นาย ทิโมธี ฮิวจ์ส รองประธานฝ่ายพัฒนาองค์กรของอโกด้า กล่าวว่า จากผลการสำรวจของ อโกด้า แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวดิจิทัลได้ระบุถึง 3 วิถีการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักเดินทางสำหรับทศวรรษ 2020 ได้แก่ 1.แอปพลิเคชันเดียวสำหรับทุกความต้องการในการเดินทาง 2.การเดินทางโดยไม่ใช้พาสปอร์ต และ 3.การเช็คอินผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชันการท่องเที่ยวที่ล้ำสมัย และสัญญาณการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ดีขึ้น ส่งผลให้นักเดินทางมีความคาดหวังเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะนักเดินทางชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดในประเทศอินโดนีเซีย (56%) ประเทศสิงคโปร์ (54%) ประเทศมาเลเซีย (53%) ไต้หวัน (50%) ประเทศฟิลิปปินส์ (48%) และประเทศไทย (48%) เห็นว่า วิถีการท่องเที่ยวทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมานั้น จะกลายเป็นเรื่องปกติในการเดินทางในทศวรรษหน้า เพราะเมื่อเทียบกับในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาแล้ว มีนักเดินทางเพียง 1 ใน 3 (33%) เท่านั้นที่เห็นด้วย ใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วน 1 ใน 2 ของ นักเดินทางชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดหวังว่าจะเช็คอินเข้าที่พักผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้ เพื่อไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิวเช็คอินที่ล็อบบี้ เพราะสามารถดาวน์โหลดคีย์การ์ด และเช็คอินเข้าห้องพักได้ทันที โดยนักเดินทางจากสิงคโปร์ (54%) ฟิลิปปินส์ (53%) มาเลเซีย (58%) และไทย (49%) เป็น 4 ชาติที่คาดหวังให้เทรนด์แห่งนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวนี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากที่สุด ขณะที่ เทรนด์การเดินทางโดยไม่ใช้พาสปอร์ตนั้น นักเดินทางจากสิงคโปร์ (50%) เวียดนาม (47%) ฟิลิปปินส์ (45%) จีน (44%) และออสเตรเลีย (41%) คือ 5 ประเทศที่มีคาดหวังจะได้เห็นเทรนด์นี้มากที่สุด ในทางตรงข้าม มีเพียง 1 ใน 5 ของนักเดินทางจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่คาดว่าการเดินทางโดยไม่ใช้พาสปอร์ตจะกลายเป็นเรื่องปกติในทศวรรษหน้า ทั้งนี้ เทคโนโลยีได้สร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อวิธีการและสถานที่ที่ผู้คนเดินทางไป เช่นเดียวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดยอโกด้า ซึ่งทำให้นักเดินทางสามารถดูราคาและจำนวนห้องพักว่างของโรงแรม และบ้านพักหลายล้านแห่งทั่วโลกได้แบบเรียลไทม์ “ยุคนี้ถือเป็นยุคทองของนักเดินทาง เนื่องจากเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้รับการพัฒนาเพื่อให้ทุกคนสามารถค้นหา จอง และจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักได้ง่ายขึ้น หากย้อนเวลากลับไป เมื่อทศวรรษ 2000 มีเมาส์และคอมพิวเตอร์ที่ทำให้การจองตั๋วเครื่องบิน และที่พักออนไลน์ง่ายขึ้นเพียงไม่กี่คลิก ส่วนในทศวรรษ 2010 มีสมาร์ทโฟน และแอปพลิเคชันที่เปรียบเสมือนทราเวลเอเย่นต์พกพาอยู่ในกระเป๋ากางเกงของเจ้าของโทรศัพท์มือถือหลายล้านคน และในทศวรรษ 2020 ที่กำลังจะมาถึงมีเครื่องมืออันทรงพลังอย่าง การเก็บข้อมูล และแมชชีน เลิร์นนิ่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี AI โดยสองสิ่งนี้จะช่วยให้บริษัทต่าง ๆ เช่น อโกด้า สามารถแนะนำสินค้าและบริการที่มีความเฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคล (personalized) และเกี่ยวข้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้การจองบริการต่าง ๆ สำหรับการเดินทางกลายเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น” นาย ทิโมธี กล่าว เกียวโตคว้าที่ 1 จุดหมายปลายทางที่ผู้คนอยากไปเยือน ซึ่งทำให้ นักเดินทางมีความกระตือรือร้น และคาดหวังที่จะเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะยกระดับ และทำให้การเดินทางเป็นเรื่องง่ายขึ้น โดยเฉพาะชาวเอเชีย ที่ในปัจจุบันหลายบริษัทในทวีปเอเชียกำลังเป็นผู้นำของโลกในด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้และพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ทั้งในด้านวิดีโอและเทคโนโลยีเสมือนจริง (augmented