ไม่น่าเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อว่า ชาติที่ภินท์พังจากสงครามกลางเมืองอย่าง “ลิเบีย” ประเทศในภูมิภาคตอนเหนือของแอฟริกาคาบเกี่ยวกับตะวันออกกลาง หรือที่เรียกว่ “มีนา (MENA : Middle East – North Africa)” นั้น จะพลิกผันกลับกลายเป็นสังเวียนประชันแข่งขันขยายอิทธิพลของบรรดาประเทศมหาอำนาจน้อยใหญ่ไปได้ ทว่า ก็ได้กลายเป็นไปแล้วสำหรับ “ลิเบีย” แถมมิหนำซ้ำยังชิงชัยกันอย่างดุเดือดเลือดพล่านอีกต่างหากด้วยในหมู่มหาอำนาจน้อยใหญ่ที่ว่าทั้งหลาย เริ่มจากมหาอำนาจตะวันตกภายใต้การนำของ “สหรัฐอเมริกา” ที่ชักพา “นาโต” องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ก่อไฟ “สงครามกลางเมือง” เพื่อโค่นล้มผู้นำจอมเผด็จการอย่าง “พ.อ.โมอัมมาร์ กัดดาฟี” เมื่อปี 2554 (ค.ศ. 2011) จนส่งผลให้ “กัดดาฟี” ต้องถูกโค่นลงจากอำนาจ ก่อนที่จะถูกปลิดชีวิตไปอย่างน่าอนาถในเวลาต่อมา ก็ทำให้มหาอำนาจตะวันตกได้สถาปนาอิทธิพลบนแผ่นดินของลิเบียนับแต่นั้น แต่ทว่า สถานการณ์สู้รบยังไม่จบสิ้น เพราะเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของบรรดากองกำลังติดอาวุธทั้งหลายในลิเบีย หลังการล่มสลายของระบอบกัดดาฟี ก่อนอิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตก ถูกทายท้าด้วยมหาอำนาจของอีกฟากโลกในเวลาต่อมา คือ “รัสเซีย” ที่ให้ความสนับสนุนด้านการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์แก่กองกำลังติดอาวุธ ที่ยืนฝั่งตรงข้ามมหาอำนาจตะวันตก รวมไปจนถึงกองกำลังที่สหประชาชาติ หรือยูเอ็น ยื่นมือไปสนับสนุน เมื่อกล่าวถึงกองกำลังติดอาวุธในลิเบียแล้ว ก็มีอยู่หลายกลุ่ม แต่หลักๆ แล้ว ก็ได้แก่ “กองทัพแห่งชาติลิเบีย” หรือ “แอลเอ็นเอ (LNA : Libyan National Army) ซึ่งกลุ่มนี้เดิมก็คือกลุ่มติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกัดดาฟี ตั้งแต่ช่วงเริ่มสงครามกลางเมืองเพื่อโค่นล้มเผด็จการกัดดาฟี ภายใต้การนำของ “คาลิฟา ฮาฟตาร์” นายพลกองทัพบกของลิเบีย โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตก คือ นาโต ในการนำของสหรัฐฯ ปัจจุบันกลุ่มแอลเอ็นเอนี้ มีอิทธิพลอยู่ทางตะวันออกของลิเบีย นอกจากนี้ ก็ยังมีกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ที่เคยเข้าร่วมโค่นล้มอำนาจของกัดดาฟี จนเป็นผลสำเร็จ แล้วจับกลุ่มกันเป็น “รัฐบาลของข้อตกลงแห่งชาติ” หรือ “จีเอ็นเอ (GNA : Government of National Accord) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในกรุงตริโปลี เมืองหลวงของลิเบีย โดยได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของ “นายฟาเยซ อัล-ซาร์ราจ” หนึ่งในแกนนำคนสำคัญของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกัดดาฟีครั้งอดีต ที่ในเวลานี้ได้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีแบบเฉพาะกาล” ของลิเบียด้วย ทั้งนี้ กลุ่มดังกล่าว เปรียบเสมือนว่า เป็น “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” ของลิเบีย แต่ปรากฏว่า