เกษตรฯ ขับเคลื่อนศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนทั่วประเทศ รณรงค์ผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชูสโลแกน “ปกป้องอนาคต ลดการเผา ลดการชะล้าง ลดต้นทุน” เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงาน รณรงค์การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ วัสดุอินทรีย์ ปกป้องอนาคต ลดการเผา ลดการชะล้างดิน ลดต้นทุน เนื่องในวันดินโลก 5 ธันวาคม 2562 เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันดินโลก รู้คุณค่าของทรัพยากรดินและการจัดการวัสดุการเกษตรเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก ที่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเกษตรกรรม ต้องร่วมกันดูแลรักษาให้สามารถใชช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ณ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน นาแปลงใหญ่ ตำบลดู่ทุ่ง จังหวัดยโสธร นายวราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากนโยบาย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี และก้าวสู่การทำเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งการทำเกษตรผสมผสาน รวมไปถึงการเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้อง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร มี ศูนย์จัดการ ดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) อำเภอละ 1 ศูนย์ รวม 882 ศูนย์ ซึ่งเป็นเครือข่ายของ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก รวม 26,204 ราย ที่สามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนขยายผลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ปุ๋ย เห็นผลสำเร็จจากการส่งเสริมการใช้จริง ในพื้นที่ ศพก. และ แปลงใหญ่ ซึ่งปี 2562 สมาชิกของ ศูนย์ฯ สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชต่างๆ ประมาณ 370 บาทต่อไร่ ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ รวมวัสดุอินทรีย์ ในปี 2562 เป้าหมาย 4 เพิ่ม 4 ลด ได้แก่ เพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มธาตุอาหารพืช เพิ่มผลผลิต เพิ่มมูลค่าวัสดุทางการเกษตรเหลือใช้ และ ลดการเผา ลดโลกร้อน ลดการชะล้างดิน ลดต้นทุน สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ ได้กว่า 1.47 ล้านตัน เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ กว่า 9 แสนไร่ นอกจากนี้ ภายในงานยังมอบโล่เกียรติยศ ให้แก่ จังหวัดที่มีผลงานการขับเคลื่อนศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ดีเด่น 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ตราด บึงกาฬ สุรินทร์ ตรัง กระบี่ น่าน และพิจิตร และจังหวัดที่มีผลงานการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ วัสดุอินทรีย์ดีเด่น 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร อุบลราชธานี พิษณุโลก กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และร้อยเอ็ด รวมถึงมีสถานีเรียนรู้สำหรับเกษตรกรที่มาร่วมงาน จำนวน 10 สถานี เช่น สถานีปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึง แปลงสาธิตการปลูกพืชหลังนา สาธิตการไถกลบตอซัง และหว่านปุ๋ยพืชสด