“ธปท.”ปรับเป้าเงินเฟ้อทั่วไปปี 63 เหลือ 1-3% ให้สอดคล้องภาวะเศรษฐกิจ-อัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มต่ำ หวังเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น พร้อมยืนยันการปรับลดเป้าหมายนโยบายการเงินในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจะเปลี่ยนจากเดิม นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ รมว.คลังมีข้อตกลงร่วมกัน โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 ในช่วง 1-3% โดยไม่มีค่ากลาง เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง 3-5 ปี โดยเป้าหมายปี 2563 ลดลงจากปัจจุบันที่คาดจะอยู่ที่ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือ 1-4% ซึ่งใชมาตั้งแต่ปี 2558 สำหรับเหตุผลสำคัญที่ปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนไป และอัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างจาก 3 ปัจจัยคือ 1.การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง หรือปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเช่น น้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 2.การขยายตัวของธุรกิจ e-commerce ที่ทำให้การแข่งขันสูงขึ้นจนผู้ขายปรับราคาสินค้าขึ้นยาก 3.การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมีรายได้หลังเกษียณลดลง จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้การบริโภคสินค้าและบริการในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป ขณะที่การที่เปลี่ยนมาใช้เป้าหมายแบบช่วง(ไม่มีค่ากลาง)นั้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้นโยบายการเงินสามารถดูแลเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่กับการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกและไทยผันผวนและมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ กนง.ได้ปรับเกณฑ์ใหม่ โดยจะออกจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย เพื่อให้ กนง.สามารถแสดงความรับผิดชอบและสื่อสารกับสาธารณชนได้ทันการณ์ ไม่ต้องรอถึงสิ้นปีปฏิทิน รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการดำเนินนโยบายการเงินที่ต้องมองไปข้างหน้า โดย ธปท.ยืนยันว่า การปรับลดเป้าหมายนโยบายการเงินในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณว่าแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินจะเปลี่ยนจากเดิม โดยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน นโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายไปอีกระยะหนึ่งเพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายต่อไป โดยการตัดสินนโยบายการเงินภายหลังการปรับเป้าหมายใหม่ยังคงยึดหลักการเดิมคือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง การดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ส่วนกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ธปท.ยืนยันว่า ธปท.ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมมองว่า ค่าเงินบาท และค่าเงินในภูมิภาคมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าได้มากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มปรับมุมมองที่ไม่ได้มองเงินบาทและค่าเงินในตลาดเกิดใหม่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven)อีกต่อไป ส่วนหนึ่งมาจากเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานที่จะลงทุน และจากการที่ ธปท.ได้มีมาตรการผ่อนคลายในหลายเรื่อง อย่างไรก็ดีในระยะต่อไปค่าเงินบาทคงจะเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทางมากขึ้น ยอมรับว่า กนง.มีความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาท และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ขณะที่มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ในประเทศไทยมองว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะประเทศที่ทำคือประเทศที่เกิดวิกฤติ ซึ่งย้ำว่าประเทศไทยยังมีสภาพคล่องเหลือเฟือ