ระบุข้อมูลปีนี้มีป่วยด้วยพิษเห็ดกว่าพันราย ตาย 3 พัฒนาระบบป้องกันอันตราย แค่ดาวน์โหลดโปรแกรมบนสมาร์ทโฟนแบบแอนดรอยด์ ประเดิมเฟสแรก14 กลุ่มเห็ด โดยจัดอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อขยายผลไปยังประชาชนใช้งานได้ถูกต้อง จากที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามความร่วมมือ "การจัดทำฐานข้อมูลเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ในประเทศไทยและการพัฒนาApplication Mushroom Image Matching" เมื่อเดือนก.พ.62 ที่ผ่านมา ในวันนี้ การพัฒนาโปรแกรม Application Mushroom Image Matching ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานแล้ว โดยได้รวบรวมภาพถ่ายของเห็ดทั้งเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ กลุ่มละ 1,000 ภาพ เก็บไว้ในฐานข้อมูลเพื่อใช้ประมวลผลด้วยโปรแกรมจดจำรูปภาพและแสดงผลชนิดของเห็ดด้วยชื่อและร้อยละของความถูกต้อง ทั้งนี้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์   อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  พร้อมด้วย  ดร.สิทธิพร ปานเม่นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการ ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์  นางสาวเกษร บุญยรักษ์โยธิน  ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และรองศาสตราจารย์ขวัญเรือน นาคสุวรรณ์กุล    ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  ได้ทำงานประสานกันพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวจนสำเร็จพร้อมใช้งาน รองศาสตราจารย์ขวัญเรือน กล่าวว่า ในปี 2562 (เดือนมกราคม-เดือนกันยายน) มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ดพิษที่มาจากป่าธรรมชาติมากถึง 1,176 ราย และมีรายงานการเสียชีวิต 3 ราย ตัวอย่างเห็ดพิษจากหลากหลายแห่งถูกส่งไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ตรัง สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ ยะลา ชัยภูมิ อุบลราชธานี อำนาจเจริญและสกลนคร เห็ดที่มีรายงานการเกิดเหตุ ได้แก่ เห็ดหมวกจีน เห็ดถ่านเลือด เห็ด  ระโงกพิษและเห็ดคันร่ม ซึ่งเห็ดพิษเหล่านี้มีลักษณะรูปร่างหน้าตาหรือเรียกว่าลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายกับเห็ดรับประทานได้ เช่น เห็ดหมวกจีนคล้ายกับเห็ดปลวก (เห็ดโคน) เห็ดถ่านเลือดคล้ายกับเห็ดถ่านใหญ่ เห็ดระงากพิษคล้ายกับเห็ดระโงกขาวกินได้ เห็ดคันร่มพิษคล้ายกับเห็ดปลวกไก่น้อย เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษคล้ายกับเห็ดนกยูงกินได้ ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดและเก็บมารับประทานจึงได้รับสารพิษเข้าไป สำหรับการใช้งานโปรแกรมดังกล่าว  ต้องดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้งไว้บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนแบบ Android เท่านั้น  โดยเข้าถึง Application ได้ 2 ช่องทาง  คือ 1.เลือกจาก Play store ค้นหาคำว่า “คัดแยกเห็ดไทย” และ 2. สแกน QR Code  จากนั้นลงทะเบียนและใช้งานโปรแกรมด้วยการเปิดกล้องและสแกนดอกเห็ดที่ต้องการทราบชนิด โปรแกรมจะเริ่มประมวลผลแบบreal time และจะหยุดเมื่อความถูกต้องของชนิดเท่ากับร้อยละ 95 หรือเราสามารถกดปุ่มเพื่อหยุดได้ และนอกจากนี้ โปรแกรมนี้ยังสามารถตรวจสอบชนิดของเห็ดจากภาพถ่ายที่เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้เช่นกัน โปรแกรม Application ในเวอร์ชั่นปัจจุบันมีฐานข้อมูลรูปภาพเห็ดเพื่อประมวลผลทั้งหมด 14 กลุ่ม ได้แก่ 1. เห็ดก่อและเห็ดน้ำหมากกินได้ 2. เห็ดผึ้งกินได้ 3. เห็ดระงากพิษ 4. เห็ดระโงกกินได้ 5. เห็ดระโงกไส้เดือน 6. เห็ดหมวกจีน 7. เห็ดคันร่มพิษ 8. เห็ดโคนกินได้ 9. เห็ดหัวกรวดครีบเขียวพิษ 10. เห็ดบานค่ำ 11. น้ำหมึก 12. เห็ดถ่านใหญ่ 13. เห็ดถ่านเลือด และ 14. เห็ดกระโดงหรือเห็ดนกยูง (การสำรวจและบันทึกภาพเห็ดกลุ่มอื่นๆ เพิ่มเติมจะดำเนินการในโครงการเฟสต่อไปปีพ.ศ. 2563-2565) นอกจากข้อมูลภาพถ่ายแล้วในฐานข้อมูลได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมของเห็ดแต่ละชนิด เช่น ชื่อพื้นเมือง พิษที่พบในเห็ด อาการที่แสดงหลังจากได้รับสารพิษดังกล่าว เป็นต้น ภายหลังจากพัฒนา Application คณะทำงานได้จัดอบรมการใช้โปรแกรมนี้ ให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องโดยตรงก่อนเพื่อจะได้สื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านและผู้สนใจทั่วไปได้ใช้งานอย่างถูกต้อง ซึ่งได้อบรมการใช้โปรแกรมให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน 4 แห่ง ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มือการศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของเห็ด เห็ดพิษและการเฝ้าระวังในชุมชนเพื่อประโยชน์ต่อการจำแนกลักษณะของเห็ดเบื้องต้น 1 เล่ม อย่างไรก็ตาม การใช้โปรแกรม Application Mushroom Image Matching ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น จำนวนชนิดของเห็ดที่อยู่ในฐานข้อมูลปัจจุบันมีเพียง 14 กลุ่ม แต่เห็ดในธรรมชาติมีจำนวนมากในบางครั้งการสแกนเห็ดการประมวลผลอาจช้าและไม่ตรงตามกลุ่มของเห็ดนั้นๆ และโปรแกรมApplicationนี้เป็นเพียงเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกรับประทานเห็ดหรือเฝ้าระวังเห็ดพิษที่ได้จากป่าธรรมชาติเท่านั้น และสามารถสืบค้นข้อมูลเห็ดแต่ละชนิดในโปรแกรม เพื่อดูรายละเอียดให้มั่นใจอีกขั้นต่อไป