เป็นการลงทุนในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปี 2563 ที่ทาง “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า ศูนย์ฯ มองว่าเศรษฐกิจปีหน้าอยู่ในอาการฟื้นตัว เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐจะเริ่มกลับมาในช่วงเดือน ก.พ.ปีหน้า คาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีขยายตัว 3.1% จากกรอบจีดีพีอยู่ที่ 2.7-3.6% ส่งออกโต 1.8-3.4% เงินเฟ้อ 2% ขณะที่การลงทุนและการท่องเที่ยวจะดีขึ้น โดยเฉพาะท่องเที่ยวคาดว่าไม่ต่ำกว่า 41-42 ล้านคน และเพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจประเทศ “กระทรวงคมนาคม” จึงได้เดินหน้าลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทาง ทางอากาศ ที่ถือเป็นประตูด้านแรกที่สำคัญในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ณ เวลา นี้ สนามบินเชิงพาณิชย์ ที่สำคัญอย่างสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ มีความแออัดอย่างมาก แม้จะมีสนามบินอู่ตะเภา มาช่วงแบ่งเบาภาระการเดินทางของนักท่องเที่ยว ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยเฉพาะในช่วงไฮซีซั่น ทีมีผู้โดยสาร และประชาชนเดินทางมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทำให้ “สนามบิน” กลายเป็น “สถานีขนส่ง” ไปโดยปริยาย ทำให้ทางกระทรวงคมนาคมโดย “ถาวร เสนเนียม” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดสร้างสนามบินแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง ที่ “จังหวัดนครปฐม” โดยจะใช้รองรับสายการบินพาณิชย์ และเครื่องบินส่วนตัว หรือไพรเวตเจ็ต ทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการก่อสร้าง คือ อำเภอบางเลน (ต.บางระกำ ต.ลำพญา) และอำเภอนครชัยศรี (ต.บางแก้วฟ้า ต.บางพระ ต.วัดละมุด) ซึ่งห่างจากโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ประมาณ 5.3 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที ซึ่งจากการออกแบบโครงการฯ จะมีพื้นที่ขนาด 3,500 ไร่ ทางวิ่งขนาด 45x2,500 เมตร อาคารที่พักผู้โดยสาร 3 อาคาร พื้นที่ประมาณ 115,740 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5,100 คนต่อชั่วโมง อาคารและลานจอดรถ จอดรถได้ประมาณ 4,200 คัน งบประมาณก่อสร้างประมาณ 30,000 ล้านบาท สำหรับรูปแบบการลงทุนกรณีให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานนครปฐมสำหรับรองรับการบิน ได้ทำการวิเคราะห์เป็น 3 กรณี ได้แก่ 1. รัฐลงทุนค่าที่ดิน เอกชนลงทุนการก่อสร้างทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 5% จะมีระยะเวลาคืนทุน 18.67 ปี 2.รัฐลงทุนที่ดินและงานระบบโครงสร้างพื้นฐาน (ยกเว้นลานจอดเครื่องบิน) เอกชนลงทุนอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินทั้งหมด โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 50% จะมีระยะเวลาคืนทุน 20.25 ปี 3.รัฐลงทุนที่ดิน งานระบบโครงสร้างพื้นฐาน งานอาคารที่พักผู้โดยสาร ลานจอดเครื่องบินพาณิชย์ เอกชนลงทุนอาคารผู้โดยสาร อาคารปฏิบัติการภาคพื้นดิน ลานจอดเครื่องบินธุรกิจ โดยเอกชนจัดสรรรายได้ให้ภาครัฐ 52% จะมีระยะเวลาคืนทุน 20.17 ปี ซึ่งวันนี้ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันโครงการท่าอากาศยานนครปฐมอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2562 และเมื่อดำเนินการเสร็จจะต้องนำเสนอต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการและงบประมาณในการลงทุน นอกจากนี้ “กรมท่าอากาศยาน”(ทย.) เร่งลงทุนพัฒนา สนามบินแห่งใหม่ และเพิ่มความสามารถสนามบินที่อยู่ในความดูแลของ ทย. 29 แห่ง รวมทั้งสนามบินเบตง จ.ยะลา ที่จะเปิด บริการในเดือน มิ.ย. 2563 เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยว 55 เมืองรอง รวมถึงการค้า การลงทุน เศรษฐกิจพิเศษชายแดน และอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค ที่เติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการสนามบินภูมิภาคเฉลี่ยอยู่ที่ 28 ล้านคน/ปี ด้วยแผน 10 ปี แบ่งพัฒนา 2 ระยะ ระยะที่ 1 (2561-2565) วงเงิน 27,248 ล้านบาท ปรับปรุง 17 สนามบิน ได้เก่ 1.