พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ (โอ๋)วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง  ด้วยประสบการณ์และผลงานในอดีตที่ภาคภูมิใจของ พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ (บิ๊กโอ๋)วิชชารยะ  รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เทียบเท่าปลัดกระทรวง อดีตที่ปรึกษา (สบ 10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เติบโตในสายวิชาการ หลังจากจบปริญญาเอกมาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อปี2532 พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ หรือ “ดร.โอ๋” ตอนนั้นเป็นน้องเล็กในทีมด๊อกเตอร์ที่กรมตำรวจแต่งตั้งเข้ามาเขียนแผนแม่บทฉบับแรก มีบทบาทเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทางวิชาการให้กับโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ต่อมามีผลงานโดดเด่นในงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ท จนได้ฉายา “มือปราบค้ามนุษย์” เพื่อนตำรวจมิตรประเทศและ NGO ยอมรับนับถือ ผลงานภายใต้การขับเคลื่อนของ ผอ.ศพดส.ตร. และ หน.คณะทำงานไทแคค (TICAC Taskforce) ในช่วงนั้น ถือว่าเป็นจุดแข็งที่มีส่วนช่วยให้การจัดอันดับเทียร์ในทริพรีพอร์ท (TIP Report) ของประเทศไทยเลื่อนขึ้นจากเทียร์ 3 ในปี 2557 สู่เทียร์ 2 ในปี 2561 จนได้รับฉายา “มือปราบค้ามนุษย์” “การที่ผมได้รับรางวัลผู้ปฏิบัติงานดีเด่น PM Award และได้สัมผัสมือกับท่านนายก (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) บนเวทีในงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาล เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมภาคภูมิใจ” พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยืนยันว่าตราบใดที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังนั่งเป็นประธานกรรมการ ปคม. ผมตั้งใจขับเคลื่อนผลักดันนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ให้สัมฤทธิ์ผล จริงๆ แล้วมีโอกาสทำงานได้มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ต้องยอมรับว่าปัญหาอุปสรรคในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีอีกมากที่ผมตั้งใจแก้ไขให้ได้ เชื่อมั่นว่าสถานการณ์ค้ามนุษย์ในประเทศไทยจะดีขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับประวัติย่อของพลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ บนเส้นทางสีกากี ติดยศพลตำรวจตรีคนแรกของรุ่นในตำแหน่ง ผู้บังคับการกองบริการการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อปี 2545 ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการ สถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศ หรือ ILEA Bangkok ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล จนได้ติดยศพลตำรวจโทตั้งแต่ปี 2556 ในตำแหน่งจเรตำรวจ  ผู้บัญชาการสำนักงานงบประมาณและการเงิน ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกเมื่อปี 2558 ติดยศพลตำรวจเอกในปี 2559ก่อนโอนไปทำเนียบรัฐบาลในปี 2561 และได้ลาออกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562ก่อนเกษียณอายุราชการเพื่อช่วยงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ผ่านการฝึกอบรม  รร.ตท. รุ่นที่ 16; รป.บ.(ตร.) รร.นรต. รุ่นที่ 32; ป. โท M.P.A. จาก Kentucky State University สหรัฐอเมริกา; ป. เอก Ph.D. สาขารัฐศาสตร์ (การวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ) จาก Northern Illinois University สหรัฐอเมริกา; ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 13; หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 54; หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 3 รางวัลเชิดชูเกียรติและความสามารถพิเศษ   ได้รับรางวัลผู้ปฏิบัติงานดีเด่นด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์จากรัฐบาล ประจำปี 2559; ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น นักศึกษาปริญญาโทและเอกในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา 1987 Gene Carte Student Paper Competition Award First Place Winner by the American Society of Criminology (2530); ได้รับรางวัลนักศึกษาปริญญาเอกดีเด่น Gerald Maryanop Fellow ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทเทอร์นอิลลินอยส์ (2532); ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Simple Theory, Hard Reality : The Impact of Sentencing Reforms on Courts, Prisons, and Crime by State University of New York Press, 1995 (2536) ถามรับตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง การเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รอง ลธน.