คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย กระบวนการไต่สวน “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ในวุฒิสภาคงจะเริ่มต้นอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว แต่ผลจะออกมาอย่างไรคงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เกินการคาดเดาเท่าไหร่นัก เพราะโดยทฤษฎีของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯแล้วนั้น วุฒิสมาชิกทั้ง 100 คนที่รับหน้าที่ลูกขุนจะเป็นผู้ชี้ขาด โดยมีประธานศาลสูงสุดเข้าไปเป็นประธานหัวเรือใหญ่ในการไต่สวน!!! อย่างไรก็ตามบุคคลที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางว่า เรื่องราวในคดีจะออกมาด้านหัวหรือด้านก้อยก็คือ “วุฒิสมาชิกมิตช์ แม็คคอนเนลล์” ผู้นำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา โดยเขาคือผู้ชักใยคอยกำกับอยู่เบื้องหลังฉากที่ได้รับคำสั่งจากประธานาธิบดีทรัมป์อีกต่อหนึ่ง!!! ทั้งนี้วุฒิสมาชิกแมคคอนเนลล์ได้ประกาศออกมาว่า “จะให้การไต่สวนในครั้งนี้ยุติลงอย่างรวดเร็วที่สุด” โดยเขาต้องการให้ประธานาธิบดีทรัมป์หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาในคดีเหล่านี้ และเขายังให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออีกว่า “ข้าพเจ้าคงจะไม่เป็นลูกขุนที่ยุติธรรมเท่าใดนัก” ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณออกมากลายๆแล้วว่า เขาเลือกที่จะยืนอยู่ข้างประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเต็มที่ เท่ากับว่ากระบวนการไต่สวนครั้งนี้เป็นเรื่องของเกมการเมืองโดยตรงไม่อ้อมค้อม ซึ่งไม่ว่าในสภาผู้แทนราษฎรหรือในวุฒิสภาใครมีเสียงข้างมากฝ่ายนั้นได้เปรียบ ส่วน “วุฒิสมาชิกลินเซย์ แกรแฮม” ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการตุลาการวุฒิสภาก็ได้เดินเกมเข้าข้างประธานาธิบดีทรัมป์เหมือนดั่งที่เขาเคยปฎิบัติโดยตลอดด้วยเช่นกัน โดยเขาได้ออกมาเปิดปากสารภาพว่า “ข้าพเจ้าไม่อยากเสแสร้งว่า ข้าพเจ้าจะเป็นลูกขุนที่ไม่เลือกข้าง และข้าพเจ้าก็ขอยอมรับอีกด้วยว่า ข้าพเจ้าก็คงจะเป็นลูกขุนที่ไม่ยุติธรรมอย่างแน่อน” เท่ากับว่าทั้งสองบุคคลนี้ ถือเป็นข้อได้เปรียบของประธานาธิบดีทรัมป์ไปโดยปริยาย ดูเหมือนว่าโอกาสที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะถูกถอดถอนนั้นแสนยากลำบากเปรียบเสมือนเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะเขาสามารถใช้ชั้นเชิงเล่นเกมการเมืองได้เหนือกว่า โดยเฉพาะเขาสามารถกำกับไม่ให้พรรครีพับลิกันเกิดเสียงแตกในวุฒิสภาได้อย่างดีเยี่ยม และเมื่อเวลาผันผ่านมาถึง ณ ขณะนี้แล้ว ทำให้เห็นได้อย่างค่อนข้างเด่นชัดเลยว่า ยังไม่มีวุฒิสมาชิกในพรรครีพับลิกันแม้แต่คนเดียวเลยที่ออกมาส่งสัญญาณว่า “จะแปรพักตร์หันหัวเรือหนีออกจากพรรค” เท่ากับว่าเป็นการยากที่พรรคเดโมแครตจะสามารถพลิกเกมการเมืองในครั้งนี้ได้ ทำให้พรรคเดโมแครตซึ่งมีเสียงมากกว่าในสภาผู้แทนฯที่น่าจะเป็นฝ่ายกำหนดทิศทางให้สภาผู้แทนฯลงมติถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ออกจากตำแหน่งได้เป็นอย่างดี กลับไม่ประสบผลสำเร็จเพราะในวุฒิสภาพรรครีพับลิกันมีคะแนนสูงกว่า 53 ต่อ 47 เสียง อย่างไรก็ตามหากการไต่สวนเพื่อต้องการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์มีผลออกมาว่า “เป็นขบวนการไต่สวนที่ไม่ยุติธรรม”ก็ย่อมจะสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นภายในประเทศสหรัฐฯสูงมากยิ่งๆขึ้นไปอีก!!! ส่วนในแง่ที่สภาผู้แทนฯรวบรวมเอกสารผูกมัดประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแน่นหนาก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้นั้น