เขื่อนป่าสัก ปริมาณน้ำน้อยวิกฤติ เหลือน้ำใช้การได้ 256 ล้านลบ.ม. ยังต้องระบายน้ำเพื่อกินใช้ รักษาระบบนิเวศ วันละ 4 ล้านลบ.ม.จนถึงฤดูฝนปีหน้า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ว่า ปัจจุบัน (19 ธ.ค. 62) มีปริมาณน้ำใช้การได้ 256 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยมาก ในขณะที่ยังต้องระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ให้กับพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน วันละประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานการณ์น้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านทางประตูระบายน้ำมโนรมย์ จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 25 ลบ.ม./วินาที และที่ประตูระบายน้ำมหาราชมีน้ำผ่านประมาณ 1 ลบ.ม./วินาที เพื่อใช้ในการผลิตประปาและรักษาเสถียรภาพของคลองส่งน้ำเท่านั้น   สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการผลิตประปาในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ทางจังหวัดสระบุรี  ได้ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินและต่อท่อสูบน้ำให้ต่ำลงจากระดับพื้นคลอง พร้อมกับทำการขุดร่องชักน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสักและกำจัดสิ่งกีดขวางออก ส่วนที่ประตูระบายน้ำมโนรมย์ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำ   เพิ่มปริมาณน้ำคลองชัยนาท-ป่าสัก เพื่อใช้เฉพาะการผลิตประปาสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดเส้นคลอง ทั้งนี้ ได้สั่งการทุกพื้นที่ให้สร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำน้อย นั้น โครงการชลประทานในทุกพื้นที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ ส่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้พี่น้องเกษตรกร และประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค ในพื้นที่ตำบลหนองโน ตำบลเขาดิน ตำบลโคกสะอาด ตำบลโคกตูม  และตำบลโพนทอง จังหวัดลพบุรี ส่วนที่จังหวัดพะเยา โครงการชลประทานพะเยา พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำ และเกษตรกรในเขตพื้นที่บ้านสันสลี ตำบลเจริญ อำเภอแม่ใจ ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และขอความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ลดการทำนาปรัง พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด ณ อาคารอเนกประสงค์ กลุ่มอนุรักษ์ควายไทย บ้านสันสลี ตำบลเจริญ  อำเภอแม่ใจ “ขอให้ประชาชนทุกคนตระหนักถึงสถานการณ์น้ำน้อยที่เกิดขึ้น เนื่องจากช่วงฤดูฝนผ่านมาปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆน้อยตามไปด้วย  จึงต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ ตลอดช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย”นายทวีศักดิ์ กล่าว