คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์ / ก๊วยเจ๋ง วันปีใหม่ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มีอยู่ทุกวัน ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ชอบจัดปีใหม่ทุกปี ส่วนมากจะไปจัดที่บ้านพักต่างจังหวัด โดยในช่วงปี 2521 – 2523 ท่านจะไปจัดที่บ้านพักบนดอยขุนตาน แต่ตั้งแต่ปี 2524 ที่ท่านสร้างบ้านพักที่ริมแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่เสร็จ ท่านก็เปลี่ยนมาจัดที่นี่แทน ท่านให้คำตอบว่าชอบอากาศหนาว ทั้งที่ขุนตานและเชียงใหม่ เพราะ “ได้เล่น” อะไรที่สนุกสนาน เช่น การตกแต่งประดับประดาสถานที่ ได้แต่งตัวสวยๆ งามๆ ใส่เสื้อผ้าได้หลายชิ้น มีการแจกของขวัญ แต่ที่สำคัญคือได้รับประทานอาหารอร่อยๆ เนื่องจากอากาศหนาว ทำให้รับประทานอาหารได้มาก โดยเฉพาะอาหาร “หวานๆ มันๆ” ที่หมอห้ามไม่ให้ท่านรับประทานมาก แต่ในเทศกาลอย่างนี้คงไม่มีใครใจร้ายจะมาห้ามหยุมหยิมให้ไม่เป็นมงคล ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่าเทศกาลปีใหม่ไม่ใช่เทศกาลที่เป็นของไทย เพราะวันปีใหม่ของไทยแต่โบราณเขาถือเอาวันสงกรานต์เป็นวัน “เถลิงศก” หรือ “เปลี่ยนปี” หรือแม้แต่คนจีนก็ถือเอาวันตรุษจีน ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดฤดูหนาวนั้นเป็นวันปีใหม่ ส่วนฝรั่งก็มีวันคริสมาสต์ก่อนหน้าวันสิ้นปีเพียงไม่กี่วัน ดังนั้นวันปีใหม่ของฝรั่งก็เป็นเพียงแค่วันหยุดต่อเนื่องจากวันคริสมาสต์เท่านั้นเอง ทั้งยังมีวันอีสเตอร์ที่อยู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน อันเป็นวันที่ระลึกถึงการฟื้นพระชนม์กลับคืนสู่โลกของพระเยซู ที่ชาวคริสต์นับถือกันเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิอีกด้วย ส่วนในทางชีวิตของคนที่เป็นข้าราชการ ก็จะถือเอาวันที่ 1 ตุลาคมเป็นวันปีใหม่ของชีวิตราชการ เพราะบางคนก็เกษียณอายุ บางคนก็ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายไปรับตำแหน่งใหม่ และที่สำคัญคือการเริ่มปีงบประมาณที่ส่วนราชการต่างๆ จะต้องใช้เงินงบประมาณของปีต่อไปนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงให้ความหมายของวันปีใหม่ว่า “วันแห่งความสนุกสนาน” ไม่ใช่แค่เรื่องของการได้เล่นอะไร หรือได้กินอะไรเท่านั้น แต่เป็นวันที่หลายคนเชื่อและนิยมปฏิบัติกันว่า จะละทิ้งสิ่งไม่ดีในวันเก่าๆ หรือการให้อภัยกันและกัน แล้วเริ่มชีวิตใหม่ให้ดีกว่า มีความสุขกว่า และเพื่อมิตรภาพที่ดีกว่าในปีใหม่นั้น ดังนั้นวันสิ้นปีก็คือวัน “ส่งความทุกข์” และวันปีใหม่ก็คือ “ต้อนรับความสุข” สำหรับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์แล้ว “ความสุขมีได้ทุกวัน” หลักการการที่คนเราจะมีความสุขได้ทุกวันนั้น ผมขอประมวลรวมจากที่ได้สังเกตการใช้ชีวิตของท่านอันนำมาซึ่งความสุขที่ท่านมีอยู่เสมอๆ ว่ามีอยู่สัก 4 ประการด้วยกัน คือ หนึ่ง “ทำตัวให้เป็นคนทันสมัยอยู่เสมอ” ซึ่งความทันสมัยนี้ประกอบด้วย การอยู่ร่วมกันกับคนทุกรุ่นทุกเหล่า คือต้องมีสังคมให้มาก เปิดใจต้อนรับและคบหาสมาคมกับคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ท่านบอกว่าหลายคนพอแก่ตัวเข้าก็เอาแต่จะเข้าวัดเข้าวา แยกตัวออกจากสังคม ซึ่งท่านเห็นว่านั่นคือการแยกตัวออกจากธรรมชาติ เพราะธรรมชาติของมนุษย์จะต้อง “มีสังคม” ดังนั้นถ้าเราเป็นคนที่มีสังคมคือติดต่อพูดคุยกับผู้คนทั้งหลายอยู่เป็นประจำแล้ว เราก็จะ “ไม่แก่” เพราะสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปตามคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งการที่เราพบปะติดต่อกับคนรุ่นใหม่ๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้เราไม่ล้าสมัย รู้ว่าเขาอยู่เขากินเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร รู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว รวมถึงเราอาจจะคาดการณ์อนาคตได้ด้วยว่า โลกในวันต่อไปจะเป็นอย่างไร นั่นก็คือการที่เรา “พัฒนาตัวเรา” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเราเห็นว่าโลกนี้น่าอยู่ เราก็จะมีความสุขอยู่ทุกวัน สอง “ไม่ยึดติด ใช้ชีวิตไม่เบียดเบียนใคร” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นคนที่ “ติดดินมากๆ” เพราะไม่ยึดติดหัวโขนอะไรเลย ไม่ว่าท่านจะมีตำแหน่งยศถาหรือได้รับการยกย่องอะไรมากมาย แต่ผมก็ไม่เคยเห็นท่านดีใจจนออกหน้า เช่นเดียวกันเมื่อผิดหวังหรือถูกคนด่าคนนินทา รวมถึงประสบความล้มเหลวในหลายๆ เรื่อง เช่น แพ้เลือกตั้ง หรือสูญเสียสุนัขอันเป็นที่รัก ท่านก็วางเฉยและดำเนินชีวิต “สนุกสนานเฮฮา” ไปตามปกติ บางครั้งก็ทำให้คนทั้งหลายเห็นเป็นเรื่องขบขัน เช่นเวลาที่ท่านถูกคนนินทาว่าร้าย ท่านก็บอกว่าให้นึกเสียว่าคนที่นินทาว่าร้ายเรานั้น ก็เหมือนสุนัขที่ปัสสาวะรดภูเขาทอง ซึ่งภูเขาทองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความยิ่งใหญ่สูงส่งอะไร แต่เหมือนกับสิ่งที่ดีงามบริสุทธิ์ เมื่อมีความดีงามบริสุทธิ์อยู่ในตัวแล้ว มลทินหรือสิ่งสกปรกใดๆ ก็ไม่สามารถทำให้สิ่งนั้นๆ เสื่อมค่าไปได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะต้องไม่เบียดเบียนใคร คือไม่ทำให้ใครเดือดร้อน โดยเราจะต้อง “มีเมตตาและให้อภัย” อยู่เสมอ ซึ่งก็จะทำให้เราไม่รู้สึกเดือดร้อนเมื่อมีใครมาก่อความวุ่นวาย หรือมีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในชีวิต สาม “มีอารมณ์ขันและมองโลกในแง่ดี” ในความคิดของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ อารมณ์ดีเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ในทางตรงกันข้ามอารมณ์ร้ายก็เป็นโทษและมีพิษมีภัย ท่านบอกว่าอารมณ์ดีจะเกิดจากคนที่คิดดีหรือมองโลกในมุมที่ดีและสวยงามอยู่เสมอ ท่านอาจารย์จึงชอบ “บำรุงความคิด” ด้วยการหาสิ่งดีให้แก่สมอง เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง สิ่งบันเทิงต่างๆ ที่ชอบ หรือการเขียนถ่ายทอดความรู้ความคิดเห็นต่างๆ ให้คนอื่นได้มีความสุขร่วมไปด้วย ในทางตรงกันข้าม เราก็กำจัดอารมณ์เสียๆ ที่ร้ายๆ นั้นออกไป เพื่อไม่ให้มันทำร้ายตัวเราเอง ดังนั้นหลายครั้งเราจึงเห็นว่าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ชอบที่จะตอบโต้คนที่มาว่าร้ายท่านนั้นแรงๆ ซึ่งท่านบอกว่าอารมณ์เสียก็เหมือนอาหารที่บูดเน่า หรือเป็นน้ำโสโครกที่อยู่ในตัวเรา ต้องทิ้งหรือระบายออก ก็จะทำให้ร่างกายโล่งเบา ที่สำคัญทำให้ “ไม่รกสมอง” และชีวิตก็จะเบาสบาย มีความสุขอยู่เสมอ สี่ “มุ่งหวังให้ผู้อื่นมีความสุข” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ท่านมีชีวิตอย่างมีความสุขด้วยธรรมะที่ชื่อว่า “พรหมวิหาร 4” คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ที่เป็น “การให้สิ่งดีๆ” แก่คนทุกคนโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย ขอเพียงแต่ “ให้ใจ” หรือ “ความรู้สึกที่ดีๆ” ต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น อย่างที่เรียกว่าเมตตา หรือการยินดีให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ต้องการสิ่งตอบแทน อย่างที่เรียกว่ากรุณา หรือการรู้สึกชื่นชมยินดีเมื่อเห็นคนอื่นมีความสุข รวมทั้งแสดงความเห็นอกเห็นใจเมื่อเขามีทุกข์ อย่างที่เรียกว่ามุทิตา และการทำใจให้เป็นกลางเมื่อประสบกับสิ่งที่ทั้งชอบใจและไม่ชอบใจ อย่างที่เรียกว่าอุเบกขา ปีใหม่สำหรับๆ หลายๆ คนอาจจะคือการเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ แต่ปีใหม่ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะทุกๆ วันนั้นก็คือปีใหม่ คือวันที่มีความสุขที่เข้ามาใหม่ๆ อยู่ทุกวันนั่นเอง