ภาคเหนือ 2,529 ล้านบาท ที่ จ.ลำปาง, แพร่, แม่สอด จ.ตาก 2.ภาคอีสาน 4,692 ล้านบาท ที่ จ.เลย, สกลนคร, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด, ขอนแก่น, บุรีรัมย์ และ 3.ภาคใต้ 20,027 ล้านบาท ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, กระบี่, ตรัง, นราธิวาส และเบตง จ.ยะลา และระยะที่ 2 (2566-2570) วงเงิน 7,259 ล้านบาท ปรับปรุง 8 สนามบิน ได้แก่ 1.ภาคเหนือ 732 ล้านบาท ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.แพร่ 2.ภาคอีสาน 5,158 ล้านบาท ที่ จ.สกลนคร, เลย, อุดรธานี, อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด และ 3.ภาคใต้ 1,369 ล้านบาท ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช "ตั้งเป้าในปี 2580 จะรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคน/ปี และเที่ยวบิน 55,000 เที่ยวบิน/วัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 อยู่ที่ 19.5 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 21,480 เที่ยวบิน/วัน" นอกจากนี้ยังศึกษาสร้างสนามบินสตูลจากเดิมที่มีอยู่แล้วใน อ.เมืองสตูล แต่จะขยายและเปิดบริการการบินเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลฝั่งอันดามัน-เกาะหลีเป๊ะ และยังเป็นอุทยานธรณีโลก พร้อมกับให้ศึกษาความเป็นไปได้ก่อสร้างสนามบินจังหวัดพัทลุง บริเวณ ต.ควนมะพร้าว อ.เมืองพัทลุง พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง เนื้อที่ 1,400 ไร่ และแปลงใกล้เคียง รวมเบ็ดเสร็จ 1,964 ไร่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านธรรมชาติ ปัจจุบันกำลังขยายสนามบินเดิมให้รองรับผู้โดยสารและเครื่องบินลำใหญ่ได้มากขึ้น เช่น กระบี่ มีพื้นที่ 2,000 ไร่ วงเงิน 2,923 ล้านบาท ปรับปรุง 2 อาคาร ผู้โดยสารเดิม และสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ลานจอดอากาศยาน และที่จอดรถ จะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค. 2565 ทั้ง 3 อาคาร จะมีพื้นที่ 26,200 ตร.ม. รับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคน/ปี รับเครื่องบิน 737 ได้ 30 ลำ ในเวลาเดียวกัน เร่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบิน ขอนแก่น 1,113 ไร่ วงเงิน 2,004 ล้านบาท จะเสร็จในเดือน ก.พ. 2564 จะทำให้มีพื้นที่เพิ่มจากเดิม 16,500 ตร.ม. เป็น 44,500 ตร.ม. รับผู้โดยสารจากเดิม 1,000 คน/ชั่วโมง เป็น 2,000 คน/ชั่วโมง หรือ 5 ล้านคน/ปี อีกทั้งปัจจุบันเร่งปรับปรุงและขยายอาคารสนามบินเดิมหลายแห่ง นอกจากกระบี่และขอนแก่นยังมีสนามบินนครพนม สกลนคร บุรีรัมย์ และกำลังเริ่มก่อสร้างที่สนามบินนครศรีธรรมราช 1,800 ล้านบาท และสนามบินตรัง 2,000 ล้านบาท จะเปิดบริการปี 2565 ในปี 2563 ของบประมาณลงทุนโครงการใหม่ เช่น ปรับปรุงอาคารที่พัก ผู้โดยสารสนามบินร้อยเอ็ด, ขยายอาคารที่พักผู้โดยสารส่วนระหว่างประเทศ สนามบินสุราษฎร์ธานี, งานขยายลานจอดอากาศยานที่สนามบินสุราษฎร์ธานีและขอนแก่น ออกแบบอาคารผู้โดยสารสนามบินบุรีรัมย์ ส่วนสนามบินที่จะสร้างบนพื้นที่ใหม่ที่ศึกษาแล้วเสร็จและเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว มีสนามบินมุกดาหารจะรองรับ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งพื้นที่เหมาะสมจะก่อสร้างอยู่ที่ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง ประมาณ 2,812.5 ไร่ ห่างจากตัวเมืองมุกดาหาร 15 กม. จะใช้เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นการลงทุนที่ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการขับเศรษฐเศรษฐกิจประเทศ แต่ก็ต้องจับตามองกับวงเงินงบประมาณนับหมื่นล้านบาทที่ลงทุน เพราะเงินทั้งหมดเป็นภาษีของประชาชน....ไม่ควรจะตกหล่นไปไหน!!!