโยบาย จาก “รัฐมนตรี” จำนวนมากที่สุด 4 คน จาก4 พรรคร่วมรัฐบาล จึงทำให้บ่อยครั้งมีความขัดแย้งตามมา สำหรับ4 รัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรฯประกอบด้วย “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รมว.เกษตร ฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ , ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตร ฯจากพรรคพลังประชารัฐ “ประภัตร โพธสุธน” รมช.เกษตรฯ จากพรรคชาติไทยพัฒนา และ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รมช.เกษตร ฯ จากพรรคภูมิใจไทย ทั้งนี้ รัฐมนตรีทั้ง 4 คนได้เข้ามาทำงานในกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2562 มาเจอกันครั้งแรกก็เป็นบรรยากาศที่อบอุ่น ซึ่งทุกคนมีความคิดที่ตรงกันว่า “ต้องทุ่มเทการทำงานเพื่อประชาชนสุดความสามารถ” แม้จะมีกระแสข่าวเรื่องการแย่งห้องทำงานกัน ของรมช.เกษตรฯ แต่สุดท้ายก็เคลียร์กันลงตัว การบริหารนโยบายของรัฐมนตรีแต่ละคนนั้น ยังต้องผูกพันเชื่อมโยงกับการเดินหน้า “ภารกิจ” ขับเคลื่อนนโยบายของแต่ละพรรคตนเองเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน พรรคประชาธิปัตย์ ต้องมุ่งเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร ให้ครอบคลุมพืชทุกชนิด เพื่อสร้างความมั่นคงรายได้ให้เกษตรกรไทยทุกคน โครงการโฉนดสีฟ้า จัดทำโฉนดชุมชนจัดการตนเอง มีการออก พ.ร.บ.โฉนดชุมชน เพื่อให้สิทธิในการจัดการชุมชนอย่างแท้จริง โครงการจัดตั้งกองทุนน้ำชุมชน ให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี มีเงินทำแหล่งน้ำทุกหมู่บ้าน พรรคพลังประชารัฐ ต้องการดูแลราคาสินค้าเกษตร แต่ละชนิดไม่ให้ตกต่ำ และนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นที่ดินทองคำ พรรคชาติไทยพัฒนา เน้นการแก้ปัญหาผลผลิตการเกษตร ราคาผลผลิตตกต่ำ สร้างความสมดุลระหว่างอุปสงค์-อุปทาน และการหาตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด หรือที่เรียกว่า “โซเชียลคอมเมิร์ซ” พรรคภูมิใจไทย นโยบายกัญชาเสรี โดยใช้ “แคลิฟอร์เนียโมเดล” เป็นต้นแบบ ที่มีการร่างกฎหมายไว้รอแล้ว และเดินหน้ายกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรมว .สาธารณสุข อยู่ แต่ทั้ง 4 รัฐมนตรี เข้ามาทำงานได้ไม่นานก็ต้องเจอปัญหา อุปสรรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเกมทางการเมือง ที่พุ่งเป้าไปยัง ร.อ.ธรรมนัส ที่มีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่า ควรเป็นรัฐมนตรีจริงหรือไม่ เนื่องจากในอดีต เคยมีข่าวว่า ต้องติดคุกข้อหาลักลอบขนเฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม เข้าประเทศออสเตรเลียมาก่อน ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงแล้วว่า มีการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งหมดของ ร.อ.ธรรมนัส เรียบร้อยแล้ว ก่อนจะทำการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ยังมีประเด็นวุฒิการศึกษา โดยข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ร.อ.ธรรมนัส จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคาลามัส อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งตามข้อมูลแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่ได้ถูกรับรองอย่างถูกต้อง โดยร.อ.ธรรมนัส ออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลในเว็บไซต์มีความคลาดเคลื่อน ยืนยันว่าจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นคนละสถาบันกัน นอกจากนี้ มีการโจมตีร.อ.ธรรมนัส ในฐานะคุมสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรณี “เขาสนฟาร์ม” ของปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ จำนวน 682 ไร่ อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. และไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ขอทำประโยชน์ แต่ปัญหาจบลงด้วยดีเมื่อปารีณา ยอมคืนที่ดินดังกล่าว โดยมี ร.อ.ธรรมนัส ลงพื้นที่จ.