ม.)  มีแนวทางในการบริหารจัดการอย่างไร พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งเลขาธิการประจำรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) นั่นเอง ประการแรก ท่านเมตตาและให้โอกาสผมมาก ถือว่าโชคดีที่ได้รับความไว้วางใจ มอบงานชิ้นนี้ให้ผม เลยเลื่อนไหลเข้ามาทำงานแบบไม่มีรอยต่อ คือ ก่อนครบเกษียณอายุ ได้ติดยศพลตำรวจเอก โอนมารับตำแหน่ง ซี 11ช่วยงานนายช่วงปลายรัฐบาลเก่า มีเวลาวางระบบงานรองรับโหมดการเมืองเต็มตัว เป็นงานที่ท้าทายมาก เพราะขอบข่ายงานกว้างขวางมาก  งานตำรวจเป็นเพียงส่วนย่อยเท่านั้น ยอมรับว่าตอนแรกเป็นกังวลมาก ในใจคิดว่าไม่กล้ารับตำแหน่ง กลัวจะทำไม่ได้ ไม่ถูกใจนายอะไรประมาณนั้นนะครับ ใครก็รู้ครับว่า นายไม่ตั้งเลขาฯ หลายปี เป็นอะไรที่ผมรู้สึกภาคภูมิใจมาก และได้ตอบแทนบุญคุณนายด้วย ประการที่สองทุกอย่างเหมือนกำหนดไว้ล่วงหน้า ไม่ได้คิดว่าวิชารัฐประศาสนศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ผมไปเรียนต่อโทเอกที่อเมริกา โดยที่ทางคณะรัฐศาสตร์ ม.นอร์ทเทอร์นอิลลินอยส์ (NIU) ได้บุกเบิกเปิดสาขาวิชาการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะขึ้นเป็นแห่งแรกของอเมริกา ตอนนั้นปี 2528 - 2532 กว่า 30 ปีแล้ว ไม่นึกว่าเอาตำราที่เรียนมาใช้ในตอนนี้ได้หมด ทั้งมุมมอง หลักคิด เครื่องมือที่ใช้วางกรอบในการทำงานทางการเมือง ผนวกเข้ากับที่ได้ผ่านประสบการณ์ดูแลงบประมาณ การเงิน และขับเคลื่อนงานภาคปฏิบัติการของหน่วยขนาดใหญ่แบบ สตช. ทำให้ผมพร้อมในการทำงานวันนี้ ประการที่สาม “สิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าจำเป็นในการบริหารจัดการ  คือ ต้องมองเกมทั้งกระดาน ทั้งตั้งรับ และรุกรบ ไปพร้อมๆ กัน ผมก็เหมือนหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการ Chief of Staff หรือ กุนซือ วันนี้เข้าโหมดการเมืองเต็มตัว ภาพลักษณ์และผลงานที่สร้างคะแนนนิยมและความเชื่อมั่นต่อท่าน รองนายกฯ คือสองปัจจัยที่สำคัญมากๆ เพื่อเติมเต็มบางสิ่งบางอย่างที่ขาดไป ผมเสนอสร้างทีมงานประชาสัมพันธ์และคณะทำงานติดตามข้อสั่งการของ รอง นรม. ขึ้น โดยเร่ิมที่การวางกรอบและขั้นตอนในการติดตามและขับเคลื่อนงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เรียบง่าย ปฏิบัติได้จริง มีขั้นตอน ปรับตัวตามสถานการณ์ คือ (1) เร่ิมต้นสำรวจเนื้องานที่มีอยู่บนหน้าตักทั้งหมด (2) จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน (3) ติดตามและขับเคลื่อนงาน (4) บูรณาการทุกภาคส่วนนำไปสู่การปฏิบัติ (5) รายงานผลการปฏิบัติ (6) รับนโยบายและข้อตกลงใจ จัดทำคำสั่งหรือหนังสือแจ้งหน่วยเกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ภายในหน้าที่และอำนาจของ รอง นรม. ซึ่งผมเรียกว่ากระบวนการนี้ว่า SPM - IRC (Scanning, Prioritizing, Monitoring & Mobilizing, Implementing & Integrating, Reporting, Commanding) เชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ทุกเรื่องทุกประเด็นนโยบาย ผมเคยใช้สำเร็จมาแล้วในเรื่องค้ามนุษย์ และกำลังใช้ในการติดตามมติ กนป. ซึ่ง นายป้อม (พล.อ.ประวิตร ในฐานะประธาน กนป.) ดันราคาผลปาล์มน้ำมันทะลุ กก.