reality) การปรับปรุงและพัฒนาแอปพลิเคชันและบริการสำหรับโทรศัพท์มือถือด้วยแชทและเสียง รวมถึงการชำระเงินออนไลน์ อย่างไรก็ตาม นาย ทิโมธี กล่าวว่า นักเดินทางทั่วโลกมีความต้องการที่จะท่องเที่ยวมากขึ้นในทศวรรษ 2020 ประมาณ 40% ของผู้ตอบแบบสอบถาม อยากเที่ยวในประเทศของตนเองให้มากขึ้น และ 35% อยากเที่ยวในต่างประเทศ และเมื่อพูดถึงความรับผิดชอบต่อสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนในระดับโลก นักเดินทางมากกว่า 1 ใน 4 ต้องการทางเลือกในการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในทศวรรษหน้า โดยเฉพาะนักเดินทางจากประเทศสิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย ที่มีความกระตือรือร้นในการเลือกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจเนื่องมาจากการปิดอ่าวมาหยาในประเทศไทย และเกาะโบราไกย์ ในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้นักเดินทางอยากมีส่วนร่วมช่วยรักษ์โลกขณะท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มนักเดินทางอายุ 35-44 ปี และมากกว่า 55 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะอยากท่องเที่ยวในประเทศของตนเองมากขึ้น (40% และ 42% ตามลำดับ) โดยนักเดินทางจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และประเทศเวียดนาม เลือกจุดหมายปลายทางในประเทศเป็น 1 ใน 3 อันดับแรกบนรายการจุดหมายปลายทางที่ตัวเองอยากไปในทศวรรษหน้า ด้านนักเดินทางชาวเกาหลีและญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวมากขึ้นในทศวรรษหน้า ส่วนนักเดินทางชาวไต้หวันและอินโดนีเซีย มีแนวโน้มจะเดินทางช่วงจบการศึกษาเพื่อค้นหาตัวเองก่อนศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรือวางแผนอื่น ๆ ในอนาคต สำหรับเกียวโตคว้าที่ 1 จุดหมายปลายทางที่ผู้คนอยากไปเยือนมากที่สุดในโลกในทศวรรษ 2020 ทวีปเอเชียขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ของจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลกในทศวรรษหน้า นักเดินทางทั้งจากเอเชียและตะวันตก ต่างอยากมาสัมผัสและสำรวจเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นดั่งสมบัติของทวีปเอเชีย อาทิ เมืองเกียวโตในประเทศญี่ปุ่นที่มีศาลเจ้าชินโต วัฒนธรรม อาหาร และประวัติศาสตร์อันเลื่องชื่อ ตามมาด้วยกรุงเทพมหานคร และเกาะบาหลีในประเทศอินโดนีเซีย กรุงเทพมหานครยังติดอันดับ 1 จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับคนไทยในทศวรรษหน้า สำหรับนักเดินทางจากประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศไทย ไต้หวัน ประเทศเวียดนาม และประเทศมาเลเซีย ต่างต้องการไปเที่ยวที่อื่นมากกว่าที่เมืองหลวงของประเทศตัวเอง ขณะเดียวกันนักเดินทางจากประเทศเกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และประเทศออสเตรเลีย เป็น 3 ประเทศที่ไม่ได้เลือกที่เที่ยวในประเทศเป็นจุดหมายปลายทางในทศวรรษหน้า อีกทั้งถ้าข้ามไปฝั่งตะวันตก นักเดินทางชาวอเมริกันและชาวอังกฤษต่างอยากไปท่องเที่ยวที่มหานครนิวยอร์กมากที่สุดในทศวรรษหน้า ทั้งนี้มหานครนิวยอร์ก เป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ สำหรับนักเดินทางจากประเทศออสเตรเลีย ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ส่วนนักเดินทางทั้งชาวมาเลเซีย และอินโดนีเซียก็มีความต้องการอยากไปเยือนกรุงมักกะฮ์ให้ได้ก่อนปี 2030 เมื่อหันมาดูเทรนด์การท่องเที่ยวในทศวรรษ 2020 ของประเทศไทย พบว่า คนไทยเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) คาดว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเช็คอินเข้าที่พักได้จะกลายเป็นเรื่องปกติในทศวรรษหน้า ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่คาดหวังกับเทรนด์นี้มากที่สุด ส่วน 39% ของคนไทยคาดว่าจะสามารถใช้แอปพลิเคชันเดียวสำหรับทุกความต้องการในการเดินทางได้ ประมาณ 32% ของนักเดินทางชาวไทยต้องการทางเลือกในการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเมื่อเดินทาง และกรุงเทพมหานครยังติดอันดับ 1 จุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับคนไทยในทศวรรษหน้า ตามมาด้วยด้วยเกียวโต อันดับ 2 และภูเก็ต อันดับ 3 และประมาณ 36 % ของนักเดินทางชาวไทยต้องการท่องเที่ยวในประเทศตัวเองมากขึ้น ขณะที่ 30% ต้องการไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น