วันที่ 24 ธันวาคม 2562คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษมีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน การปราบปราม การสืบสวนและการสอบสวนคดีความผิดทางอาญาที่ต้องดําเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยใช้วิธีการพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษโดยให้มีอํานาจหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการคดีพิเศษประกาศกําหนดหรือตามมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ ตลอดจนปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาที่เป็นคดีพิเศษ ในปี พ.ศ. 2562 ภายใต้นโยบายการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและนโยบายของรัฐบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ปรับปรุงภารกิจและอำนาจหน้าที่ให้มีความชัดเจน ลดความซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น และให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ของนโยบาย โดยปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีการทบทวนปรับปรุง โดยคณะกรรมการคดีพิเศษได้ออกประกาศกำหนดรายละเอียดลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษเพียง 23 กฎหมาย ตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ส่วนที่เหลือ 18 กฎหมาย ได้เห็นชอบให้นำออกจากความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในด้านการดำเนินคดี ห้วงปีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีพิเศษมาดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย 159 คดี และสอบสวนเสร็จสิ้น 279 คดี ในจำนวนคดีพิเศษที่สอบสวนเสร็จ 219 คดี เป็นคดีพิเศษที่มีมูลค่าความเสียหาย หรือผลประโยชน์ที่สามารถปกป้อง รักษา และเรียกคืนให้แก่รัฐ ประชาชนได้ถึง 132,556.83 ล้านบาท กล่าวโดยสรุป ตั้งแต่พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 ถึงปัจจุบัน กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีพิเศษมาดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมายทั้งสิ้น 2,731 คดี ในจำนวนดังกล่าวสอบสวนเสร็จสิ้นจำนวน 2,508 คดี คิดเป็นร้อยละ 91.83 ในจำนวนคดีพิเศษที่สอบสวนเสร็จแล้วดังกล่าว 1,123 คดี เป็นคดีพิเศษที่มีมูลค่าความเสียหาย หรือผลประโยชน์ที่สามารถปกป้อง รักษา และเรียกคืนให้แก่รัฐ ประชาชน จำนวน 535,860.954 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนก่อนเป็นคดีพิเศษ จำนวน 3,092 เรื่อง ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว 2,961 เรื่อง ในจำนวนนี้เรื่องใดที่สืบสวนแล้วเป็นอำนาจหน้าที่และเข้าลักษณะเป็นคดีพิเศษกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นเรื่องคดีพิเศษที่สอบสวนต่อ ส่วนเรื่องใดที่ผลการสืบสวนไม่เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการส่งให้พนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือส่วนราชการอื่นดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อันเป็นการเสริมการปฏิบัติด้านคดีอาญาให้หน่วยงานอื่นสามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนด้วย และในวันพรุ่งนี้ (วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2562) กรมสอบสวนคดีพิเศษจะนำเสนอสถิติและผลการดำเนินคดีสำคัญในปีนี้ ตามกลุ่มประเภทคดีที่สำคัญ 4 กลุ่มคดี