ละ 5 บาท ใกล้แตะ 6 บาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ทำให้ประหยัดงบประมาณโครงการไปกว่าครึ่ง แบบนี้บอกได้ว่า เกษตรกรชาวสวนปาล์มอยู่ได้ นายป้อมในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐได้คะแนน พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวเปิดใจอีกว่า กลไกนี้ช่วยแบ่งเบาภาระงานให้ รอง นรม. ได้ แบบที่ไม่ห่วงหน้า พะวงหลัง สิ่งที่ผมยึดมั่นอยู่เสมอ คือ ผมไม่จัดการนอกสั่ง รายงานนายทุกเรื่อง ไม่แน่ใจขอข้อตกลงใจก่อนที่จะทำ ที่ถือมาก คือ ไม่อ้างชื่อนายไปหาประโยชน์เด็ดขาด ความสำเร็จของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานกรรมการนโยบายปาล์มนำ้มันแห่งชาติ กนป. ขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มุมมองทางการเมืองที่ไม่ขายฝันเริ่มต้นจากมุมมองที่ว่า การเมืองไทยควรสร้างสรรค์นโยบายที่ตอบโจทย์ ต่อยอดการพัฒนาแบบยั่งยืน ไม่ใช่แบบขายฝันหรือปั่นกระแสนิยมชั่วข้ามคืน ในประเด็นนี้ โดยส่วนตัวผมว่ากล้ายืนยันว่า ไทยมาถูกทางเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การพัฒนานโยบายบนพื้นฐานของการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ คือการแข่งขันทางการเมืองที่ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แรงสนับสนุนจากฝ่ายข้าราชการประจำคือหลักประกันว่านโยบายที่ดีจะนำไปสู่การปฏิบัติ “ผมในฐานะเลขาฯ เป็นโซ่ข้อกลางที่เชื่อมระหว่างฝ่ายนโยบาย กับฝ่ายประจำ คอยสื่อสารในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์โครงสร้างกลไกตลาดที่แม่นยำตามหลักทฤษฎีทางเศรษฐมิติ ต้องยอมรับว่า เราได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน” ข้อพิสูจน์จากประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วงเร่ิมแรก เห็นได้ชัดว่า มติ กนป. ที่ พล.อ.ประวิตร เป็นประธานกรรมการในการผลักดันราคาปาล์มนำ้มันตามหลักอุปสงค์-อุปทานของกลไกตลาด โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ในฐานะกรรมการ กนป. ที่กำกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ในการดูดซับนำ้มันปาล์มดิบ (อุปทาน) ออกจากสต็อกส่วนเกินไปผลิตไฟฟ้าที่บางประกง ควบคู่ไปกับการเพ่ิมความต้องการนำ้มันปาล์มดิบ (อุปสงค์) ในการผลิต บี 100 สำหรับไบโอดีเซล บี10 ถือเป็นนโยบาย กนป. ที่สอดคล้องกับทฤษฎีการตลาด ไม่เพียงชาวสวนปาล์มที่มีรายได้เต็มกอบเต็มกำ มากกว่าส่วนต่างในการประกันรายได้ ผู้ประกอบการขายนำ้มันปาล์มมีกำไรแบบพออยู่ได้ ไบโอดีเซลมีราคาที่จูงใจ ลดการนำเข้านำ้มันดีเซล มลพิษจากท่อไอเสียรถบรรทุกลดลง ทั้งหมดนี้มีทุกอย่างที่ตอบโจทย์แบบครบวงจร ผมได้รับมอบหมายให้ลงมาติดตาม ขับเคลื่อน แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการทำงานของฝ่ายประจำ สร้างความเชื่อมั่นให้กับฝ่ายประจำ ผมเชื่อว่าฝ่ายประจำเต็มใจที่จะนำนโยบายที่ดีแบบนี้ไปสู่การปฏิบัติ หากฝ่ายนโยบายมีความจริงใจ ผลักดันแก้ไขปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติให้ราบรื่นเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เรากำลังวิเคราะห์เชิงพยากรณ์ โดยศึกษาทิศทาง แนวโน้มสินค้าปาล์มนำ้มันในตลาดโลก สถานการณ์พลังงาน บี 100 ของสหภาพยุโรป เป็นฐานวิเคราะห์สถานการณ์ด้านอุปสงค์และอุปทานปาล์มนำ้มันและน้ำมันปาล์มภายในประเทศทั้งกระบวนการ ต้นนำ้ กลางน้ำ และปลายน้ำ  จากพ้ืนที่เพาะปลูก ผลผลิตปาล์มสด กำลังการผลิตของโรงสกัดและโรงกลั่น ความต้องการใช้บริโภคอุปโภค พลังงานไบโอดีเซล สต็อกน้ำมันปาล์มดิบของปี 2562 เพื่อคาดการณ์สภาพการตลาดในปี 2573 เพื่อกำหนดเป็นนโยบายภายใต้การอำนวยการของคณะกรรมการ กนป. ที่มี พล.อ.ประวิตร และ นายสนธิรัตน์ เป็นผู้ขับเคลื่อนมาตรการนี้อยู่ ปีหน้านี้ คงได้เห็นรอยยิ้มของชาวสวนปาล์ม เงินในกระเป๋าที่เพิ่มขึ้นจากผลปาล์มน้ำมัน 17 ล้านตันต่อปี หรือ 1.4 ล้านตันต่อเดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค.62 ราคาอยู่ที่ กก.ละ 2.80 ตอนนี้ ธ.ค.62 ราคาอยู่ที่ 5.90 บาท เงินในกระเป๋าชาวสวนปาล์มเพิ่มขึ้นประมาณ 4,640 ล้านบาทต่อเดือน ชาวสวนปาล์มคงจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นหลายเดือนที่ผ่านมา ผมยืนยันกับชาวสวนปาล์มได้เลยว่า เป็นผลงานของทั้ง พล.อ.ประวิตร และ นายสนธิรัตน์ ที่ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคาผลปาล์มนำ้มัน และนี่แหละคือ ต้นแบบของนโยบายที่สร้างสรรค์โดยนักการเมืองที่คนไทยอยากเห็นเกิดขึ้นจนกว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่ความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่เกื้อหนุนให้ประเทศชาติก้าวต่อไปได้”