ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเกิดการชุมนุมประท้วง กล่าวหาว่า รัฐบาลของประธานาธิบดี อีโว โมราเลส โกงเลือกตั้งในสมัยที่ 4 ของท่าน ทั้งๆที่ยังไม่มีผลพิสูจน์ และยังไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ที่มีองค์กรกลางที่ดูแลการเลือกตั้งเป็นผู้กำกับ แต่คำกล่าวหามาจาก OAS ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามการเลือกตั้งในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา และได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐฯ OAS ซึ่งเคยมีประวัติในการกล่าวหารัฐบาลเฮติมาแล้วและเป็นชนวนให้ทหารก่อการรัฐประหารในระยะต่อมา จึงมีนัยแอบแฝง อย่างไรก็ตามเมื่อมีคนออกมาประท้วงเป็นจำนวนมาก และเกิดลุกลามรุนแรง มีการวางเพลิงในที่ต่างๆ และข้อเสนอก็เปลี่ยนไปจากการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งโมราเลสก็ตกลงยอมตาม แต่กลุ่มผู้ประท้วงก็ยังคงก่อความรุนแรงและคุกคามไปถึงความปลอดภัยของคณะผู้บริหารรวมทั้งผู้นำในฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนการเรียกร้องได้แปรเปลี่ยนไปให้โมราเลสลาออก สุดท้ายเพื่อให้บ้านเมืองสงบ และเห็นแก่ความปลอดภัยของคณะผู้บริหารและผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ โมราเลสก็ประกาศลาออกและลี้ภัยไปอยู่เม็กซิโก พร้อมกับคณะผู้บริหารและผุ้นำฝ่ายนิติบัญญัติ และพลันที่โมราเลสลี้ภัยนางจีนไนน์ อาเนส (Jeanine Áñez) ผู้นำฝ่ายค้านก็ประกาศตั้งตัวเองรักษาการประธานาธิบดี(คล้ายกับเรื่องที่เกิดที่เวเนซูเอลลา) และประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยการสนับสนุนของกองทัพ (คล้ายกับอีกหลายประเทศ) ทว่าเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล ที่สนับสนุนโดยกองทัพ ประชาชนจำนวนมากก็ออกมาประท้วงไม่ยอมรับในจำนวนนี้ก็มีชนเผ่าพื้นเมืองเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เพราะชนกลุ่มนี้เคยได้รับการช่วยเหลือจากประธานาธิบดีโมราเลส ซึ่งก็มีเชื้อสายชนเผ่าพื้นเมืองให้รอดพ้นจากการถูกกดขี่จากนายทุนจนมีภาวะที่เรียกว่าจน เจ็บ ไร้การศึกษา มาสู่สภาพที่พัฒนามากขึ้นในช่วง 14 ปีที่โมราเลสมีอำนาจ นอกจากนี้ชนพื้นเมืองที่เคยต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมักจะถูกเข่นฆ่า ล้มหายตายจาก โดยไม่มีการติดตามจับกุม หรือเรียกว่าผู้ก่อการและผู้ลงมือสังหารมักจะลอยนวลไปเฉยๆ เป็นความลับดำมืดมาแล้ว ดังนั้นเมื่อโมราเลสถูกโค่นโดยม็อบที่สนับสนุนโดยกองทัพและกำลังตำรวจ ซึ่งก็มีโยงใยไปถึงคุณซี.. และรัฐบาลสหรัฐฯ ประชาชนฝ่ายสนับสนุนโมราเลสจึงออกมาประท้วงรัฐบาลหุ่นของโบลิเวีย แต่พอมวลชนกลุ่มนี้ที่มีจำนวนมากออกมาประท้วงกลับถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากทั้งทหารและตำรวจ ผิดกับชุดที่ออกมาประท้วงขับไล่โมราเลส ขนาดมีการเผาบ้านเผาเมือง ฝ่ายทหารและตำรวจก็ยังคงมีทีท่าวางเฉย ความรุนแรงทางการเมืองและความสับสนวุ่นวายถึงขั้นจลาจล ยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อฝ่ายทหารเปิดฉากยิงผู้ประท้วง ซึ่งปราศจากอาวุธ และมีแต่ประชาชนคนเดินดิน ที่ทำการปิดล้อมโรงกลั่นน้ำมันในเมืองเอล อัลโต เพื่อเป็นการประท้วงและขับไล่รัฐบาลรักษาการที่แต่งตั้งตัวเอง โดยไม่มีฐานะทางกฎหมายรองรับ และการประท้วงนี้ก็มีการขยายตัวออกไปยังที่ต่างๆ โดยส่วนใหญ่ก็คือ กลุ่มที่สนับสนุนประธานาธิบดีโมราเลสที่มาจากการเลือกตั้ง กระบวนการที่ก่อให้เกิดความรุนแรงนี้มักจะเกิดจากผลของการทำการยึดอำนาจของคณะทหาร ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนชาติ และชนชั้นปกครองที่มีผลประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งนั่นคือการละทิ้งประชาชนส่วนใหญ่ปล่อยให้ยากจน