ถึง ณ เวลานี้ รัฐบาลที่ได้รับการหมายมั่นว่า จะสร้างความปรองดองให้แก่ลิเบีย ก็ยังต้องจับอาวุธเข้าต่อสู้ห้ำหั่นกับกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกับกลุ่ม “แอลเอ็นเอ” ของ “นายพล คาลิฟา ฮาฟตาร์” ที่ถูกยกเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของ “จีเอ็นเอ” เลยทีเดียว สถานการณ์ต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย ก็หาได้ “ดวล” กันแบบ กลุ่มต่อกลุ่มก็หาไม่ แต่ปรากฏว่า ได้มีบรรดาชาติมหาอำนาจใหญ่น้อย เข้าร่วมแบบ ถือหาง เลือกข้าง ให้ความสนับสนุนแต่ละฝ่าย รายละเอียดก็ระบุว่า ทาง “แอลเอ็นเอ” ยังคงได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ และนาโต รวมทั้งชาติบ้านใกล้เรือนเคียงของลิเบีย นั่นคือ “อียิปต์” ในยุคที่มี “พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี” เป็น “ประธานาธิบดี” เป็นต้น ขณะที่ ทางฝ่ายของ “จีเอ็นเอ” ก็ไม่น้อยหน้า เมื่อปรากฏว่า มีมหาอำนาจใหญ่น้อยของอีกฟาก อันได้แก่ “รัสเซีย” และ “จีนแผ่นดินใหญ่” ให้ความสนับสนุน และล่าสุด ก็มี “กาตาร์” และ “ตุรกี” มาร่วมวงไพบูลย์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตบเท้าเข้ามาของ “ตุรกี” ได้รับการจับตาจ้องมองจากนานาประเทศ โดยอาจจะเรียกได้ว่า แทบไม่น้อยไปกว่ารัสเซีย และจีนแผ่นดินใหญ่ เลยด้วยซ้ำ ภายหลังจากประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ประกาศด้วยท่าทีอย่างสุดกร้าวว่า พร้อมที่จะส่งกองทัพเข้ามาในลิเบีย หากทาง “จีเอ็นเอ” ร้องขอมา มิหนำซ้ำ ทางประธานาธิบดีเออร์โดกัน ยังได้เปิดเผยอีกด้วยว่า ได้หารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียแล้ว ต่อข้อเสนอของตุรกีที่จะส่งกองทัพเข้าไปในลิเบีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางการแก้ไขวิกฤติสงครามกลางเมืองในลิเบีย ที่ลากยาวมาตั้งแต่การลุกฮือโค่นล้มอดีตผู้นำเผด็จการกัดดาฟี ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม พลันที่ประธานาธิบดีเออร์โดกัน ประกาศถึงท่าทีข้างต้น ก็ปรากฏว่า ทางประธานาธิบดีอียิปต์ พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ก็ออกมาเต้นผางด้วยความไม่พอใจทันที พร้อมกับกล่าวว่า อียิปต์จะไม่ยอมให้กองทัพต่างชาติเข้ามาควบคุมลิเบีย เพราะมันมีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติของอียิปต์เอง ทั้งนี้ เหตุปัจจัยที่ทำให้นานาชาติต่างพยายามเข้าไปมีอิทธิพลในลิเบีย ซึ่งต้องบอกว่า กลายซากปรักหักพังจากสงครามกลางเมืองจนแทบไม่น่าจะอภิรมย์ในสิ่งปลูกสร้างแล้วนั้น ก็คือ แหล่งทรัพยากรน้ำมันดิบ ที่ลิเบียมีจำนวนมหาศาล หากมีคำถามว่า มากมายขนาดนั้น ก็ต้องบอกว่า มีจำนวนมหาศาลสามารถหล่อเลี้ยงลิเบียได้ แม้ประเทศมอดไหม้ไปกับไฟสงครามกลางเมือง โดยร้อยละ 60 ของจีดีพี มาจากการส่งออกน้ำมัน หรือคิดเป็นมูลค่าก็ไม่ต่ำกว่าปีละ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก็เป็นจุดดึงดูดใจยั่วให้มหาอำนาจล้วนต่างเข้าไปมีอิทธิพล