“SUPER”กดปุ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในโครงการโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ หนุนกำลังการผลิตติดตั้งรวมในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 236.72 เมกะวัตต์ ฟันธงปีหน้าสดใสเดินหน้าเก็บเกี่ยวรายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศเต็มที่ ขณะที่ตั้งเป้าหมายอีก 1-2 ปีมีสัญญาซื้อขายไฟแตะระดับ 1,200-1,300 เมกะวัตต์ นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัทซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ SUPER เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.62 บริษัทได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD)ในโครงการโซลาร์ฟาร์มโครงการ Sinenergy Ninh Thuan ในประเทศเวียดนาม ให้กับการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) จำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิต 50 เมกกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตติดตั้งรวมเพิ่มขึ้นเป็น 236.72 เมกะวัตต์ จากทั้งหมดจำนวน 5 โครงการในเวียดนาม ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายการลงทุนในต่างประเทศ และเมื่อรวมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทย่อยของ SUPER ในประเทศไทยที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วจำนวน768.60 เมกกะวัตต์จะทำให้มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,005.32 เมกกะวัตต์ ทั้งนี้ในส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตรวม 422 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีความพร้อมเริ่มทยอยก่อสร้างแล้ว โดยแบ่งเป็นโครงการพลังงานกังหันลมทางทะเล ขนาดกำลังการผลิต 172 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลมบนพื้นดิน กำลังการผลิตประมาณ 250 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่า จะดำเนินการ COD ได้บางส่วนในช่วงปลายปี63 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศมีแผนการขยายต่อเนื่อง เพื่อผลักดันรายได้มากขึ้น ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชนได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชน จังหวัดหนองคาย กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชน จังหวัดพิจิตร กำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ พลังงานความร้อนจากขยะชุมชนที่ จังหวัดนนทบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 20 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชนที่จังหวัด เพชรบุรี กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยพัฒนาโครงการตามแผนงานของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทได้ทำการขายไฟฟ้าโดยตรงให้กับลูกค้าในลักษณะ Private PPA โดยล่าสุดได้เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ด้วยระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังการผลิตติดตั้ง 4.04 เมกะวัตต์ เพิ่มเติมจากเดิมที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่ง และอยู่ระหว่างการเจรจาผู้ประกอบการอีกหลายราย อย่างไรก็ตามในปี 63 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายของการมีแหล่งรายได้ในระยะยาว รวมทั้งการมองหาโอกาสการขยายการลงทุนในประเทศอื่นๆเช่น มาเลเซีย,เมียนมา,ไต้หวัน ฯลฯ เพื่อไปมุ่งสู่เป้าหมายใหญ่คือ การเป็นผู้นำธุรกิจโรงไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้กำลังการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสิ้น 1,200-1,300 เมกะวัตต์ และ 2,000 เมกะวัตต์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นด้วยเช่นกัน โดยในปีหน้าจะต้องเดินหน้าเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และจะปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาในโครงการโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆทั้งจากในและต่างประเทศและคาดว่าผลการดำเนินงานจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี62 ไม่ว่าจะเป็นในส่วนอัตรากำไรสุทธิ หรือรายได้รวม โดยตั้งเป้าปี63 รายได้รวมเติบโตไม่ต่ำกว่า 20-25% จากปี62 และมียอด PPA อยู่ในระดับ 1,200-1,300 เมกะวัตต์