ต้องบอกว่า วิกฤติไฟป่าของออสเตรเลีย ถิ่นจิงโจ้ แดนออสซี ณ ชั่วโมงนี้ ยังคงน่าห่วง เพราะยังคงลุกลามเผาไหม้ในพื้นที่ต่างๆ อย่างไม่หยุด จำนวนรวมแล้วกว่า 100 จุด หลังประกายไฟแรกเริ่มก่อตัวปะทุขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ส.ค.เป็นต้นมา ในบริเวณพื้นที่รัฐชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศ ก่อนที่ในเวลาต่อมา เพลิงได้ไหม้ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง จนส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในรัฐฟากตะวันออกของออสเตรเลียดังกล่าว ได้แก่ รัฐควีนส์แลนด์ และรัฐนิวเซาท์เวลส์ อันเป็นรัฐที่สำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการปกครองเพราะเป็นที่ตั้งของเมืองที่คนไทยเรารู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นคือ นครซิดนีย์ รวมไปถึงเมืองหลวง คือ กรุงแคนเบอร์รา ก็อยู่ในรัฐนิวเซาท์เวลส์แห่งนี้ จากการที่สถานการณ์ไฟป่ายังไหม้ลามอย่างไม่หยุดยั้ง ก็ส่งผลให้พื้นที่ที่ตกเป็นเหยื่อไฟป่าในครั้งนี้ มีอาณาบริเวณรวมแล้วราว 18 ล้านไร่ หรือมีขนาดเทียบเท่ากับประเทศเบลเยียม ในทวีปยุโรปไปแล้ว ขณะเดียวกัน เปลวยังไฟป่ายังคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 9 ราย สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง พร้อมกับเผาผลาญบ้านเรือนของประชาชนไปแล้วกว่า 800 หลังคาเรือน ขณะที่ ผลเสียหายด้านอื่นๆ ได้แก่ สภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ก็ได้รับความเดือดร้อนจากควันไฟป่าที่ลอยตลบอบอวลกินบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ สร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ให้แก่ออสเตรเลียอย่างหนัก โดยมีรายงานว่า สถานการณ์ไฟป่าที่ลุกลามมาจนเป็นวิกฤติในเวลานี้ ถือว่าร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ว่าด้วยไฟป่าเขย่าแดนออสซีเลยทีเดียว ทั้งนี้ วิกฤติไฟป่าที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในปีนี้ข้างต้น บรรดานักนิเวศวิทยา และนักอุตุนิยมวิทยา ล้วนต่างชิ้นิ้วฟันธงตรงกันว่า เป็นผลจากพิษภัยของ “คลื่นร้อน” หรือ “คลื่นสภาพอากาศร้อน” หนึ่งในปรากฏการณ์ทางภัยธรรมชาติบนโลกเรา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำในลักษณะเช่นนี้กันทุกปี อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ “คลื่นร้อน” ในปีนี้ของออสเตรเลีย ตามสถิติตัวเลขของอุณหภูมิที่ทางสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งแดนออสซี ที่จัดเก็บมาได้ ก็ต้องนับว่า รุนแรงยิ่งกว่าปีไหนๆ ทุบสถิติของเมื่อปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้น ก็ถือว่า อากาศร้อนจัดรุนแรงสุดในรอบ 10 ปี ไปเรียบร้อยแล้ว ตามสถิติตัวเลขของอุณหภูมิสภาพอากาศของออสเตรเลีย ในช่วงคลื่นร้อนโหมกระหน่ำเมื่อปีที่แล้ว เช่น ที่นครเมลเบิร์น รัฐวิกตอเรีย ทางตอนใต้ของประเทศ ก็ได้สทำสถิติ 44 องศาเซลเซียส ขณะที่ สภาพอากาศคลื่นร้อนพัดถล่มออสเตรเลียในปีนี้ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ปรากฏว่า สามารถวัดได้โดยเฉลี่ยสูงถึง 46.9 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติแม้กระทั่งตัวเลขของเมื่อปี 2552 (ค.ศ. 2009) ที่เคยมีสถิติอยู่ที่ 46.4 องศาเซลเซียส แถมมิหนำซ้ำ ในพื้นที่บางเมือง เช่น นครเบิร์ดสวิลล์ รัฐควีนส์แลนด์ ปรากฏว่า อุณหภูมิขึ้นสูงไปถึง 47.7 องศาเซลเซียส ตามการเปิดเผยของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของทางการออสเตรเลีย ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ก็นับได้ว่า สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของออสเตรเลีย ในพื้นที่ชุมชนเมือง นับแต่เริ่มจัดเก็บสถิติตัวเลขกันมาเลยทีเดียว ยกเว้นในเขตทะเลทรายทางตอนใต้ของออสเตรเลีย ที่ในบางปี เช่น 2503 (ค.ศ. 1960) อุณหภูมิเคยขึ้นไปสูงถึง 50.7 องศาเซลเซียส บรรดาผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า เพราะคลื่นร้อนที่โหมกระน่ำ จึงทำให้เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดไฟป่าขึ้น และในปีนี้ ก็ต้องถือว่า รุนแรงกว่าปีไหนๆ ซึ่งคลื่นร้อนปรากฏการณ์ข้างต้น ก็เป็นผลพวงมาจากปัจจัยจากวิกฤติปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น พร้อมกันนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลว่า ผลกระทบจากพิษภัยของภาวะโลกร้อนต่อโลกของเรา จะวิกฤติยิ่งขึ้น สวนทางกับการแก้ไขจัดการจากภาครัฐทางการที่ต้องบอกว่า ยังดุเดือดเข้มข้นไม่เท่าที่ควรสำหรับการรับมือ โดยความวิตกกังวลข้างต้นที่มีขึ้น ก็ยังรวมถึงสถานการณ์วิกฤติไฟป่าที่กำลังคุกคามออสเตรเลีย ถิ่นออสซี แดนจิงโจ้ในครั้งนี้ด้วย ที่ปรากฏว่า ในระหว่างที่ไฟป่าไหม้ลามเผาผลาญจนอาณาบริเวณทั้งในรัฐควีนส์แลนด์และนิวเซาท์เวลส์ มอดไหม้ไปจนรวมพื้นทีแล้ว ก็เท่ากับประเทศเบลเยียม แต่ทว่า “นายกรัฐมนตรี” ผู้นำประเทศ อย่าง “นายสกอตต์ มอร์ริสัน” ยังคงจัดทริปเดินทางไปยัง “ฮาวาย” รัฐหมู่เกาะหาดสวรรค์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะที่ การจัดการรับมือก็ยังไม่พอต่อสถานการณ์ จากเพียงถ้อยแถลงประกาศภาวะฉุกเฉินในรัฐที่เกิดเหตุ และส่งนักดับเพลิงเข้าไปผจญเพลิงกับไฟป่า จึงเกิดกระแสเสียงก่นประณามวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อนายกรัฐมนตรีแดนออสซี ที่แม้ออกกล่าวคำขอโทษ ขออภัย แต่ก็หาได้สลายกระแสความเกรี้ยวโมโหโกรธาให้ลดราลงไปแต่ประการใดไม่