อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ปีหนูทอง 2563 กันแล้ว ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในหลายเรื่อง ทางการเมืองเองก็เริ่มคึกคักมากขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี เพราะประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่มากว่า 5 ปี ซึ่งวันนี้ถือได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบแล้ว “สยามรัฐ” จึงรวบรวมเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในปี 2562 ว่ามีอะไรบ้าง “ไทยรักษาชาติ” ไปไม่ถึงฝัน เริ่มประเดิมจากพรรคชื่อดังอย่าง “พรรคไทยรักษาชาติ” ที่ได้ชื่อว่าเป็นสาขาพรรคเพื่อไทย เพราะผู้บริหารและกรรมกรรมบริหารพรรค ล้วนแต่เป็นอดีตส.ส.และอดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย รวมถึงหัวหน้าพรรค อย่าง “ปรีชาพล พงษ์พานิช” ซึ่งเป็นบุตรชาย “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย ตั้งแต่ยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมถึงทายาทชินวัตร ที่มารั้งตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ฤภพ ชินวัตร ลูกชายคนโตของพายัพ ชินวัตร ที่มีศักดิ์เป็นน้องชายของทักษิณ และเป็นพี่ชายของยิ่งลักษณ์ นั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พรรคไทยรักษาชาติ เป็นพรรคที่มารองรับพรรคเพื่อไทยที่หากมีความผิดพลาดทางการเมืองเกิดขึ้น แต่กลับกลายว่าเป็น พรรคไทยรักษาชาติ เสียเองที่ก้าวพลาด เมื่อพรรคสร้างความฮือฮาทางการเมืองด้วยการส่งพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ในนามพรรค เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติยื่นคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ลงมติเอกฉันท์วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากการยื่นพระนาม "ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี" เป็นผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ต้องอยู่เหนือการเมือง เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2562ที่ผ่านมา พร้อมตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคจำนวน 13 คน โดยห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง จดทะเบียนจัดตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี กว่าจะเป็น ครม. “ประยุทธ์ 2/1” หลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งชัยชนะเป็นของพรรคพลังประชารัฐ เพราะสามารถเป็นพรรคการเมืองที่เป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาล แม้จำนวนส.ส.ในมือจะเป็นรอง พรรคเพื่อไทย เรียกได้ว่า หายใจรดต้นคอ รวมถึงพรรคน้องใหม่ อย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่เบียดแซงพรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย มาเป็นอันดับ 3 แต่ในที่สุดด้วยวิธีการคิดสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ รูปแบบใหม่สุดประหลาด ก็ส่งผลให้คะแนนเสียงของพลังประชารัฐขึ้นรั้งอันดับหนึ่ง ซึ่งในฝั่งพรรคพลังประชารัฐเองก็ไม่ปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน ด้วยการประกาศตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พร้อมเดินสายจับมือพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา รวมถึงพรรคเล็ก ๆ อีกกว่า 10 พรรค จนกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 18 พรรคด้วยกัน ในช่วงแรกของเดินสายแห่ขันหมาก เชิญพรรคร่วมนั้นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะแต่ละพรรคก็ย่อมต้องการนั่งในกระทรวงที่ตัวเองสามารถนำนโยบายที่เคยหาเสียงไปต่อยอดเพื่อให้บรรลุกับสิ่งที่วางไว้ ซึ่งสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐก็ยอมที่จะปันกระทรวงเกรดเอ ให้กับพรรคร่วมเพื่อที่จะได้เป็นรัฐบาล ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรัฐมนตรีชุดที่ 62 ของประเทศไทย โดยครม.ชุดปัจจุบัน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562ที่ผ่านมา ประชาธิปัตย์แบ่งก๊ก มาที่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้วไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง คะแนนเสียงที่ได้กลับกลายตกไปอันดับ 4 ของตาราง ฐานเสียงที่น่าจะอย่างในพื้นที่กทม.กลับไม่มีส.ส.เลยสักที่นั่งเดียว ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกลดบทบาทเหลือเพียง พรรคที่ต้องรอร่วมรัฐบาล ไม่ได้เป็นแกนนำอย่างที่ตั้งใจ เมื่อไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ ส่งผลให้เกิดการแตกกลุ่มกันภายในพรรค ฝ่ายหนึ่งยอมที่จับมือร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ อีกฝ่ายหนึ่งตั้งธงไม่เอา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะไม่ต้องสืบทอดอำนาจทหาร ตามที่เคยได้ประกาศก่อนเลือกตั้ง แต่เมื่อมติพรรคส่วนใหญ่ยอมที่จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และโหวตให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นทำให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาประกาศขอลาออกจากการเป็นส.