คืบคลานใกล้เข้าทุกขณะ สำหรับ ปีหมูทองที่จะผ่านพ้น จรดลสู่ปีหนูซุกซนที่จะมาถึง แบบเข้าทำนองที่ว่า ปีกุนไป-ปีชวดมา โดยในช่วงที่ “กุนนักษัตร” คือ ปีหมูที่กำลังจะผ่านไปนั้น ก็มีข่าวคราวเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย และหลายเหตุการณ์อีกเช่นกัน ที่ได้รับความคาดหมายว่า จะยังคงดำเนิน หรืออาจส่งผลกระทบเป็นประการต่างๆ ลากยาวไปถึงช่วง “ชวดนักษัตร” คือ ปีหนูที่กำลังจะมาถึงอีกต่างหากด้วย ซึ่งนานาเหตุการณ์อันบังเกิดขึ้นที่สำคัญๆ ก็ได้แก่ วิกฤติมลภาวะทางอากาศ “ไฟป่า” หนึ่งในวิกฤติภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอันสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน (เอเอฟพี) ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในวิกฤติที่โลกของเรา ต้องเผชิญหน้ากับพิษภัยนี้เป็นประจำทุกปี และแต่ละปีก็มีทีท่าว่า รุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรือถึงขั้นคร่าชีวิตของประชากรชาวโลกเราจนน่าเป็นห่วง แม้กระทั่ง “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” ก็ออกอาการวิตก จนต้องมีรายงานเตือนพลเมืองโลกว่า มลภาวะทางอากาศพิฆาตชีวีชาวโลกปีละกว่า 7 ล้านคนเป็นอย่างน้อย อันได้รับผลกระทบจากพิษภัยโดยตรง และผลกระทบที่ต่อเนื่องโดยวิกฤติดังกล่าว ก็มีทั้งละออฝุ่นพิษจิ๋ว หรือที่เรียกกันติดปากว่า พีเอ็ม2.5 ปัญหาหมอกควัน ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน จากผลพวงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หรือที่เรียกกันติดปากว่า ภาวะโลกร้อน จนก่อให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น วาตภัย อุทกภัย ไฟป่า ปัญหาคลื่นอากาศร้อนจัด หรือฮีตเวฟ และคลื่นอากาศหนาวจัด เป็นต้น ทั้งนี้ พิษภัยของวิกฤติข้างต้น ก็ยังเป็นสิ่งที่โลกเรายังคงต้องประสบต่อไปอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่มนุษย์เราเอง อันเป็นหนึ่งในปัจจัยของต้นตอปัญหาต่างไม่ร่วมแรง ร่วมใจ สลายวิกฤติที่กำลังเผชิญ “ภัยหนาวอย่างรุนแรง” ในหลายพื้นที่ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน อันเป็นเหตุจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เอเอฟพี) สารพัดม็อบป่วนโลก การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับตำรวจควบคุมฝูงชน ในการประท้วงบนเกาะฮ่องกง (เอเอฟพี) ปีหมูทองที่กำลังจะผ่านพ้นไป ก็ต้องถือเป็นอีกปีหนึ่งที่บรรดาประเทศในภูมิภาคต่างๆ แทบจะทุกมุมโลก ต้องเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ของการชุมนุมประท้วง หรือม็อบ ต่อต้านทางการ ลามเลยไปจนถึงขับไล่ผู้นำรัฐบาล ที่นับว่าโด่งดังสะท้านยุทธจักร เพราะขึ้นหน้า1 เป็นข่าวพาดหัวตัวไม้ในหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ก็เห็นจะเป็น “ม็อบฮ่องกง” ซึ่งเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่เดือน พ.ค. จากการที่ประชาชนไม่พอใจต่อร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนใปให้จีนแผ่นดินใหญ่ของทางการฮ่องกง ถึงขั้นมีการปะทะระหว่างม็อบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีม็อบชนม็อบ จนมีตาย-เจ็บกัน ซึ่งเหตุการณ์ได้บานปลายจากการต่อต้านร่างแก้ไขกฎหมายข้างต้น จนนำไปสู่การขับไล่ให้นางแคร์รี หล่ำ ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แต่ต้องบอกว่า นางหล่ำยังเหนียวแน่นกับเก้าอี้ผู้ว่าฯเกาะฮ่องกง เพราะรัฐบาลปักกิ่ง ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังให้ความสนับสนุน ถึงขนาดมีการปล่อยภาพประธานาธิบดีสีฯ ให้กำลังใจผู้ว่าฯ หล่ำ กันเลยทีเดียว ขณะที่ ทางฟากม็อบก็ไม่น้อยหน้า เมื่อปรากฏว่า บรรดามหาอำนาจตะวันตกให้ความสนับสนุน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ถึงขั้นออกกฎหมายมารับรอง จนทางการปักกิ่ง ต้องออกมาส่งเสียงก่นประณาม ทั้งนี้ สถานการณ์ม็อบในฮ่องกง ซึ่งประท้วงมานานกว่า 6 เดือน จะยังคงดำเนินต่อไปในปีหน้า ท่ามกลาง ความหวั่นวิตกว่า ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ จะส่งกองกำลังติดอาวุธมาล้อมปราบเพื่อสลายม็อบ เหมือนในครั้งที่เทียนอันเหมิน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว นอกจากฮ่องกงแล้ว ก็มีที่ “เวเนซุเอลา” ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ที่ปัญหาได้ก่อมาจากความไม่พอใจในเศรษฐกิจ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ ก่อนถลำไปสู่การเมือง ที่ประชาชนไม่พอใจในผลเลือกตั้ง ได้ดำเนินการชุมนุมประท้วง จนกลายเป็นวิกฤติยืดเยื้อ ประเทศได้แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ระหว่างประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร กับนายฆวน กัวอิโด ผู้นำฝ่ายค้านที่ประกาศตนเองเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาล และมิใช่ในประเทศเท่านั้น แต่ลุกลามไปยังการเมืองระหว่างประเทศ ที่ปรากฏว่า ฝ่ายนายมาดูโร มีรัสเซียและจีนแผ่นดินใหญ่ ให้ความสนับสนุน ขณะที่นายกัวอิโด มีมหาอำนาจตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ ยืนเคียงข้าง โดยปรากฏการณ์ม็อบในเวเนฯ ก็คาดว่า ในปีหน้าก็จะยังดำเนินอยู่ต่อไปอย่างไม่รู้ว่า สถานการณ์จะไปจบกันตรงไหน นายฆวน กัวอิโด ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งสถาปนาตนเองเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลของเวเนซุเอลา นำประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร (เอเอฟพี) ใช่แต่เท่านั้น ที่ “ชิลี” อีกหนีงในลาตินอเมริกาเช่นกัน ก็เผชิญหน้ากับม็อบจำนวนเรือนล้าน ออกมาขับไล่ผู้นำประเทศ คือ ประธานาธิบดีเซบาสเตียน ปีเญรา เพราะไม่พอใจอย่างรุนแรงในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ และการเมือง ถึงขนาดต้องปรับคณะรัฐมนตรีไปเกือบครึ่ง แต่ม็อบก็ยังไม่สลาย หมดสภาพจากที่เคยคุยโวว่า เป็นประเทศที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในทวีปลาตินอเมริกากันไปเลย ทั้งนี้ แม้ว่าม็อบไม่สามารถขับไล่นายปีเญราให้กระเด็นตกจากเก้าอี้ประธานาธิบดีไปได้ แต่ก็ทำให้ชิลี ต้องยกเลิกการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดเอเปก และการประชุมสุดยอดเรื่องโลกร้อนประจำปีนี้กันไปเลย การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับตำรวจควบคุมฝูงชน ในการประท้วงที่โบลิเวีย (เอเอฟพี) แต่ที่นับว่า เป็นปรากฏการณ์ม็อบที่สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด ก็เห็นจะเป็น “ม็อบที่โบลิเวีย” แดนที่ราบสูงที่สุดของทวีปลาตินอเมริกา ซึ่งก่อตัวจากความไม่พอใจในผลเลือกตั้งที่มีการก่นประณามกันว่า นายอีโบ โมราเลส โกงการเลือกตั้งจนได้ประธานาธิบดีอีกสมัย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมใช้เวลาเพียง 20 วัน เท่านั้น คือ 20 ต.ค. - 11 พ.ย. ทางนายโมราเลส ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกับลี้ภัยไปเม็กซิโก หลังทนแรงม็อบประชาชน และเผชิญกับแรงกดดันจากกองทัพไม่ไหว นัยว่า เหตุการณ์ในโบลิเวีย เหมือนการรัฐประหารยังไงยังงั้น การถอดถอนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เมื่อครั้งพบปะกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐฯ (เอเอฟพี) กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ที่ผจญชะตากรรมกับกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรืออิมพีชเมนต์ (Impeachment) สำหรับ ประธานาธิบดีโดนัล์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการดังกล่าว หลังจากมีข้อกล่าวหาว่าเขาใช้อำนาจไปในทางมิชอบ และขัดขวาการทำหน้าที่ของสภาคองเกรส หรือรัฐสภา อันสืบเนื่องจากที่เขาถูกกล่าวหาว่า ไปโทรศัพท์กดดันให้ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เร่งไต่สวนการทุจริตของบริษัทบูริสมา ธุรกิจด้านพลังงานในยูเครน ครั้งที่นายฮันเตอร์ ไบเดน บุตรชายของรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคยเป็นซีอีโออยู่ แต่รอดพ้นการถูกดำเนินคดีมาได้ เพราะได้รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ช่วยเหลือเอาไว้ พร้อมกันนั้น ทางประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ยังข่มขู่ว่า จะตัดเงินช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครนที่ให้ไปปีละ 391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกด้วย ถ้าหากทางผู้นำยูเครนไม่ทำตาม นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และแกนนำพรรคเดโมแครต กับเอกสารต่างๆ สำหรับการถอดถอน หรืออิมพีชเมนต์ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ออกจากตำแหน่ง (เอเอฟพี) ก็ส่งผลให้ทางพลพรรคเดโมแครต สบช่องโอกาสที่จะ “เอาคืน” ต่อประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วยการขับเคลื่อนกระบวนอิมพีชเมนต์ทันที ซึ่งทางคณะกรรมาธิการด้านตุลาการแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เสียงส่วนใหญ่เป็นคนของพรรคเดโมแครต มีมติยื่นถอดถอนด้วยคะแนน 23 ต่อ 17 เสียง ส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โหวตกันต่อไป โดยคาดว่า สภาคองเกรสจะขานรับเป็นแน่ เพราะเสียงส่วนใหญ่เป็นเดโมแครต แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ผ่านวุฒิสภา ในการประชุม ส.ว. ที่จะมีขึ้นในเดือน ม.ค.ปีหน้า แต่ไม่ว่าศึกนี้จะยืดเยื้อและออกมารูปแบบใด ก็มีผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปของสหรัฐฯ ที่จะมีตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นเดิมพันด้วย ในปลายปี 2020 (พ.ศ. 2563) นี้อย่างแน่นอน