ปปง. อายัดทรัพย์สิน 5 คดีแชร์ดัง รวมมูลค่ากว่า 585 ล้านบาท วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่ ปปง.พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) กล่าวว่า คณะกรรมการธุรกรรม ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรมครั้งที่ 12/2562 วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ได้มีมติอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคดีแชร์ลูกโซ่ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จำนวน 5 รายคดี ซึ่งพฤติการณ์แห่งคดี  มีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ดังนี้ 1. รายคดี นางสาววันทนีย์ ทิพย์ประเวช กับพวก หรือ “คดีแชร์แม่มณี” พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นางสาววันทนีย์ ทิพย์ประเวช มีพฤติการณ์หลอกลวงชักชวนประชาชนโดยทั่วไปผ่านทางเฟซบุ๊กให้ร่วมออมเงิน (แชร์แม่มณี) โดยกล่าวอ้างผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ลงทุนสูง ร้อยละ 1,116 – 3,040.45 ต่อปี จนมีผู้หลงเชื่อและเข้าร่วมลงทุนกับนางสาววันทนีย์ฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วงแรกนางสาววันทนีย์ฯ ได้จ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนใหม่ในครั้งต่อไป แต่ต่อมานางสาววันทนีย์ฯ ไม่สามารถคืนทั้งต้นเงินลงทุนและผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนได้ตามกำหนด เมื่อผู้ลงทุนทวงถาม ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงและไม่สามารถติดต่อนางสาววันทนีย์ฯ ได้ เป็นเหตุให้ผู้ลงทุนได้รับความเสียหายจำนวนมาก มติคณะกรรมการธุรกรรม : เห็นชอบให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 15 รายการ พร้อมดอกผล (ที่ดินและเงินในบัญชีเงินฝาก) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 56,690,803.51 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน 2. รายคดี นายอภิรักษ์ โกฎธิ กับพวก หรือ “คดีแชร์ FOREX 3D” พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นายอภิรักษ์ โกฎธิ กับพวก ใช้เว็บไซต์ www.Forex-3D.com เป็นช่องทางในการหลอกลวงโฆษณาชักชวนประชาชนทั่วไปให้นำเงินไปลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (FOREX) โดยเสนอผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 60 – 80 ของเงินผลกำไรที่ได้จากการเทรดฟอเร็กซ์ และประกันเงินต้นที่ร่วมลงทุนร้อยละ 100 อีกทั้งยังมีการชักชวนผ่านระบบแนะนำสมาชิก หากสมาชิกรายใดสามารถชักชวนบุคคลอื่นมาร่วมลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 1 – 5 ของผลตอบแทนของสมาชิกรายใหม่ที่ชักชวนมาร่วมลงทุน ทำให้มีผู้หลงเชื่อและร่วมลงทุน ต่อมาไม่จ่ายผลตอบแทนและไม่คืนเงินทุนตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้มีผู้เสียหายจากการร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก มติคณะกรรมการธุรกรรม : เห็นชอบให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 9 รายการ พร้อมดอกผล (ที่ดินและเงินฝากในบัญชีธนาคาร) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 90,964,778.24 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน 3. รายคดี บริษัท เอนเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด กับพวก หรือ “คดีแชร์ NICE REVIEW”  พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : บริษัท เอนเนอร์จี ดีดักชั่น จำกัด เปิดรับสมัครคนกดไลค์กดแชร์โดยเรียกเก็บเงินค่าประกันการทำงานก่อนการทำสัญญาจ้างงาน โดยมีการโฆษณาเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทว่าจะให้ค่าจ้างในอัตราที่เพิ่มขึ้น หากผู้สมัครจ่ายค่าประกันการทำงานในอัตราที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการจูงใจให้ประชาชนทั่วไปหลงเชื่อเข้ามาสมัครและยอมจ่ายเงินค่าประกันการทำงานในอัตราที่สูง เป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อเข้ามาสมัครและยอมจ่ายเงินค่าประกันการทำงานในอัตราที่สูงให้แก่ผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก ต่อมาผู้ต้องหาได้มีการจ่ายเงิน ค่าทำงานให้แก่ผู้สมัครล่าช้าจนมีการขอยกเลิกสัญญาจ้างงานและขอคืนเงินประกันการทำงาน  แต่ผู้ต้องหาไม่ยอมคืนเงินประกันการทำงานให้แก่ผู้สมัครและได้ปิดบริษัทหลบหนีไป โดยในคดีดังกล่าว มีผู้เสียหายจำนวนหลายหมื่นคน มติคณะกรรมการธุรกรรม : เห็นชอบให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 35 รายการ พร้อมดอกผล (รถยนต์ รถจักรยานยนต์ นาฬิกาและกระเป๋าแบนด์เนม เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร เงินในบัญชีกองทุนเปิด และเงินในบัญชีกองทุนรวม) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 174,362,095.45 บาท และเงินสกุลต่างประเทศ ธนบัตรดอลลาร์สิงคโปร์ จำนวน 9,000 ดอลล่าร์สิงคโปร์ และธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐ จำนวน 18,800 ดอลล่าร์สหรัฐ รวมมูลค่าทรัพย์สินทั้งสิ้นประมาณ 175,130,375.45 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน 4.  รายคดี นางพันธุ์ทิพา นัยยทิพย์ กับพวก หรือ “คดีแชร์ น้าหลุยส์ร่างทรง”     พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นางพันธุ์ทิพา  นัยยทิพย์ พร้อมพวก ได้ชักชวนผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุนเป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาผู้มีรายได้น้อย กองทุนเกตุกัญญาฟาร์ม และกองทุนน้าหลุยส์ โดยจัดให้มีการประชุม  และพูดชักจูงใจผู้เข้าร่วมประชุมให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกโดยบอกว่าจะนำเงินไปลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมัน ทั่วประเทศ ซื้อเครื่องจักรเพื่อการเกษตร และช่วยเหลือผู้ที่ไร้โอกาสทางสังคม โดยอ้างว่าสมาชิกฯ จะได้รับผลตอบแทนในอัตราสูง รวมทั้งมีการนำภาพหญิงชราแต่งกายคล้ายนักบวชมากล่าวอ้างว่าเป็น น้าหลุยส์ หรือ หม่อมหลุยส์ หรือพันโทพันธุ์ทิพา นัยยทิพย์ ซึ่งทำงานในวัง และจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนจน และยังกล่าวอ้างว่าเงินที่นำไปลงทุน จะเอาไปเสียภาษีเพื่อนำเงินในวังออกมาแจกจ่ายให้กับสมาชิกกองทุนน้าหลุยส์ นอกจากนี้เงินที่ได้รับจากสมาชิกทางสมาคมจะนำไปช่วยในงานพระราชพิธีของในหลวง ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อเข้าร่วมรับฟังและร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก มติคณะกรรมการธุรกรรม : เห็นชอบให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 9 รายการ พร้อมดอกผล (เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 788,017.10 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน 5.รายคดี นางสาววาณี วีรศักดิ์ธารา กับพวก  พฤติการณ์แห่งคดีโดยย่อ : นางสาววาณี วีรศักดิ์ธารา พร้อมพวก แอบอ้างว่าตนเองเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทใหญ่ของต่างประเทศ โดยชักชวนให้ผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจซื้อขายรถยนต์ ซึ่งนางสาววาณีฯ อ้างว่าตนได้รับโควต้ารถยนต์จากสำนักงานใหญ่ เป็นล็อตจำนวนหลายคัน ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ร้อยละ 10 สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อให้ได้กำไรและแบ่งประโยชน์ให้กับผู้ร่วมลงทุนได้ เมื่อผู้ลงทุนหลงเชื่อและโอนเงินให้ กลับไม่ได้รับรถยนต์ตามที่ตกลงและไม่ได้รับเงินคืน โดยนางสาววาณีฯ ได้มีการทำธุรกรรมเป็นเงินจำนวนมากไปยังบัญชีธนาคารของผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ และบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย และได้มีการนำเงินที่ได้จากการหลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนในธุรกิจซื้อขายรถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริงไปใช้ในการลงทุนธุรกิจค้าขายอะไหล่ จากนั้นจึงนำเงินจากธุรกิจดังกล่าวหมุนเวียนเข้าไปในธุรกิจรถยนต์ โดยได้กระทำในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอดมติคณะกรรมการธุรกรรม : เห็นชอบให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 86 รายการ พร้อมดอกผล (กรรมสิทธิ์ห้องชุด เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง) รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 260,295,019.26 บาท ไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วันหลังจากคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 แล้ว พลตำรวจตรี ปรีชา กล่าวว่าสำนักงาน ปปง. จะส่งเรื่องไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหาย ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปชดใช้คืนให้ของผู้เสียหาย ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th หรือโทรสอบถามทางสายด่วน ปปง. 1710 ในวันและเวลาราชการ และขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ทราบว่า ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ (1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะหรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ (2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ (3) ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดยักย้าย ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย ทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารหรือบันทึก ข้อมูล หรือทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดหรืออายัดไว้ หรือที่ตนรู้หรือควรรู้ว่าจะตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พลตำรวจตรี ปรีชาฯ กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการตัดวงจรอาชญากรรรมและตัดเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะเน้นการสืบสวนขยายผล เพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ   การกระทำความผิดในคดีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดความเข้มข้น มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อความสงบสุข ความมั่งคงของประเทศชาติต่อไป ภายใต้ปรัชญาการทำงานที่ว่า “ทรัพย์สินใดเป็นของแผ่นดิน ทรัพย์สินนั้นต้องกลับคืนแผ่นดินโดยไม่มีเงื่อนไขด้วยกฎหมายฟอกเงิน” ทั้งนี้ หากพบเห็นบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน ขอให้โทรแจ้งหรือสอบถามได้ที่สายด่วน ปปง. 1710 หรือผ่านทางคิวอาร์โค้ด