บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือ GC ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัวแคมเปญ Waste This Way: ร่วมกันรักษ์โลกให้ถูกทางเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างครบวงจร ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 74 โดยการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาขยะ พร้อมนำแนวคิด Circular Living ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามาปรับใช้ในการจัดกิจกรรมและสื่อสารไปยังนิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นพลังเล็กๆ ขยายผลไปยังสังคมในวงกว้างต่อไป ดร.คงกระพัน อินทรแจ้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCกล่าวว่า “GC มุ่งเน้นในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการนำแนวคิดCircular Economyหรือเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความพยายามนี้ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการกระทำขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง เราจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการส่งเสริมให้ทุกคนนำหลักการนี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันและสร้างไลฟ์สไตล์แบบCircular Living ด้วยการใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อเปลี่ยนโลกให้ดียิ่งขึ้น” ทั้งนี้ GC ในฐานะผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตได้มุ่งมั่นดำเนินแนวทาง “Solution for Everyone” หรือการสร้างโซลูชั่นเพื่อรองรับความต้องการของทุกคนและสนับสนุนให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ในแนวทางของแต่ละคน อาทิ การบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบการพัฒนาเม็ดพลาสติกชีวภาพ GC Compostable ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ การแปรรูปอัพไซคลิงพลาสติกใช้แล้วเป็นสินค้าแฟชั่น เช่น เสื้อผ้าและกระเป๋า รวมถึงการเตรียมการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิล เพื่อรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วให้เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food-grade และ Packaging-grade ที่ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มอาหาร เครื่องสำอาง น้ำยาและเคมีภัณฑ์ทำความสะอาด ทั้งนี้ ทุกกิจกรรมที่ทำในงานฟุตบอลประเพณีฯต้องวัดผลได้ โดยหลังจบงาน จะมีการคำนวณ CO2เทียบเท่า ที่สามารถลดได้จากการจัดงาน “GC เชื่อมั่นว่าด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินแคมเปญ Waste This Way และความร่วมมือร่วมใจของนิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัย จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายผลไปยังสังคมในวงกว้างต่อไป ยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านการจัดการขยะไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลทรัพยากรอย่างยั่งยืนและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น” ดร.คงกระพัน กล่าว ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐรองอธิการบดี กำกับดูแลด้านพัฒนานิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาฯ มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวระดับโลกเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในโอกาสที่ในปี 2563 จุฬาฯ จะเป็นเจ้าภาพในงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เราจึงตั้งมั่นที่จะใช้งานฟุตบอลประเพณีเป็นพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและได้ลองดำเนินการจัดการขยะด้วยตนเอง โดยเราเชื่อมั่นในศักยภาพของนิสิตนักศึกษาจากทั้งสองมหาวิทยาลัยในการสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาขยะ และเมื่อผสานกับความรู้และประสบการณ์ของ GC ทั้งนี้ เมื่อมีการสื่อสารองค์ความรู้ที่ได้จากแคมเปญนี้ออกไปสังคมจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร ศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในงานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่ผ่านมาพบว่ามีปริมาณขยะจำนวนมากถูกทิ้งรอบสนามฟุตบอล ซึ่งภาพดังกล่าวปีนี้จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากทาง PTT GC ร่วมกับ2 สถาบัน จัดแคมเปญ Waste This Way มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงด้วยการตั้งเป้าให้มีขยะในงานน้อยลงและแยกขยะมารีไซเคิล เพื่อเป็นการสร้างค่านิยมให้กับนิสิต นักศึกษา และสังคมว่าร่วมกันสร้างความตระหนักในการดูแลสิ่งแวดล้อม คิดว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นขึ้นในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ที่เราไม่เพียงแต่แค่มาเตะบอล แต่เรามาเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงประเทศด้วย เพราะปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศไทยมีสัตว์น้ำ สัตว์บกต้องตายทุกปีจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่และขยะที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหลาย “จริงๆ แล้วทั้งจุฬา-ธรรมศาสตร์ มีการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมกันอยู่แล้ว อย่างจุฬาลงกรณ์ มีโครงการ Chula Zero Waste ขณะที่ธรรมศาสตร์ มีโครงการที่เลิกใช้ถุงพลาสติก ยกเลิกการใช้หลอดพลาสติก แก้วพลาสติก และลดปริมาณขยะทุกอย่าง เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาในงานฟุตบอลประเพณียังไม่เคยมีการดำเนินการในเรื่องนี้ และปีนี้เป็นเรื่องที่จะเริ่มต้นดำเนินการเพื่อที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และหวังว่าจะเป็นตัวอย่างให้กับงานกีฬาและงานอื่นๆ ของประเทศไทยต่อไป” ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว แต้ว ณฐพร เสรีรักษ์ ดารานักแสดงชื่อดัง ในฐานะศิษเก่าจุฬาฯ กล่าวว่า เราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างขยะขึ้นมาก็ต้องมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ ทำง่ายๆคือเวลเข้าร้านสะดวกซื้อก็พกถุงผ้าไป ปฎิเสธรับถุงพลาสติก เวลาไปกองถ่ายก็พกขวดน้ำไปเอง สิ่งสำคัญคือการสร้างแนวร่วมในการลดปริมาณขยะแล้วให้นำไปขยายผล ทำจากจุดเล็กๆขยายให้ใหญ่ขึ้น นายศิลา รัตนวลีวงศ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานระดับนิสิตฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นิสิตจุฬาฯ หลายคนเคยมีส่วนร่วมในการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยอยู่บ้างผ่านโครงการ Chula Zero Waste อย่างไรก็ตาม การจัดงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสอดแทรกแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานทั้งหมดให้มีทิศทางตรงกัน แต่คณะผู้จัดงานจากทั้งสองมหาวิทยาลัยต่างก็ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาขยะและทราบดีว่าทุกคนต้องช่วยกันแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป พวกเราซึ่งเป็นผู้จัดงานในปีนี้ จึงตั้งมั่นที่จะร่วมกันแสดงการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้เห็นผ่านการเปลี่ยนงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ให้มีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ นางสาวประภาพร สมวงษ์ รองประธานคณะกรรมการดำเนินงานระดับนิสิตฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปีนี้ คณะผู้จัดงานจะใช้คอนเซ็ปต์ “Make a CHANGE เปลี่ยน ปรับ ขยับสังคม” คือ การทำให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเริ่มลงมือแก้ไข ในด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจึงได้นำแนวคิด ‘ลด เปลี่ยน แยก’ มาใช้ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรม โดยที่ “ลด” คือ การลดขยะ Single-use ที่ไม่จำเป็นในการทำกิจกรรมผ่านการลดใช้ หรือใช้ซ้ำ ส่วน “เปลี่ยน” คือการเปลี่ยนวัสดุมาเลือกใช้วัสดุทางเลือก เช่น ใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ง่าย วัสดุจากธรรมชาติ หรือวัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ สุดท้ายคือ “แยก” หมายถึง การแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปจัดการต่ออย่างเหมาะสม โดยทางฝั่งจุฬาฯ จะมีการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้อย่างจริงจัง เช่น ชุดอาหารกลางวันที่แจกให้นิสิตบนสแตนด์แปรอักษรที่ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ เพื่อลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง และการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพสลายตัวได้ทางชีวภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และแน่นอนว่าแนวคิดแบบเดียวกันนี้จะนำไปใช้ในส่วนอื่นของงานด้วย นางสาวเพ็ญพิชชา สถิรปัญญา ประธานชุมนุมเชียร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมและร่วมมือกับมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สองมหาวิทยาลัยจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการจัดการขยะ โดยทางผู้จัดงานเห็นว่างานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้จะเป็นโอกาสดีที่สองมหาวิทยาลัยจะพร้อมใจกันแสดงพลังให้สังคมได้เห็นว่าทุกคนสามารถเริ่มต้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กันได้ นางสาวนิษฐิดา โพธิ์ทอง ประธานคณะกรรมการจัดงานฟุตบอลประเพณี ส่วนองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันหรือในการจัดกิจกรรมจริง ๆ นั้นเป็นอย่างไร ในปีนี้ พวกเรา คณะผู้จัดงานจากทั้งสองมหาวิทยาลัยจึงได้บูรณาการเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างการแยกขยะเข้ากับวิธีต่าง ๆ เพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ เช่น การอัพไซเคิลขวดพลาสติกประเภท PET ให้กลายเป็นรองเท้ากีฬาสำหรับน้อง ๆ นักเรียนที่ขาดแคลน หรือการส่งกระบองลมไปรีไซเคิลเป็นพลาสติกใหม่ โดยเราหวังว่าการได้เรียนรู้จากงานฟุตบอลประเพณีในครั้งนี้ สังคมจะตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะให้เหมาะสม และนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น +++++++++++++++++