ราชบุรีไปรับเองกับมือ ย้ายมาฟาก มนัญญา ช่วงแรกเหมือนจะราบรื่นดี ในการต่อสู้กับกลุ่มเกษตรกรต่อต้านยกเลิกการใช้ 3 สารพิษ เนื่องด้วยเหตุผลสำคัญ คือ ต้องการรักษาสุขภาพและชีวิตของประชาชน โดยการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 ได้มีมติ 9-0 ให้แบน 3 สารพิษ ห้ามใช้ ห้ามจำหน่าย ห้ามผลิต โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 และเหมือนทางเฉลิมชัย ก็จะเห็นดีด้วย แต่หลังจาก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ขึ้นนั่งประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ได้มีการประชุมเรื่องนี้เมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 กลับมีมติให้ออกประกาศกำหนดวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้กำหนดระยะเวลาใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63 สำหรับวัตถุอันตรายไกลโฟเซตให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.61 ถือเป็นการจุดชนวนระเบิดให้เกิดรอยร้าวหนักระหว่าง 3 พรรคร่วม คือ มนัญญา พรรคภูมิใจไทย เฉลิมชัย พรรคประชาธิปัตย์ และสุริยะ พรรคพลังประชารัฐ ถึงขั้นมนัญญา ประกาศขอคืนกรมวิชาการเกษตร ที่ดูแลการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งอยู่ในความดูแลขอ ง มนัญญา ให้กับเฉลิมชัย ไปดูแล ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมวิชาการเกษตรไม่เชื่อฟัง โดยขอแลกกับกรมชลประทานแทน และดูเหมือนว่าเรื่องนี้ จะคงยังไม่จบง่ายๆ เพราะยังมีกลุ่มเกษตรกรที่ต้านยื้อการแบน 3 สารพิษ ออกมาเคลื่อนไหวอยู่เรื่อยๆ ล่าสุดตัวแทนคณะกรรมการวัตถุอันตราย จากกระทรวงสาธารณสุข คือ ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือแจ้งผลการพิจารณากลับไปกลุ่มวิชาการและเลขานุการ กองบริหารจัดการวัตุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่รับรองผลการประชุมวันที่ 27 พ.ย.62 โดยยังคงยืนยันรับรองผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค.62 คือให้แบน 3 สารพิษ ด้วยเหตุผลว่าในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พ.ย.62 ไม่มีการลงมติโดยการลงคะแนนแต่อย่างใด และไม่มีการยกเลิกมติการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 62 ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขณะที่เฉลิมชัย แม้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร โดยนำร่องที่ยางพารา และข้าว จะเดินหน้าไปได้สวย ก็ยังมีปัญหาอื่นๆ มาให้แก้เป็นระยะ เช่น กลุ่มชาวประมง 22 จังหวัดชายแดนทะเล ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการประมงอย่างเข้มงวด ภายหลังประเทศไทยถูกปลดจากใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายจากไอยูยู​ (IUU) บุกกระทรวงเกษตรฯ ยื่นข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ซึ่งเฉลิมชัย ได้นำข้อเรียกร้องดังกล่าว เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน โดยมีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการใช้มาตรการป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องดังกล่าว คงมีเพียงประภัตร เท่านั้น ที่เดินหน้าทำงานแบบไร้คนกวนใจ กระตุ้นหน่วยงานที่ตัวเองรับผิดชอบ เร่งส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมยกระดับการทำอาชีพเกษตรกรรมที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานะ อาทิ การส่งเสริมผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ของกรมการข้าว ตั้งเป้า 2 แสนตันกระจายสู่เกษตรกร และส่งเสริมเกษตรกรผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐาน Q ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อยกระดับคุณภาพ และราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องมาค่อยดูกันต่อไปว่า ปมปัญหาการทำงานของ 4 รมต. เกษตรฯ ที่พบเจอในปี 2562 นี้ เปรียบเหมือน “ยำใหญ่สารพันปัญหา” ที่จะสามารถแก้โจทก์คำตอบ นำไปสู่ทางรอด ในการทำงานปี 2563 ให้ราบรื่นได้หรือไม่ !?