ส. ด้วยจุดยืนทางการเมืองคือ ไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” ซึ่งเป็นจุดยืนที่ อภิสิทธิ์ ให้ไว้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ซึ่งการลาออกของอภิสิทธิ์ ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่มีการขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิงระหว่างจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แต่ท้ายที่สุดตำแหน่งหัวหน้าคนที่ 8 ของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ จุรินทร์ ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในพื้นที่ภาคใต้ไม่น้อยเพราะอยู่ฝั่ง พีระพันธุ์ และด้วยความต้องการที่จะคงเสถียรภาพของรัฐบาลและของพรรคพลังประชารัฐ จึงต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ในมือ ซึ่งนั่นก็ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เข้ามามีบทบาทอีกครั้ง เมื่อทุกฝ่ายในฝั่งของรัฐบาล เห็นตรงกันที่จะส่ง “นายหัว” ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค เข้าชิงตำแหน่งประธานสภากับ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งจากผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ส่งผลให้ชวน ชนะด้วยคะแนนเสียง 258 ต่อ 235 งดออกเสียง 1 และเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐสภานี้ “อนาคตใหม่”กับชะตากรรมที่ต้องลุ้น ถือว่าเป็นนักการเมืองที่มาแรง และเป็นที่นิยมชมชอบ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น สำหรับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ช่วงเลือกตั้งไม่ว่าจะไปหาเสียงที่จุดใดก็จะเห็นเด็กนักเรียน นักศึกษา มาขอถ่ายรูป มาให้กำลังใจกันอย่างมากมาย จนทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้รับการเลือกตั้งในระดับต้นๆ แต่แล้วก็กลายเป็นฟ้าผ่า เมื่อมีมูลเหตุว่า ธนาธร ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกตรวจสอบกรณีถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งขณะนั้น ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ก็ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้เป็น ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่ โดยกกต. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ และกกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ธนาธร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องดังกล่าว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2562 ว่าสมาชิกภาพส.ส.ของ ธนาธร สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. อีกหนึ่งคดีที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเผชิญ เมื่อกกต. ได้นำสำนวนคำร้อง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ว่า กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องกกต.แล้ว ก็ต้องลุ้นต่อไปว่า พรรคอนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่ หากพรรคถูกยุบจริง เราจะได้เห็นม็อบเสื้อมีส้มลงถนน เดินประท้วงนอกสภาหรือไม่ ก็อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะผู้ตัดสิน เพราะจากการที่ ธนาธร เรียกรวมพล “แฟลชม็อบ” เมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมาบริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน ก็พอเดาได้ว่า ม็อบมาแน่ ! “ทักษิณ-โอ๊ค” โล่งอก หลุดบ่วง “คดีกรุงไทย” จากคดีความอันยาวนานที่มี พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายคนโตของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตกเป็นจำเลยในคดีใหญ่ ทำให้มีอันต้องลุ้นระทึกมาโดยตลอด ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พ.ย.62ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีฟอกเงิน ทุจริตการปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย ให้ธุรกิจเครือกฤษดามหานคร คดีหมายเลขดำ อท.245/2561 ที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพานทองแท้ จำเลยในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 มาตรา 10 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 คดีนี้อัยการยื่นฟ้อง พานทองแท้ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2561 จากกรณีรับโอนเงินเป็นเช็คจำนวน 10 ล้านบาทเข้าบัญชี ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเงินนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำจากการทุจริตปล่อยกู้สินเชื่อระหว่างธนาคารกรุงไทยกับเอกชนกลุ่มกฤษดามหานคร