เนื่องจากวุฒิสมาชิกในพรรครีพับลิกันต่างร่วมกันผนึกพลังอย่างเหนียวแน่นโดยไม่มีเสียงแตก และหากจะมีวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันบางคนที่อาจจะแปรพักตร์ไปบ้างก็ตาม แต่เสียงก็คงจะไม่มีเพียงพอที่สามารถจะถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ให้กระเด็นออกไปจากตำแหน่งได้ อย่างไรก็ตามกระบวนการไต่สวนในวุฒิสภาถือได้ว่าเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสดีให้ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาปกป้องข้อกล่าวหาทั้งหลายที่มีต่อเขา แต่เชื่อเหลือเกินว่า “คงจะเป็นไปแบบหยาบๆเอาสีข้างเข้าถูแถไปน้ำขุ่นๆ” คราวนี้ลองหันกลับมาดูมติของคนอเมริกันที่จัดทำขึ้นโดยสำนักกัลลัพโพลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ที่มีผลปรากฎออกมาว่า หลังจากที่สภาผู้แทนฯผ่านมติถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์แล้วนั้น คะแนนนิยมของเขากลับตาลปัตรเพิ่มสูงขึ้น 6% โดยขณะนี้คนอเมริกันมีความพึงพอใจในการทำงานของเขามากขึ้นถึง 45% มีผลทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมจากฐานการเมืองในพรรครีพับลิกันถึง 86% และยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่า มติที่คนอเมริกันเคยสนับสนุนให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ลดลงถึง 6% นับจากวันที่ประธานสภาฯแนนซี เพโลซี่ประกาศถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ อย่างไรก็ตามสมาชิกในค่ายพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่ก็ยังคงสนับสนุนให้มีการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 85% เท่ากับว่าในขณะนี้ทั้งคะแนนนิยมของประธานาธิบดีที่ได้รับจากสมาชิกในค่ายพรรครีพับลิกันและคะแนนต่อต้านที่มาจากสมาชิกในค่ายพรรคเดโมแครตนั้น สูสีคู่คี่กันมาด้วยคะแนน 86% ต่อ 85% ส่วนฝ่ายอิสระที่เคยเป็นตัวแปรสำคัญในทิศทางการเมืองนั้น ดูเหมือนว่าครั้งนี้มิได้มีบทบาทสำคัญในการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์แต่อย่างใด!!! คราวนี้หันไปดูคะแนนนิยมของวุฒิสมาชิกมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้ที่เปรียบเสมือนว่า สามารถทำให้ชะตากรรมทางการเมืองของประธานาธิบดีทรัมป์พลิกผันกันบ้าง จากผลโพลของสำนักหยั่งเสียง Public Policy Poll เมื่อวันที่ 1 พฤศิกายนนี้ปรากฎว่าคะแนนนิยมของวุฒิสมาชิกมิตช์ แม็คคอนในรัฐเคนตักกีที่เขาเป็นตัวแทน ตกร่วงกราวลงถึง 18% และหากเป็นดังนี้ การลงเลือกตั้งของวุฒิสมาชิกแมคคอนเนลล์ในปี 2020 คงจะทำให้เขาต้องเผชิญกับความยากลำบากเป็นที่สุด แต่อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่าเขาเป็นนักการเมืองมืออาชีพที่เคยได้รับชัยชนะอย่างหวุดหวิดมาแล้ว ครั้งที่เขาลงเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1984 วุฒิสมาชิกแม็คคอนเนลล์ เป็นนักการเมืองหน้านิ่งที่มีหน้าตาไม่สะทกสะท้านต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเขายังเป็นบุคคลที่ชอบทำงานในเรื่องที่ค่อนข้างเสี่ยง กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นแม้ว่าผลการไต่สวนยังดำเนินต่อไปอีกหลายสัปดาห์แถมยังไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ใดๆออกมาเลย แต่ดูเหมือนว่าการไขปริศนาในครั้งนี้น่าจะวิเคราะห์ได้ไม่ยากนัก และถึงแม้ว่าในค่ายพรรคเดโมแครตยังมีนักการเมืองมือฉมังรุ่นลายครามในสภาคองเกรสหลากหลายคนที่ต่างลงมือวางเกมหวังให้เกิดสัมฤทธิผลดังใจหวังก็ตาม แต่อย่าลืมว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ซึ่งคงจะต้องตั้งหน้าตั้งตารอคอยการไต่สวนที่แสนจะดุเดือดเข้มข้นกันต่อไปละครับ