และกอบโกยผลประโยชน์มากระจุกตัวกับกลุ่มตน รูปแบบเหล่านี้มักจะเกิดโดยทั่วไป ด้วยการทำลายระบอบประชาธิปไตย และทำลายความน่าเชื่อถือในการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำเพื่อประชาชนเพียงใด อย่างรัฐบาลของโมราเลส ซึ่งนอกจากจะทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่แล้วยังไม่ยอมก้มหัวเดินตามก้นรัฐบาลเมกา อย่างเช่นการสนับสนุนรัฐบาลมาดูโรและเวเนซูเอลลา สวนทางกับเมกาเป็นต้น ที่สำคัญโบลิเวียมีสินแร่ลิเธียมเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในสามประเทศที่มีแร่นี้เป็นจำนวนมาก คือ โบลิเวีย ชิลี และอาเจนตินา นักธุรกิจในสหรัฐฯจึงหมายปองที่จะเข้ามาแสวงประโยชน์ แต่การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศประชาธิปไตยนั้นทำได้ยาก เพราะประชาชนจะคอยตรวจสอบ และต่อต้านหากรัฐบาลไม่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และนำเอารายได้มาสนับสนุนโครงการต่างๆเพื่อคนยากจน เช่น การศึกษาที่มีคุณภาพ การสาธารณสุขเพื่อมวลชนและสวัสดิภาพของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นวิธีที่ง่ายของนายทุนต่างชาติ ก็คือ ล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการสานสัมพันธ์กับคณะทหารที่ตนสนับสนุนให้ทำรัฐประหาร ซึ่งมีตัวอย่างมานับไม่ถ้วนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศลาติน อเมริกัน เช่น การล้มรัฐบาลอาเยนเดแห่งชิลีเพื่อเข้ายึดสัมปทานเหมืองทองแดง อันเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมโทรศัพท์ของบริษัท AT&T ที่เป็นเจ้าพ่อในวงการของสหรัฐฯในยุคนั้น ดังนั้นประชาชนชาวโบลิเวีย ซึ่งได้เคยลิ้มรสของการกดขี่มาแล้ว ในยุคก่อนโมราเลสจึงลุกขึ้นต่อสู้แม้จะมีมือเปล่า แต่ผลก็คือถูกเข่นฆ่า ทำร้าย ทำลาย เป็นจำนวนมาก ในช่วงครึ่งเดือนหลังของพฤศจิกายน แกนนำผู้สนับสนุนโมราเลส ถูกฆ่าตายถึง 5 คน โดยฝีมือตำรวจ ก่อนหน้านี้นางอาเนส รักษาการประธานาธิบดี ได้ออกคำสั่งอนุญาตให้ทหารและตำรวจ ทำการตอบโต้ทุกมาตรการ และจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เพื่อรักษาระเบียบ และความมั่นคง แต่ราคาของการอ้าง “ระเบียบและความมั่นคง” ตามกฎหมาย ก็คือใบอนุญาตให้ฆ่าคน และมันจะนำไปสู่การกดขี่ ขูดรีด ของคณะผู้ปกครองและกลุ่มนายทุนในที่สุด อนึ่งเมื่อมีการขยายผลในการเข่นฆ่า โดยการคุ้มครองด้วยกฎหมายได้ขยายวงออกไป กลุ่มที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารเพื่อล้มโมราเลสก็เริ่มคัดค้านและวิพากษ์คณะทหาร แต่กลุ่มที่เคยสนับสนุนการทำรัฐประหาร ในนามการรักษาซึ่งระเบียบและความมั่นคง ที่ได้หันกลับมาผิดหวังกับการยึดอำนาจก็ไม่อาจทำอะไรได้ เพราะมันสายไปเสียแล้ว เมื่อมีการยึดอำนาจเบ็ดเสร็จ โมราเลสซึ่งในปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในเม็กซิโก เพื่อความปลอดภัยได้แถลงโจมตี ผู้นำฝ่ายค้าน คาลอส เมซ่า และหลุยส์ เฟอร์นานโด ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสถานการณ์ให้เกิดการรัฐประหารและด้วยการร่วมมือกับ The Organization of American State (OAS) และสื่อที่รับจ้างกระแสหลัก อย่างไรก็ตามกระแสขวาจัดที่กำลังมาแรงในลาตินอเมริกา เช่นในบราซิล และโคลัมเบีย โดยการสนับสนุนของสหรัฐฯ ก็เป็นอีกตัวอย่างของการที่รัฐบาลทรัมป์พยายามทำลายระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมวลมหาประชาชน (ขอยืมใช้หน่อย) ย่อมทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ และนายทุนข้ามชาติเสียประโยชน์ แต่รัฐบาลเผด็จการหรือเผด็จการซ่อนรูปย่อมอยู่ไม่ได้นานเพราะเมื่อประชาชนตื่นรู้ ก็จะลุกฮือขึ้นมาล้มล้าง และกองทัพก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ "โดยเฉพาะกำลังหลักจากกรรมกรและชาวไร่ชาวนา"