ที่มี “วิชัย กฤษดาธานนท์” ผู้บริหารกฤษดามหานคร กับ “รัชฎา กฤษดาธานนท์” ลูกชายของวิชัย และอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ตกเป็นจำเลย โดยในที่สุดศาลอาญาได้พิพากษายกฟ้อง พานทองแท้ ไม่ผิดฐานฟอกเงิน เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า พานทองแท้ รู้ที่มาของเงินจำนวน 10 ล้านบาท ที่นายวิชัย โอนเข้าบัญชี ว่านายวิชัยได้มาจากการกระทำผิดทุจริตการปล่อยกู้แบงก์กรุงไทย เนื่องจากขณะนั้น พานทองแท้มีอายุเพียง 26 ปี และมีเงินรายได้จากหุ้นในบริษัทอยู่แล้วถึง 4,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเงิน 10 ล้านบาท คิดเป็น 0.0025 เปอร์เซ็นต์จากยอดเงินดังกล่าว นอกจากนี้เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคําพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ยักยอก ความผิดต่อพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ คดีหมายเลขดำที่ อม. 3/2555 คดีหมายเลขแดง อม. 55/2558 ระหว่างอัยการสูงสุดและทักษิณ กับพวกรวม 27 คน คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัทในเครือบริษัท กฤษดามหานคร โดยศาลพิพากษายกฟ้องทักษิณ เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่ไต่สวนมายังไม่มีน้ำหนัก คนแห่ตอบรับ“ชิม ช้อป ใช้” เป็นที่กล่าวขานมากสำหรับมาตรการที่รัฐบาลนำออกมาใช้ เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายของประชาชน ในมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” ที่ทำให้คนหลายล้านต้องอดหลับอดนอน เพื่อลงทะเบียนร่วมในโครงการดังกล่าว เพราะเมื่อคนที่ลงทะเบียนได้ จะได้เงินไปใช้ฟรีจำนวน 1,000 บาท รวมถึงยังมีกระเป๋าที่ 2 เป็นกระเป๋าเติมเงิน ที่เมื่อไปซื้อผ่านกระเป๋าดังกล่าวไม่เกิน 30,000 บาทจะได้เงินคืน 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นการกระตุ้นเงินจากประชาชนเท่าที่ควร เพราะด้วยข้อจำกัดที่ไม่ให้ลงทะเบียนใช้จ่ายในจังหวัดเดียวกันกับทะเบียนบ้านที่มีชื่ออยู่ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งพลาดการใช้เงิน รวมถึงคนส่วนใหญ่เมื่อใช้กระเป๋าเงินแรกหมด 1,000 บาทแล้ว ก็ไม่ได้เติมเงินใช้ส่วนที่ 2 ต่อ แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะมีมาตรการเฟส 2 และเฟสที่ 3 ที่เพิ่มแรงจูงใจได้เงินคืน 20 เปอร์เซ็นต์จากกระเป๋าที่ 2 ก็ยังไม่มีการใช้จ่ายเงินมากเท่ากับที่กระทรวงการคลังให้เงินฟรี 1,000 บาท นั้นหมายความมาตรการ ชิม ช้อป ใช้ ก็ถูกลดความสนใจลงไปด้วย รวมถึงอาจจะไม่ได้เป็นการกระตุ้นรายได้อย่างที่กระทรวงการคลังต้องการ แม้จะมีการแจกทองล่อใจแล้วก็ตาม สิ้นแล้ว “ป๋าเปรม” ประธานองคมนตรี เหตุการณ์สุดท้ายทางการเมืองที่ต้องสิ้นคนสำคัญของประเทศ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2562ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียใจให้กับบรรดาทหาร นักการเมืองที่รักและเคารพ “ป๋าเปรม” มาอย่างยาวนาน สำหรับประวัติ พล.อ.เปรม นั้นเกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2463 ที่ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา ชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก (ปัจจุบันคือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า จากนั้นก็ไปศึกษาต่อต่างประเทศที่สหรัฐ เมื่อจบการศึกษาได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 – 2488 ที่เชียงตุง สำหรับการรับราชการทหารของพล.อ.เปรมนั้น ได้รับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ โดยเมื่อปี 2511 พล.อ.เปรม ได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี ก่อนย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปี 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521 นอกจากยศ พลเอก แล้ว พล.อ.เปรม ยังถือว่าเป็นหนึ่งในบุคคล ที่ในปัจจุบันที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้รับยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือ และ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศ ด้วย จากการพระราชทานโปรดเกล้าฯ เมื่อเดือนก.ค.2529ในระหว่างที่ พล.อ.เปรม ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ในทางการเมืองพล.อ.เปรม ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัยซ้อน สมัยที่ 1 ระหว่างวันที่ 3 มี.ค. 2523 – 29 เม.ย. 2526 สมัยที่ 2 ระหว่างวันที่ 30 เม.ย. 2526 – 4 ส.ค. 2529 และสมัยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2529 – 3 ส.ค. 2531 โดยเมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.เปรม เป็นองคมนตรี ในวันที่ 23 ส.ค. 2531 จากนั้นในวันที่ 29 ส.ค. 2531 ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 ส.ค. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี