นับถอยหลังสำหรับเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2563 สำหรับใครที่มีภูมิเลาเนาอยู่ที่ต่างจังหวัดต่างก็เดินทางเพื่อไปเฉลิมฉลองกับครอบครัวหรือญาติสนิทตามต่างจังหวัดกัน สำหรับใครที่เป็นชาวกรุงหรือว่าไม่ได้เดินทางไปไหนในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เรามีสถานที่ แนะนำเพื่อให้ท่านและครอบครัวได้เดินทางไปสักการะเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตรับพรปีใหม่นี้ โดยได้รวบรวม 10 วัดสำคัญในกรุงเทพมหานครมาแนะนำได้แก่ 1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เริ่มจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เป็นวัดที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ด้วยเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) พระคู่บ้านคู่เมืองของเมืองไทย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2325 พร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวังและกรุงรัตนโกสินทร์ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นอกจากพระแก้วมรกตแล้ว ภายในยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสถานที่ต่าง ๆ อันมีสถาปัตยกรรมที่งดงามให้ได้เที่ยวชมอีกมากมาย เช่น พระอุโบสถ, ศาลาราย, พระศรีรัตนเจดีย์, ปราสาทพระเทพ บิดร หรือพระพุทธปรางค์ปราสาท, พระมณฑป, หอมณเฑียรธรรม, หอคันธารราษฎร์, หอพระนาก, พระวิหารยอด, นครวัดจำลอง, พระโพธิธาตุพิมาน, พระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาล, พระอัษฎามหาเจดีย์ หรือพระปรางค์แปดองค์, พระมณฑปยอดปรางค์ และหอระฆัง เป็นต้น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพระราชวัง โทรศัพท์ 0 2623 5500 ต่อ 3100 ทั้งนี้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ royalgrandpalace.th วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 2. วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร (เดิมชื่อว่า วัดใหม่) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศและถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 สำหรับวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ถือได้ว่าเป็นอีกวัดที่สำคัญของกรุงเทพฯ ด้วยมี พระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์เคยมาผนวชอยู่ที่นี่ แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อว่า "วัดใหม่" โดยเมื่อปี พ.ศ. 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้า ฟ้ามงกุฎฯ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) เสด็จมาอยู่ครอง และสมเด็จพระอนุราชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ก็ทรงได้ปรับปรุงวางหลักเกณฑ์ความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย ปัจจุบันวัดบวรนิเวศราชวรวิหารเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมของอาคารต่าง ๆ พร้อมทั้งไหว้พระขอพร โดยมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถ, พระเจดีย์ใหญ่, วิหารพระศาสดา, พระตำหนักเพชร, พระตำหนักจันทร์, หอระฆัง, หอไตร และพระตำหนักใหญ่ เป็นต้น รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ watbowon.com วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร 3. วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกกันในภาษาพูดว่า วัดแจ้ง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา ที่ชื่อวัดแจ้ง เพราะ พระเจ้าตากฯ ทำศึกเสร็จ แล้วยกทัพกลับมาเป็น เวลาเช้าพอดี ว่ากันว่าเดิมเรียกว่า วัดมะกอก และกลายเป็นวัดมะกอกนอกในเวลาต่อมา เพราะได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกวัดที่สร้าง ใหม่ว่า วัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) แล้วจึงเรียกวัดมะกอกซึ่งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ว่า วัดมะกอกนอก ส่วนเหตุที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งนั้น เชื่อกันว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ได้เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง แต่ความเชื่อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะเพลงยาวหม่อมภิมเสน วรรณกรรมสมัยอยุธยาที่ บรรยายการเดินทางจากอยุธยาไปยังเพชรบุรี ได้ระบุชื่อวัดนี้ไว้ว่าชื่อวัดแจ้งตั้งแต่เวลานั้นแล้ว ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีสัญลักษณ์สำคัญ คือ พระปรางค์ ซึ่งมีลักษณะทรงขอม องค์พระปรางค์ประธานสูงถึง 81.85 เมตร ประดับด้วยชิ้น เปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง ๆ อย่างสวยงาม เปิดให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าไปเที่ยวชมและกราบไหว้ขอพรทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30-17.30 น. วัดอรุณราชวราราม ตั้งอยู่ที 34 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร 4. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระ ราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบ อาณาเขตของวัด วัดราชบพิธฯ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล สำหรับสิ่งสักการะที่สำคัญคือพระพุทธอังคีรสเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พระนาม "พระ พุทธอังคีรส" แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ที่สำคัญยังเป็น 1 ใน 2 วัด ที่เป็นสถานที่เก็บพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้บรรจุพระบรมราชสรีรางคารไว้ที่ถ้ำศิลาใต้ฐาน พุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ภายในพระอุโบสถ เปิดให้ประชาชนเข้าถวายสักการะทุกวัน ในเวลา 08.00-10.00 น. และ 16.00-18.30 น. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร 5. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยัง เปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับวัดวัดพระเชตุพนฯ ตั้งอยู่ที่ ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีสิ่งที่น่า สนใจภายในวัด เช่น พระวิหารพระพุทธไสยาส, พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล, พระอุโบสถ, พระมณฑป, พระระเบียง, พระวิหารทิศ, พระวิหารคด และศาลาการเปรียญ เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ watpho.com วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร 6. วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย และถือเป็นวัดประจำรัชกาล ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และอยู่มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า อยู่บริเวณหน้าวัด เป็นอีกสัญลักษณ์สำคัญของไทยที่เรามักจะเห็นติดไปกับภาพของเสาชิงช้า โดยวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนตีทองและถนนบำรุงเมือง หน้าวัดหันออกทางถนนอุณากรรณ สร้างโดยพระ ราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์พระราชทานนามว่า "วัดมหาสุทธาวาส" แต่พระวิหารที่มีการสร้างใหม่ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน ต่อมาในสมัยพระ บาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้ทำการบูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จแล้ว โปรดให้สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ สัตตมหาสถาน และสร้างกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม จากนั้นพระราชทานนามว่า "วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร" ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีด้วย ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พระอุโบสถ, พระวิหาร, พระวิหารคด หรือพระระเบียง, ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช, ศาลาวิหารทิศ และหอระฆัง เป็นต้น สำหรับที่ตั้งของวัด ตั้งอยู่ที่ 146 ริมถนนตีทอง 1 ถนนบำรุงเมือง หน้าวัดออกทางถนนอุณากรรณ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร  วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร 7. วัดราชนัดดารามวรวิหาร วัดราชนัดดารามวรวิหาร หรือ "วัดราชนัดดา" ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเป็นพลับพลารับแขกเมือง เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ใกล้กับวัด เทพธิดาราม ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 และที่สถานที่สำคัญภายในวัดคือ โลหะปราสาท แทนการสร้างเจดีย์ นับเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของไทย โดยสร้าง เป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดปราสาท 37 ยอด หมายถึงโพธิปักขิยธรรมในพระพุทธศาสนา 37 ประการ ยอดปราสาทชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ กลางปราสาทเป็นช่องกลวง มีบันไดเวียน 67 ขั้น ให้เดินขึ้นไปดูทิวทัศน์ข้างบนได้ สำหรับสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ในวัดราชนัดดารามนี้ก็ยังเป็นแบบไทย พระอุโบสถเป็นมีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกงดงาม ภายในประดิษฐานพระ ประธานพระนามว่า "พระเสฏฐตมมุนี" ส่วนพระวิหารก็เป็นศิลปะแบบไทยเช่นกัน ภายในมีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นประธาน พระนามว่า "พระพุทธชุติธรรมนราสพ" ปัจจุบันวัดแห่งนี้ตั้งอยู่ ที่แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประเภท พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. วัดราชนัดดารามวรวิหาร 8. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความงดงามนั่นคือ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัด ไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้นพระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 สำหรับวัดตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ อาทิ พระราชวังดุสิต พระที่นั่งอนันตสมาคม พระตำหนักจิตลดารโหฐาน สวนสัตว์ดุสิต และทำเนียบรัฐบาล โดยจะตั้งอยู่บนถนนนครปฐมติดคลองเปรมประชากร เป็นอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ. 2369 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (ต้นราชสกุลพนมวัน) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้รับการโปรดเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นแม่ทัพรักษาพระนคร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ได้ทรงตั้งกองบัญชาการทัพที่วัดแหลม (วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในปัจจุบัน) และเมื่อได้ปราบกบฏเรียบร้อยแล้ว จึงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้พร้อมพระอนุชาและพระขนิษฐาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันอีก 4 พระองค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจบพิตร" ซึ่งหมายถึงวัดของเจ้านาย 5 พระองค์ จนปี พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้เพิ่มสร้อยต่อท้ายเป็น "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม" วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตั้งอยู่ที่ 69 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ภายในวัดมีสิ่งสำคัญมากมาย อาทิ พระอุโบสถ, พระพุทธชินราช, พระระเบียง, ศาลาหน้าพระอุโบสถ, ต้นพระศรีมหาโพธิ และศาลาอุรุพงษ์ เป็นต้น ดูเพิ่มเติมได้ที่ watbenchama.com  วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร 9. วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร อีกวัดหนึ่งที่อยากแนะนำคือ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดที่มีขนาดเล็กมาก ด้วยเนื้อที่เพียง 2 ไร่ 2 งานกับ 98 ตารางวาเท่านั้น โดยมีอาณาเขต ทิศเหนือจรดวังสราญรมย์ หรือกรมแผนที่ทหารในปัจจุบัน ทิศใต้จรดสวนสราญรมย์ ทิศตะวันออกจรดซอยราชินี คลองหลอด และทิศตะวันตกจรดทำเนียบองคมนตรี ถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่ภายในพระอารามนี้ก็ประกอบไปด้วยปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานมากมาย เช่น พระวิหารและพระเจดีย์ที่ฉลุด้วยหินอ่อน ปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฏกทรงขอม และพระที่นั่งทรงธรรมหรือศาลาการเปรียญ ที่เป็นที่ตั้งธรรมาสน์ยอดมงกุฎ และในพระวิหารของวัดก็เป็นที่สถิตของพระประธาน "พระพุทธสิหิงคปฏิมากร" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จำลองจากพระพุทธสิหิงค์องค์จริงที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์  วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร 10. วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สุดท้ายที่แนะนำคือวัดสระเกศ เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325 มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานเปลี่ยนชื่อวัดสะแก เป็นวัดสระเกศนี้ มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีข้อ 11 ว่า"รับสั่งพระโองการ ตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศแล้วบูรณปฏิสังขรณ์ เห็นควร ที่ต้นทางเสด็จพระนคร"ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า"ปฏิสังขรณ์วัดสะแกและเปลี่ยน ชื่อเป็น วัดสระเกศเอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนครมีคำ เล่า ๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวารสรงพระมุธาภิเษกตามประเพณีกลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า 'วัดสระเกศ' สำหรับจุดเด่นของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ก็คือ "พระบรมบรรพต" โดยได้เริ่มสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งสูงประมาณ 77 เมตร ด้านบนสุดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ปัจจุบันวัดแห่งนี้ ตั้งอยู่ริมคลองมหานาคและคลองรอบกรุง แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เปิดให้นัก ท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทุกวัน ไม่เสียค่าเข้าชม ดูรายละเอียดอื่น ๆ ได้ที่ watsraket.com และ เฟซบุ๊ก วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ทั้งหมดนี้เป็นวัดในกรุงเทพฯเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่มีประวัติและความสำคัญที่น่าสนใจ ที่ได้แนะนำให้ท่านหรือครอบครัวที่จะใช้ช่วงเวลาวันหยุดในเทศกาลปีใหม่ 2563 นี้ เพื่อที่จะสักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อดลบันดารให้ท่านและครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญตลอดปี 2563 ที่กำลังจะถึงนี้ ใครสะดวกวัดไหนก็ลองดูน่ะครับ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร